อยู่กับโรคสะเก็ดเงิน

0
2157
สะเก็ดเงิน

โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและสภาพจิตใจของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก เนื่องจากลักษณะของผื่นที่เด่นชัดและสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกส่วนของร่างกายทำให้ผู้ป่วยขาดความมั่นใจ เกรงว่าคนรอบข้างจะรังเกียจหรือไม่กล้าเข้าใกล้เพราะกลัวจะเป็นโรคติดต่อ ทั้งที่ความจริงแล้วโรคสะเก็ดเงินไม่ใช่โรคติดต่อ ถึงแม้จะเป็นโรคที่ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ก็มีแนวทางการดูแลตัวเองที่ช่วยให้โรคมีระยะสงบที่นานขึ้น ลักษณะผื่นดีขึ้น ผู้ป่วยสามารถอยู่กับโรคได้อย่างมีความสุขมากขึ้น

.ดร.นพ.ประวิตร อัศวานนท์ หัวหน้าสาขาวิชาตจวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงแนวทางการดูแลตัวเองของผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินไว้ว่า อันดับแรกผู้ป่วยต้องเข้าใจธรรมชาติของโรคก่อนว่าสามารถรักษาให้หายได้ แต่ไม่หายขาด อาจมีช่วงเวลาที่ผื่นดีขึ้นหรือหายไป แต่สุดท้ายผื่นอาจจะกลับมาได้อีกตามลักษณะของโรคเรื้อรัง อย่างไรก็ตามพบว่าหากผู้ป่วยมีการดูแลตัวเองที่ดีพอ โรคมักมีระยะสงบที่ยาวนานขึ้น ซึ่งการดูแลตัวเองที่ดีพอ ได้แก่ การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ในปริมาณที่เหมาะสม ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วน ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และจัดการความเครียดให้อยู่ในระดับที่รับมือได้ ถ้าผู้ป่วยปฏิบัติได้ตามนี้นอกจากจะส่งผลดีต่อโรคสะเก็ดเงินแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคร่วมอื่น ๆ ได้อีกด้วย อาทิ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในเลือดผิดปกติ เป็นต้น

สำหรับการใช้ชีวิตประจำวัน พบว่าผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินหลายคนมักหลีกเลี่ยงการเข้าสังคม ในส่วนนี้ ศ.ดร.นพ.ประวิตร ให้ความเห็นว่า อยากให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตตามปกติ พร้อมทั้งแนะนำให้ บอกเล่าอาการป่วยของตนให้คนรอบข้างรับรู้ อย่างน้อยก็บอกคนใกล้ชิด การที่ได้บอกเล่าออกไปจะช่วยให้ผู้ป่วยผ่อนคลายขึ้น ความรู้สึกกดดันที่เกิดจากความคิดแง่ลบของตัวเองลดน้อยลง ส่งผลดีต่อการรักษา อย่างไรก็ตามผู้ป่วยบางรายอาจมีข้อจำกัดในบางเรื่องเกี่ยวกับการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสภาวะร่างกายในขณะนั้น เช่น
ผู้ป่วยที่มีอาการปวดข้อสาเหตุจากโรคสะเก็ดเงินควรงดวิ่งเพราะจะยิ่งทำให้ปวดข้อมากขึ้น อาจเปลี่ยนมาใช้วิธีเดินแทนการวิ่ง เป็นต้น

อีกหนึ่งประเด็นที่สร้างความทุกข์ใจให้กับผู้ป่วยหลายคนก็คือ ความรู้สึกที่ว่ามีเพียงตนเองเท่านั้นที่ป่วยด้วยโรคนี้ ซึ่งความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะมีคนอีกจำนวนไม่น้อยในสังคมที่เป็นโรคสะเก็ดเงิน และหนึ่งในบุคคลที่ออกมาเปิดเผยต่อสาธารณชนคือ คุณกรณ์ จาติกวณิช โดยคุณกรณ์ได้บอกเล่าประสบการณ์พร้อมทั้งวิธีการดูแลตนเองจากโรคสะเก็ดเงินไว้อย่างน่าสนใจว่า

“กว่าครึ่งชีวิตที่อยู่กับโรคนี้มาทำให้ได้ศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับโรคสะเก็ดเงินมามากพอสมควร สิ่งสำคัญคือ การ
พักผ่อนให้เพียงพอ นอนให้เพียงพอ ควบคุมความเครียด สิ่งหนึ่งที่ผมทำเป็นประจำสม่ำเสมอคือ การผ่อนคลายด้วยการออกกำลังกายให้ได้เหงื่อ เมื่อรู้สึกว่าผิวเริ่มตึง ๆ หรือเริ่มเครียดจะรีบไปออกกำลังกาย พอเหงื่อออกแล้วจะรู้สึกดีขึ้น ส่วนวิธีการอื่น ๆ ก็เช่น ไม่รับประทานอาหารย่อยยาก เช่น เนื้อวัว หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ พยายามหาเวลาพักผ่อนไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีต่อโรคสะเก็ดเงิน เช่น ชายทะเลที่มีแสงแดด และอย่างที่ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินทราบกันดีคือ โรคนี้มีผลกระทบต่อสภาพจิตใจมาก จึงอยากให้ทุกคนมีกำลังใจที่จะต่อสู้กับโรคนี้ต่อไป โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ คนที่เป็นต้องเข้าใจว่าไม่มีชีวิตใครที่สมบูรณ์แบบ การที่เราเป็นโรคนี้ก็เป็นสิ่งเตือนใจเราอย่างหนึ่งว่าชีวิตคนเราไม่ได้เพอร์เฟกต์เสมอไป นอกจากการดูแลตนเอง อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากคือครอบครัว ความเข้าใจที่ถูกต้องว่าโรคสะเก็ดเงินเป็นโรคไม่ติดต่อเป็นสิ่งสำคัญ การให้กำลังใจและอยู่เคียงข้างจะช่วยให้ผู้ที่เป็นโรคสะเก็ดเงินมีกำลังใจที่ดีในการที่จะต่อสู้กับโรคในช่วงเวลาต่าง ๆ มากขึ้น ผมเข้าใจว่าโรคนี้เป็นโรคที่มีผลกระทบต่อชีวิตหลายอย่าง แต่ก็อยากจะบอกว่ามีเพื่อนที่เป็นโรคนี้อยู่เยอะที่กำลังต่อสู้กับโรคนี้ไปด้วยกันกับเรา อยากให้พยายามทำใจให้สบาย ไม่เครียด เพราะยิ่งเครียดจะยิ่งทำให้โรคนี้แย่ลง”

ปัจจุบันมีการพัฒนาเรื่องยารักษาโรคสะเก็ดเงินอย่างต่อเนื่อง มีการผลิตยาใหม่ ๆ ออกมาหลายตัว และด้วยราคายาที่มีแนวโน้มปรับลดลงจึงมีความเป็นไปได้ว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่จะสามารถเข้าถึงยาได้มากขึ้นในอนาคตอันใกล้ ที่สำคัญคือ การดูแลสุขภาพโดยรวมให้ดีตามคำแนะนำที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น นอกจากนี้อยากให้ทุกคนเข้าใจว่า โรคสะเก็ดเงินเป็นเพียงโรคผิวหนังเรื้อรังโรคหนึ่ง ไม่ใช่โรคติดต่อ เราสามารถสัมผัสและอยู่ร่วมกับผู้ป่วยได้ตามปกติ อย่าปล่อยให้ความไม่รู้หรือความเข้าใจผิด ๆ มาทำลายความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน ขอเพียงมีความเข้าใจ คอยให้กำลังใจ เพียงเท่านี้ก็ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถรับมือและอยู่กับโรคสะเก็ดเงินได้อย่างมีความสุขขึ้น

 

Resource: HealthToday Magazine, No.205 May 2018