ไข้กาฬหลังแอ่น

นพ.คมน์สิทธิ์ เดชะรินทร์ อายุรแพทย์สมองและระบบประสาท

0
1798

ไข้กาฬหลังแอ่น เป็นโรคติดเชื้อที่มีการติดต่อผ่านระบบทางเดินหายใจ มักมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อเรียกว่า Neisseria meningitidis ซึ่งสามารถพบเป็นเชื้อโรคประจำถิ่นอยู่ในบริเวณลำคอของมนุษย์โดยไม่ก่อให้เกิดโรคในลักษณะที่เรียกว่าพาหะ โดยกลุ่มเชื้อที่ทำให้เกิดโรคได้บ่อย คือ Group B และ C สำหรับในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคไข้กาฬหลังแอ่นกว่าปีละ 50 ราย โดยพบโรคนี้ได้ตลอดทั้งปีไม่ขึ้นกับฤดูกาล และพบได้ในทุกภาคของประเทศ

โรคไข้กาฬหลังแอ่นมีระยะฟักตัวนานประมาณ 1 สัปดาห์ สามารถพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว ผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคสูงกว่า โดยกระบวนการเกิดโรค คือ เชื้อที่มีอยู่ในลำคอจะเพิ่มจำนวนแล้วเข้าสู่กระแสเลือด (Meningococcemia) ไปยังเยื่อหุ้มสมอง ทำให้เยื่อหุ้มสมองเกิดการอักเสบ (Meningitis)

การติดต่อ

การติดเชื้อจะเกิดเฉพาะจากคนสู่คนโดยการหายใจเอาเชื้อแบคทีเรียที่กระจายอยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย หรือของผู้ที่เป็นพาหะ หรือจากการสัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ที่ป่วยเป็นโรคแล้วนำมาสัมผัสกับเยื่อบุจมูก ตา หรือปาก ดังนั้นผู้ที่ต้องดูแลหรืออาศัยอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้กาฬหลังแอ่นจะมีโอกาสติดเชื้อจากผู้ป่วยสูง

อาการ

อาการเริ่มแรกจะคล้ายไข้หวัด คือ มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ และเริ่มมีอาการซึมลง ในกรณีที่เชื้อเข้าสู่กระแสเลือดแล้วอาจเกิดผื่นเลือดออกตามผิวหนังหรือทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการของภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดที่รุนแรง (Fulminant meningococcemia) โดยจะพบภาวะเลือดออกในช่องท้องและต่อมหมวกไต รวมทั้งเกิดลิ่มเลือดทั่วร่างกายจนเกิดอาการช็อกและเสียชีวิตในที่สุด

การวินิจฉัยโรค

แพทย์จะซักประวติและตรวจร่างกายเบื้องต้น หากผู้ป่วยมีประวัติอยู่ใกล้ชิดหรือสัมผัสกับผู้ที่ป่วยเป็นโรคไข้กาฬหลังแอ่นมาก่อน หรือมีอาการไข้ ซึม ร่วมกับมีผื่นเลือดออกตามผิวหนัง แพทย์อาจสันนิษฐานว่าน่าจะป่วยเป็นโรคไข้กาฬหลังแอ่น อาจทำการตรวจเลือดและส่งตรวจน้ำไขสันหลังเพิ่มเติม โดยการใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องหาเชื้อแบคทีเรียก่อโรค ร่วมกับทำการเพาะเชื้อหรือใช้การตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อโดยวิธีที่เรียกว่า PCR (Polymerase Chain Reaction) จากเลือด น้ำไขสันหลัง หรืออาจตัดชิ้นเนื้อที่ผิวหนังบริเวณที่เกิดผื่นนำไปเพาะเชื้อ

การรักษาโรคไข้กาฬหลังแอ่น

  • ผู้ป่วยจะถูกรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาลและแยกห้องเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น
  • แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย Neisseria meningitidis เช่น ยาในกลุ่ม Cephalosporin หรือ Penicillin G เป็นต้น ร่วมกับการให้ยาลดไข้ ให้สารน้ำ หรือรักษาภาวะช็อกในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง

วิธีการป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น

  • หากมีบุคคลใกล้ชิดได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไข้กาฬหลังแอ่น ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดหรือสัมผัสกับผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อรับยาสำหรับป้องกันการติดเชื้อ Neisseria meningitidis เช่น Ofloxacin, Ciprofloxacin หรือ Azithromycin
  • หากในพื้นที่พบผู้ป่วยไข้กาฬหลังแอ่นมากกว่า 3 คนขึ้นไปในช่วงเวลา 3 เดือน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อได้รับวัคซีนหรือยาปฏิชีวนะสำหรับป้องกันตามคำแนะนำของแพทย์
  • บุคคลทั่วไปให้ระวังการรับเชื้อโดยการหลีกเลี่ยงไม่เข้าไปอยู่ในที่แออัดหรือมีอากาศถ่ายเทไม่สะดวก และควรสวมหน้ากากอนามัยป้องกันการสัมผัสกับละอองน้ำมูก น้ำลายจากผู้อื่น ร่วมกับล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอโดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหาร

วัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น

  • วัคซีนไข้กาฬหลังแอ่นสามารถป้องกันเชื้อ Neisseria meningitidis ชนิด A, C, Y และ W135 แต่ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อชนิดย่อย B ที่ก่อโรคได้บ่อย
  • ผู้ที่ควรได้รับวัคซีน
  • บุคคลที่ถูกตัดม้ามหรือมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง เพราะเมื่อติดเชื้อไข้กาฬหลังแอ่นจะมีโอกาสเป็นรุนแรงได้มากกว่าคนทั่วไป
  • ผู้ที่จะเดินทางไปยังประเทศในทวีปแอฟริกาเนื่องจากมีอุบัติการณ์การระบาดของเชื้อไข้กาฬหลังแอ่นสูง
  • ผู้ที่จะต้องเดินทางไปทำพิธีฮัจจ์ที่นครเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย

เมื่อใดควรไปพบแพทย์

  • มีไข้และพบผื่นที่มีลักษณะเป็นจุดเลือดออกบริเวณผิวหนัง
  • มีคนใกล้ชิดป่วยเป็นโรคไข้กาฬหลังแอ่น

ถึงแม้ว่าโรคไข้กาฬหลังแอ่นจะติดต่อได้ง่ายและมีความรุนแรงของโรคสูง แต่การระมัดระวังตัวให้ห่างจากผู้ป่วยรวมทั้งการดูแลสุขอนามัยของตนเองอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้เราปลอดภัยจากการรับเชื้อและไม่ป่วยเป็นโรคได้

Resource: HealthToday Magazine, No.196 August 2017