ในช่วงที่ภาวะอากาศเต็มไปด้วยฝุ่นจิ๋วเช่นนี้ หลายคนคงมีอาการไอบ้างแหละ ทั้งนี้เนื่องจากการไอเป็นกลไกการกำจัดสิ่งแปลกปลอมออกจากทางเดินหายใจอย่างหนึ่ง ซึ่งสิ่งแปลกปลอมที่ว่านี้เหมารวมไปถึงเชื้อโรคและเสมหะต่าง ๆ ด้วยนะคะ หลังสิ่งแปลกปลอมถูกกำจัดออกไปหมด อาการไอก็จะหายไป แต่หากใครที่ไอติดต่อกันเป็นเดือน ๆ ต่อเนื่องนานเกิน 8 สัปดาห์ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและทำการรักษาให้ทันท่วงที เพราะการไอเรื้อรังเช่นนี้พบได้ถึงร้อยละ 10 – 20 ของจำนวนประชากร และเป็นการส่งสัญญาณเตือนถึงความผิดปกติของสุขภาพที่อาจบ่งชี้ถึงการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ โรคหอบหืด โรคกรดไหลย้อน หรือวัณโรคก็เป็นได้ ซึ่งส่วนใหญ่ 85 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่มีอาการไอเรื้อรังในคนที่แข็งแรงดีมาก่อนมักมีสาเหตุมาจากโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือไซนัสอักเสบแล้วมีน้ำมูกไหลลงคอ โรคหืด และโรคกรดไหลย้อน
การไอแม้ไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต แต่ก็สร้างความรำคาญ และรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยได้ไม่น้อย การปฏิบัติตัวขณะมีอาการที่ถูกต้องจะช่วยบรรเทาอาการ และทำให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้นได้
ปรับพฤติกรรมขณะมีอาการไอเรื้อรัง
- หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นการไอ การหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้ไอถือเป็นการป้องกันที่ต้นเหตุประการหนึ่ง เช่น ฝุ่น ควันพิษ ควันบุหรี่ สารเคมี หรือสัมผัสสารกระตุ้นที่ทำให้แพ้อื่น ๆ
- ทำร่างกายให้อบอุ่น อากาศที่เย็นทำให้หลอดลมตีบและระคายเคืองมากขึ้นได้ ดังนั้นควรทำร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอจะช่วยให้ไอน้อยลง เช่น ไม่อยู่ในที่ที่อากาศเย็นเกินไป หากจำเป็นต้องอยู่ในที่เย็นก็ควรห่มผ้า หรือสวมใส่เสื้อผ้า ผ้าพันคอเพิ่มความอบอุ่นแทน รวมถึงหลีกเลี่ยงการรับประทานของเย็น เช่น ไอศกรีม น้ำเย็น น้ำแข็ง เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้ระคายคอ อาหารทอด อาหารที่มีลักษณะกรอบหรือเป็นผง เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วมักกระตุ้นให้ไอเพิ่มขึ้น เพิ่มความเสี่ยงต่อการสำลักอาหาร และเสี่ยงต่อปอดติดเชื้อได้โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ดังนั้นขณะที่ไอเรื้อรังอยู่จึงควรเลือกอาหารที่อ่อนนุ่ม รสอ่อนแทน
- เสริมอาหารต้านการอักเสบและต้านอนุมูลอิสระ ผู้ที่ไอเรื้อรังมักมีการอักเสบของเยื่อบุหลอดลมร่วมด้วย ดังนั้นการรับประทานปลาขนาดประมาณ 1 ฝ่ามือ อย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือเมล็ดแฟลกซ์ (Flax seed) บดประมาณ 1 ช้อนโต๊ะต่อวัน จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับสารต้านการอักเสบอย่างโอเมก้า 3 ที่เพียงพอตามคำแนะนำของ Medicine in Collaboration with Health Canada และ The American Heart Association นอกจากนี้การเลือกรับประทานผักผลไม้ 5 สีก็จะช่วยให้ได้รับสารพฤกษเคมีที่มีฤทธิ์ในการต่อต้านอนุมูลอิสระ ลดการอักเสบ และทำให้อาการไอหายเร็วขึ้น เนื่องจากการทำงานของรงควัตถุที่แสดงสีสันในพืชผัก ยังไม่นับวิตามินที่มีฤทธิ์ต่อต้านอนุมูลอิสระอย่างวิตามินซี วิตามินเอ และวิตามินอีที่พบได้ในพืชผักที่เรากินเช่นกัน
- ซุปอุ่น ๆ ช่วยได้ งานวิจัยในสาขาแพทย์ทางเลือกหลายชิ้นยกให้ซุปอุ่น ๆ คือสุดยอดอาหารที่เหมาะที่สุดสำหรับการไอ โดยระบุว่า ส่วนผสมและอุณหภูมิที่อุ่นพอดีในซุปสามารถเสริมการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันและมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ จึงช่วยบรรเทาการระคายเคืองบริเวณลำคอ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของอาการไอแห้งได้ ผู้ที่ไอเรื้อรังอาจลองหาซุปผัก 5 สีไขมันต่ำ ผสมเมล็ดแฟลกซ์บด 1 ช้อนโต๊ะ รับประทานขณะอุ่นจะช่วยบรรเทาอาการไอเรื้อรังได้เป็นอย่างดี
- ดื่มน้ำมาก ๆ การดื่มน้ำช่วยขับเสมหะ และทำให้ชุ่มคอ ผู้ที่ไอมากควรดื่มน้ำ 1 แก้วทุก 2 ชั่วโมง แต่หากมีการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนด้วย เช่น ชา กาแฟ ควรปรับเพิ่มการดื่มน้ำอีก 1 ลิตร เพื่อชดเชยการเร่งขับน้ำผ่านปัสสาวะของคาเฟอีน
- ลดน้ำหนักหากคุณกำลังอ้วน ความอ้วนเป็นสาเหตุอย่างหนึ่งของกรดไหลย้อน ซึ่งภาวะกรดไหลย้อนนี้เองที่ให้เกิดอาการไอเรื้อรังได้ ดังนั้นการลดน้ำหนักจึงช่วยลดอาการไอเรื้อรังได้ งานวิจัยที่ศึกษาวิธีการรักษาไอเรื้อรังหลายชิ้นพบว่า การลดน้ำหนักช่วยให้อาการไอดีขึ้นอย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์ ทั้งในผู้ที่ไอจากกรดไหลย้อนและจากสาเหตุอื่น โดยผู้ที่ลดอาหารที่มีพลังงานสูงและไขมันสูงจะช่วยให้คะแนนความถี่ในการไอลดลงอย่างชัดเจน ดังนั้นหากผู้ที่ไอเรื้อรังเข้าข่ายอ้วน ควรรีบออกกำลังกาย ควบคุมอาหารโดยเน้นลดหวาน ลดมัน ก็จะช่วยให้น้ำหนักลด และอาการไอทุเลาลงได้ทันที
นอกจากการปรับพฤติกรรมทั้ง 7 ข้อเพื่อลดอาการไอของผู้ป่วยแล้ว ก็อย่าละเลยสุขอนามัยส่วนบุคคลด้วยนะคะ เพราะการไอ จาม สามารถแพร่เชื้อต่าง ๆ ผ่านละอองน้ำลายไปยังบุคคลอื่นได้ ดังนั้นควรใช้กระดาษทิชชูหรือผ้าปิดปากทุกครั้งที่ไอ แล้วหมั่นล้างมือสม่ำเสมอเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น
Resource: HealthToday Magazine, No.215 March 2019