ฝุ่นพิษ PM2.5 เป็นทุกข์ของแผ่นดิน

ผศ. นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ อดีตหัวหน้าสาขาวิชาอายุรศาสตร์หัวใจและหลอดเลือด ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

0
1853
ฝุ่นพิษ

ในปี พ.ศ. 2558 ชาวโลกพิการ-ตายจากมลพิษ 9 ล้านคน (4.2 ล้านคนจากมลพิษในอากาศ 2.9 ล้านคนจากมลพิษในบ้าน)1  พ.ศ. 2560 มลพิษในอากาศเป็นปัจจัยเสี่ยงสัมพันธ์กับการตายและภาระโรคอันดับที่ 9 ของชาวโลก ลดลง 9.4% ใน 10 ปีที่ผ่านมา2 และ เป็นอันดับที่ 7 ของคนไทย แต่เพิ่มขึ้น 3.5% ใน 10 ปีที่ผ่านมา3

โครงการรณรงค์ Breathelife2030 ขององค์การอนามัยโลก สหประชาชาติ เรียกมลพิษในอากาศว่า ฆาตกรที่มองไม่เห็น แต่อาจฆ่าคนได้ เป็นปัจจัยเกี่ยวข้องกับการตายจากโรคปอด 43% จากมะเร็งปอด 29% จากโรคหัวใจ 25% และจากอัมพาต 24%4

ในบรรดาสารที่อยู่ในมลพิษอากาศ PM2.5 เป็นฝุ่นพิษที่เป็นปัจจัยสัมพันธ์กับ การป่วย พิการ และเสียชีวิตของชาวโลกในปัจจุบันมากที่สุด PM2.5 เป็นฝุ่นจิ๋วในอากาศขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (เล็กว่าเส้นผมประมาณ 30 เท่า) หรือ เรียกว่า Particulate Matter 2.5 micron (PM2.5)

ทุก ๆ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบม. หรือ μg./m3) ของ PM2.5 ที่เพิ่มขึ้น (เฉลี่ยใน 2 วัน) สัมพันธ์กับการตายจากทุกสาเหตุรายวันที่เพิ่มขึ้น (ของชาวโลก 652 เมือง) 0.68%5  ปี พ.ศ. 2559 จากข้อมูล 185 ประเทศ พบว่า PM2.5 สัมพันธ์กับอายุสั้นลงเฉลี่ย 1.2 – 1.9 ปี ในประเทศเอเชียและอัฟริกาที่มีมลพิษในอากาศสูง6

ปี พ.ศ. 2558 จากข้อมูล 195 ประเทศ พบว่า PM2.5 ที่มากกว่า 2.4 มคก./ลบม. สัมพันธ์กับการเพิ่มโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน (หัวใจขาดเลือด) โรคหลอดเลือดสมอง (อัมพาต) ในกลุ่มอายุ 25 ปีขึ้นไป และเพิ่มการติดเชื้อปอดบวม มะเร็งปอด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ในทุกกลุ่มอายุ โดยโอกาสเสี่ยงดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามจำนวน PM2.5 ที่เพิ่มขึ้น7 และทุก ๆ ปีที่เพิ่มขึ้น8  นอกจากนี้ จากข้อมูล 15 การศึกษา พบว่า ค่าเฉลี่ย PM2.5 (2 วันติดกัน) ที่เพิ่มขึ้นทุก 10 มคก./ลบม. เพิ่มโอกาสหัวใจหยุดทำงาน (หยุดเต้น) นอกโรงพยาบาล 4% โดยเฉพาะถ้ามีก๊าชโอโซนในมลพิษเพิ่มขึ้นด้วย (เพิ่มอีก 2%)9  จากข้อมูล 80 การศึกษา พบว่าทุก 10 มคก./ลบม. PM2.5 ที่เพิ่มขึ้นในระยะยาว สัมพันธ์กับการเพิ่มอัมพาต 14%  ตายจากอัมพาต 15% สมองเสื่อม 16% ออทิสติก 68% โรคพาร์กินสัน 34%10

เหตุให้เกิด PM2.5 มลพิษในอากาศ มี 2 สาเหตุใหญ่ คือ

  1. มลพิษในอากาศที่มนุษย์สร้างขึ้นในบ้าน ในอาคาร เช่น ควันบุหรี่ เผาถ่านไม้ทำอาหาร จุดธูป เทียน ตะเกียงน้ำมันก๊าด เตาผิง ใช้เครื่องถ่ายเอกสาร เป็นต้น ดังนั้น คนที่อยู่ในบ้าน ในสถานศึกษา ในสำนักงาน เช่น เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ แม่บ้าน พ่อครัวแม่ครัว ผู้สูงอายุ นักเรียน นักศึกษา คนทำงานในอาคาร จึงเป็นผู้ที่เสี่ยงต่อโรคภัยจากมลพิษในอากาศดังกล่าว
  2. มลพิษในอากาศที่มนุษย์สร้างขึ้นนอกบ้าน นอกอาคาร หรือกลางแจ้ง เช่น ฝุ่นควันจากท่อไอเสียรถยนต์ จักรยานยนต์ เครื่องบิน ควันเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม หรือ ควันไฟจากเตาถ่านไม้ทำอาหารริมถนน เป็นต้น
    ดังนั้น กลุ่มเสี่ยง คือ ผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง บนท้องถนน เช่น คนงานก่อสร้าง คนทำความสะอาดถนน ตำรวจจราจร วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง-ส่งอาหาร คนขับรถเมล์ รถรับจ้าง เป็นต้น ผู้ที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมบางประเภท หรือ พ่อค้าแม่ค้าทำอาหารขายริมถนน โดยเฉพาะเวลากลางคืน เพราะกลางคืน อากาศเย็นลง มีความเข้มข้นมลพิษในอากาศสูงกว่าเวลากลางวัน

นอกจากนี้ ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด และ/หรือ เป็นโรคดังกล่าว และโรคมะเร็ง โรคปอด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังอยู่ ก็เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อมลพิษในอากาศและ PM2.5

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

ข้อมูลอ้างอิง

  1. Lancet 2018;391:462
  2. Lancet 2018;392:1923
  3. healthdata.org/thailand
  4. http://breathelife2030.org/news/infographic-library
  5. N Eng J Med 2019;381:705.
  6. Environ Sci Technol Lett 2018;5:546
  7. Lancet 2017;389:1907
  8. Am J Epidemiol 2017;186:961
  9. Int J Cardiol 2017;226:110
  10. Science of the Total Environment 2019;655:1240