กล้ามเนื้อกระตุกซ้ำ ๆ (Tics)

ผศ.ดร.นพ.ธรรมนาถ เจริญบุญ จิตแพทย์

0
5054
กล้ามเนื้อกระตุกซ้ำ ๆ

เคยมีเพื่อนที่เรามักเห็นว่าเขามีอาการแบบกระพริบตาถี่ ๆ คิ้วกระตุกซ้ำ ๆ มีกระตุกที่มุมปาก (เหมือนแยกเขี้ยว) หรือยักไหล่เองบ่อย ๆ ไหมครับ? เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยเห็นมาบ้าง ในอดีตเคยมีการเรียกอาการแบบนี้ว่า “อาการสันนิบาต” …ใช่แล้วครับ ฉบับนี้เราจะมาพูดถึงภาวะนี้กันครับว่า มันคือโรคอะไรและรักษาได้หรือไม่

โรค ‘Tics’ หรือที่ในภาษาไทยอาจเรียกว่า ‘อาการกระตุกซ้ำ ๆ ของกล้ามเนื้อ’ เป็นโรคความผิดปกติของการเคลื่อนไหวชนิดหนึ่ง โดยผู้ป่วยจะมีอาการกระตุกของกล้ามเนื้อขนาดเล็กบริเวณใบหน้า คอ หรือไหล่ โดยอาการที่พบได้บ่อยคือ กระพริบตา (หรือดูเหมือนขยิบตา) ยักคิ้ว สะบัดหัว แยกเขี้ยว (กระตุกที่มุมปาก)  ยักไหล่ สะบัดแขน  หรืออาจจะเป็นในรูปแบบการส่งเสียงบางอย่าง (เช่น ทำเสียงคล้ายสะอึก กระแอม หรือเป็นคำพูดสั้น ๆ) โดยอาการกระตุกของกล้ามเนื้อจะเป็นอย่างรวดเร็วในไม่กี่วินาที (เช่น เหมือนขยิบตา) และเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ ซึ่งอาการกระตุกจะเป็นโดยไม่รู้ตัวและไม่ได้ตั้งใจ โดยมักจะเป็นมากขึ้นเวลาที่มีความเครียด อาการกระตุกซ้ำ ๆ นี้ผู้ที่เป็นอาจจะพอสามารถควบคุมได้บ้าง คือ ถ้าตั้งใจอย่างมากที่จะบังคับไม่ให้กระตุก ก็อาจจะพอยับยั้งได้เป็นเวลาสั้น ๆ แต่พอเผลอก็จะเป็นอีก

พบได้บ่อยแค่ไหน?

อาการกระตุกซ้ำ ๆ นี้ ในเด็กและวัยรุ่นพบได้ประมาณ 1 ใน 1,000 คน เด็กผู้ชายพบได้บ่อยกว่าผู้หญิง อาการมักเริ่มเป็นในวัยเด็กตั้งแต่อายุ 4-6 ปี และเห็นชัดขึ้นเรื่อย ๆ โดยอาการมักเป็นเยอะที่สุดในช่วงอายุประมาณ 10-12 ปี หลังจากนั้นส่วนใหญ่อาการมักจะค่อย ๆ ดีขึ้น อย่างไรก็ตามผู้ป่วยจำนวนหนึ่งอาการจะไม่หายและเป็นต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ จนถึงวัยผู้ใหญ่

สำหรับสาเหตุของอาการกระตุกซ้ำ ๆ ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่จากหลักฐานในปัจจุบันพบว่า ‘พันธุกรรม’ (genetic) เป็นปัจจัยสำคัญของการเกิดโรค ส่วนความเครียดมักเป็นเหตุที่ทำให้อาการเป็นมากขึ้นหรืออาการกลับมาเป็นซ้ำ

การดำเนินโรค

คำถามที่พบบ่อยคือ “แล้วอาการจะหายไปไหมครับ/คะ?”

อาการกระตุกซ้ำ ๆ นี้ ในคนส่วนใหญ่อาการมักเป็นแบบเป็น ๆ หาย ๆ เช่น เวลาที่เครียดก็จะเป็นอยู่ช่วงหนึ่ง แต่พอไม่เครียด สบายใจดีก็ไม่ค่อยมีอาการอะไร ซึ่งแน่นอนว่าอาการระดับนี้มักไม่ได้รบกวนชีวิตมากนัก ผู้ที่มีอาการเล็กน้อยแบบนี้จึงมักไม่ได้มาพบแพทย์

ผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ส่วนใหญ่มักเป็นกลุ่มที่อาการเป็นต่อเนื่องเรื้อรังหลายเดือนถึงเป็นปี (เรียกว่า chronic tic) ซึ่งหากนับเฉพาะคนไข้กลุ่มนี้จะพบว่า เมื่อติดตามอาการไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่วัยเด็กจนไปถึงวัยผู้ใหญ่จะพบว่าโดยเฉลี่ยแล้วคนไข้ 1 ใน 3 อาการจะหายไป อีก 1 ใน 3 จะดีขึ้นแต่ยังมีอาการอยู่ และอีก 1 ใน 3 จะยังมีอาการเยอะเท่า ๆ เดิม

การรักษา

คำถามที่พบบ่อยคือ “จำเป็นต้องรักษาไหม?”

คำตอบของคำถามนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ ในเด็กที่มีอาการกระตุกซ้ำ ๆ ส่วนใหญ่อาการมักเป็นแบบเป็น ๆ หาย ๆ ไม่ได้เป็นต่อเนื่องหรือรุนแรง ซึ่งกลุ่มนี้อาจไม่จำเป็นต้องมีการรักษาเฉพาะอะไร (และในชีวิตจริงคนที่มีอาการไม่มากก็ไม่มาพบแพทย์อยู่แล้ว) และส่วนใหญ่เมื่อโตขึ้นอาการก็จะค่อย ๆ ดีขึ้นเอง

กลุ่มที่มารักษาจึงมักจะเป็นคนที่อาการเป็นเยอะและเรื้อรังจนมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน โดยผลกระทบของการมีอาการกระตุกซ้ำ ๆ ที่พบบ่อยได้แก่ ถูกเพื่อนล้อ มีคนทักซ้ำ ๆ เสียบุคลิกภาพ หรือในเด็กบางคนอาจมีผลทำให้การเรียนแย่ลงได้เพราะมีอาการกระตุกบ่อยจนเสียสมาธิ แต่เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ในปัจจุบันนี้มีการรักษาหลายอย่างที่ได้ผลค่อนข้างดี และสามารถลดอาการกระตุกได้ ซึ่งมีดังต่อไปนี้

  • การให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตัวโรค เนื่องจากพบว่าหลายครั้งผู้ปกครองมักจะดุ หรือบอกห้ามไม่ให้ทำ ซึ่งมักไม่ช่วยอะไร และอาจได้ผลตรงกันข้ามคือทำให้เด็กเครียดหรือกังวลมากขึ้น ส่งผลให้ยิ่งเป็นบ่อยขึ้น ดังนั้นจึงต้องเข้าใจว่าโรคกระตุกซ้ำ ๆ นี้ การกระตุกนั้นเกิดขึ้นเอง เป็นเอง ไม่ใช่เด็กแกล้งหรือตั้งใจทำ และการหยุดอาการมักทำได้แค่เพียงชั่วครู่ ดังนั้นการด่าหรือบังคับไม่ให้ทำจึงเป็นเรื่องที่ไม่เกิดประโยชน์อะไร
  • ลดความเครียด ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่าอาการกระตุกมักเกิดขึ้นบ่อยเมื่อมีภาวะเครียด ดังนั้นหากผู้ป่วยมีปัญหาความเครียดในชีวิตที่ชัดเจน การให้คำปรึกษา หรือสอนวิธีลดความเครียดจะสามารถช่วยให้อาการกระตุกเกิดน้อยลงได้
  • พฤติกรรมบำบัด มีการบำบัดหลายอย่างที่พบว่าช่วยลดอาการได้ เช่น habit reversal therapy ซึ่งแนวคิดหลักคือ หากรู้สึกว่าจะเกิดอาการก็ให้เพ่งความสนใจและไปทำพฤติกรรมอื่นแทน ทั้งนี้การที่จะใช้วิธีบำบัดแบบไหนอาจขึ้นอยู่กับแต่ละคน และความถนัดของแพทย์ผู้รักษา
  • การรักษาด้วยยา ปัจจุบันนี้มียาจำนวนมากให้เลือกใช้ในการลดอาการกระตุก โดยยาที่นิยมใช้ได้แก่ยา clonidine และยาในกลุ่มต้านอาการทางจิต (antipsychotics) ซึ่งมีประสิทธิภาพลดอาการได้ดีและมีผลข้างเคียงน้อย

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าภาวะกระตุกซ้ำ ๆ นี้ ในปัจจุบันสามารถรักษาได้ และมีวิธีรักษาที่หลากหลาย ดังนั้นหากใครมีอาการกระตุกที่เป็นเยอะจนรบกวนชีวิต ก็สามารถไปปรึกษาแพทย์ได้นะครับ ดีกว่าทนเก็บไว้ เพราะคิดว่าเป็นโรคที่รักษาไม่ได้

 

Resource: HealthToday Magazine, No.207 July 2018