บางแง่มุมเกี่ยวกับ ‘การุณยฆาต’ ในทัศนะของแพทย์และชาวพุทธ

นพ.ชวโรจน์ เกียรติกำพล อายุรแพทย์

0
2059
การุณยฆาต

ไม่นานมานี้มีข่าวดังที่เกี่ยวข้องกับทั้งวงการการแพทย์ ศาสนา และความเชื่อ หมอเองเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีหลายแง่มุมและความเห็นที่แตกต่างกันอยู่มากในสังคม จึงอยากขออนุญาตเสนอความคิดเห็นและทัศนคติผ่านมุมมองของอายุรแพทย์ชาวพุทธคนหนึ่งที่ต้องให้การรักษาผู้ป่วยระยะสุดท้ายและผู้ป่วยสูงอายุอยู่เสมอครับ

ก่อนถึงวันลาจาก

คุณปู่เดวิด กูดอล นักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลียวัย 104 ปี ได้ออกมาให้สัมภาษณ์นักข่าวหลายสำนักว่า

ผมสูญเสียความสามารถไปหลายอย่างมาได้ระยะหนึ่งแล้ว สายตาของผมแย่จนแทบมองอะไรไม่เห็นมาสองปี เรื่องนี้ทำให้ผมรู้สึกแย่มาก เพราะทำให้ผมช่วยเหลือตัวเองได้ลำบาก คนสูงวัยอย่างผมหรืออาจจะอายุน้อยกว่าผมก็ตามควรมีสิทธิที่จะเลือกว่าอยากจะอยู่หรือตายจากโลกนี้ไปเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ผมเชื่อในหลักการที่ว่ามนุษย์ต้องสามารถกำหนดชะตากรรมของเราเองได้ เมื่อถึงเวลาที่ควรจะไป เราก็ควรจะตัดสินใจเองได้ ในเมื่อผมทำที่บ้านไม่ได้ก็ต้องมาที่นี่

ที่นี่ในความหมายของท่านก็คือประเทศสวิสเซอร์แลนด์ครับ นับเป็นประเทศที่มีกฎหมายอนุญาตให้แพทย์ทำ
การุณยฆาตหรือการช่วยเหลือให้ถึงแก่ความตายโดยที่แพทย์ต้องไม่ได้ประโยชน์จากบริการนั้น

ไม่มีญาติคนไหนของผมมาบังคับให้เปลี่ยนใจ ทุกคนเข้าใจการตัดสินใจของผม คุณปู่บอกด้วยสีหน้านิ่งเฉย ไม่มีอาการเศร้าโศกหรือเสแสร้งแกล้งแสดงออกแต่อย่างไร

มีนักข่าวถามท่านว่า ท่านทำไมจึงอยากตายเสียแล้ว ไม่มีอะไรอยากทำต่อแล้วหรือในชีวิตนี้

ท่านตอบว่า มีมากมายเลยด้วยซ้ำ แต่ในเมื่อทำไม่ไหวก็ปล่อยให้มีเรื่องที่ยังไม่ได้ทำทิ้งไว้ในโลกบ้าง

วันลาจาก

คุณปู่จากไปแล้วเมื่อเวลา 12.30 น. เวลาที่เมืองบาเซล ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ด้วยการกดปุ่มฉีดสารบาร์บิทูเรท (barbiturate) ซึ่งมีฤทธิ์ในการกดระบบประสาทด้วยตัวเองเข้าสู่กระแสเลือด ท่ามกลางญาติสนิทและบทเพลงซิมโฟนีหมายเลข 9 ของเบโทเฟน (Beethoven) ที่ท่านชื่นชอบ ท่านได้ทำตามที่ต้องการ และยังได้ฝากคำถามที่สำคัญไว้ให้คนในสังคมปัจจุบันว่า คนเรามีสิทธิ์เลือกว่าต้องการจะเสียชีวิตได้แล้วหรือยัง

ปรากฏการณ์ การุณฆาต (euthanasia หรือ assisted dying) นี้เป็นข่าวไปทั่วโลก มีทั้งความเห็นสนับสนุนและคัดค้าน มีการตัดสินว่าถูกและผิดตามหลักการต่าง ๆ มากมาย ในที่นี้หมอขอแยกพิจารณาในสองประเด็นครับ

ประเด็นแรกคือเรื่อง สิทธิของผู้ป่วยและแพทย์ แน่นอนครับว่าคนทุกคนย่อมมีสิทธิในชีวิตของตนเองที่จะขอรับหรือไม่รับการบำบัดรักษาใด ๆ ตามคำประกาศสิทธิผู้ป่วยของแพทยสภาประเทศไทยเองก็เขียนรายละเอียดไว้เช่นนั้น การแพทย์อาจจะเข้ามาช่วยในแง่ของการให้ข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดในเรื่องต่าง ๆ อย่างครบถ้วน และประเมินให้แน่ชัดว่าคนผู้นั้นไม่ได้อยู่ในภาวะความเจ็บป่วยที่ทำให้สภาพจิตใจแปรปรวน ซึ่งอาจส่งผลทำให้การตัดสินใจในประเด็นต่างๆ เกิดการผิดพลาดได้ โดยต้องมั่นใจและเข้าใจตรงกันว่าผ่านการพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน และตั้งอยู่บนเหตุผลทางการแพทย์อย่างสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน ถึงอย่างนั้นแพทย์เองก็ไม่มีสิทธิ์กระทำการใด ๆ โดยตรงที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตของผู้อื่นอยู่ดีครับ (เราถูกสอนให้ first do no harm กันมาตั้งแต่สมัยฮิปโปเครติส ผู้เป็นบิดาทางการแพทย์) ซึ่งในกรณีของคุณปู่กูดอลนั้น ในทางปฏิบัติแล้วเราจะเห็นได้ว่าสุดท้ายแล้วคุณปู่ (คือผู้รับบริการ) ยังต้องเป็นคนฉีดสารเคมีนี้เข้าสู่ร่างกายของตัวเองอยู่ดี แพทย์เองเป็นเพียงผู้เตรียมสารเคมีไว้ให้เท่านั้น

ประเด็นต่อมาคือ ในแง่ของสังคมไทย ซึ่งเป็นสังคมชาวพุทธเป็นหลักจะตอบสนองต่อปรากฏการณ์เช่นนี้อย่างไรดี ในทางพระพุทธศาสนานั้นถือว่าการกระทำเช่นนี้ถือว่าเป็น บาปครับ คำว่าบาปที่แท้จริงนั้นเราสื่อถึงการกระทำใด ๆ ก็ตามที่เนื่องมาจากจิตใจที่ขุ่นมัว เศร้าหมอง ซึ่งมักจะส่งผลให้เกิดการกระทำในแง่ลบด้วย ตามปกติแล้วคนที่ตัดสินใจจะฆ่าตัวตายนั้นจะมีความรู้สึกที่ท่านเรียกว่าความไม่สบายใจ ความรู้สึกเช่นนี้มักเกิดจากความไม่พอใจ คับแค้นใจจากอะไรบางอย่าง ทำให้ตัดสินใจว่าจะฆ่าตัวตาย (ทั้งทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม) เจตนาที่จะฆ่าตัวตายนี้เองเป็นบาป เพราะเป็นเจตนาที่ออกไปในทางทำลาย ทำให้จิตใจคับข้อง ไม่สมบูรณ์ ขุ่นมัว ไม่ปลอดโปร่งผ่องใส

ในทางพระพุทธศาสนานั้นถือว่ามนุษย์เรามีโอกาสที่จะฝึกฝนพัฒนาตนถึงวาระสุดท้ายเลยทีเดียว เราจะเห็นตัวอย่างที่เขียนถึงพระสงฆ์ที่บรรลุธรรมถึงระดับพระอรหันต์ในวาระสุดท้ายของชีวิตอยู่หลาย ๆ เรื่อง ถึงขนาดมีคำในภาษาบาลีเฉพาะเรียกอริยบุคลเช่นนี้ว่า ชีวิตสมสีสี มีตัวอย่างหนึ่งที่คล้ายกรณีนี้คือ มีพระสงฆ์สมัยพุทธกาลรูปหนึ่งท่านอาพาธหนักมาก มีความทุกข์ทรมาน การตั้งใจปฏิบัติธรรมก็มีอุปสรรคมากมาย เลยตัดสินใจฆ่าตัวตาย ในขณะลงมีดทำร้ายตัวเองนั้นใจยังเป็นอกุศลจิตอยู่เพราะเต็มไปด้วยความคับแค้นใจ แต่พอกระทำการไปแล้วเกิดได้สติพิจารณาความไม่เที่ยงของชีวิตเป็นที่ตั้ง ก็กลับมองเห็นสัจธรรม หลุดพ้นเป็นพระอรหันต์ในเสี้ยววินาทีที่กำลังจะเสียชีวิตเลยก็มี เพราะฉะนั้นศาสนาพุทธจึงกล่าวว่าเรามีโอกาสถึงวินาทีสุดท้ายอยู่เสมอ

อย่างไรก็ตามในทางการแพทย์และพระพุทธศาสนานั้นกลับมีความเห็นคล้ายกันในกรณีที่ผู้ป่วยด้วยโรคที่มีความรุนแรงและอยู่ในระยะที่รักษาไม่หายจะมีความประสงค์ที่จะรับการดูแลรักษาแบบประคับประคองหรือ Palliative care ซึ่งโดยหลักการนั้นจะยกเว้นการบำบัดรักษาที่อาจจะสร้างความเจ็บปวดให้แก่ผู้ป่วย ซึ่งในทางศาสนานั้นเรียกว่า ช่วยให้ผู้ป่วยอยู่สภาวะที่เรียกว่า ตายดี ไม่หลงตาย คือช่วยให้ผู้ป่วยสามารถประคับประคองจิตใจให้มีความสุข ไม่เศร้าหมอง ไม่ขุ่นเคือง หรือกังวลใจ และมีสติตลอดเวลาในขณะที่กำลังใกล้จะเสียชีวิต ซึ่งสภาพจิตดวงสุดท้ายที่ดีนั้นถือว่าสำคัญที่สุดตามหลักศาสนา

ท้ายที่สุดนี้หมอคิดว่า หน้าที่ที่สำคัญของแพทย์คือการพยายามมอบองค์ความรู้ จัดหาข้อมูลทางการแพทย์ที่อาจจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาหรือประคับประคองชีวิตแก่ผู้ป่วยให้มากที่สุด รวมถึงควรมอบกำลังใจและแนะนำวิธีการดูแลที่ถูกต้องแก่ญาติมิตรผู้ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วย พยายามสร้างสรรค์การรักษาแบบประคับประคองที่มีประสิทธิภาพ เพื่อที่จะช่วยให้คนที่อยู่ในวัยชรามีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ มากกว่าการคิดเรื่องวิธีการการุณยฆาตแบบใหม่ ๆ หรือถกเถียงว่าจะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนให้ออกกฎหมายเกี่ยวกับการการุณยฆาต เรื่องหลังนี้นับว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และหมิ่นเหม่ต่อจริยธรรมทางการแพทย์อยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว ส่วนตัวผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุนั้นก็ควรพยายามนำหลักการของพระพุทธศาสนาที่ว่า คนเรามีโอกาสฝึกฝนตนเองจนถึงวาระสุดท้าย และพยายามใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งที่มีและเป็นให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ นี่ถึงจะเรียกได้ว่าเป็นการใช้ชีวิตสมบูรณ์แบบและมีคุณภาพอย่างแท้จริงครับ

 

Resource: HealthToday Magazine, No.207 July 2018