การรังแกในโรงเรียน

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์

0
4806
การแกล้งกันในโรงเรียน

มีรายงานที่ชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่าการรังแกและการกลั่นแกล้ง (bullying) ในโรงเรียนเป็นกระบวนการทางสังคมมากกว่าที่จะเป็นเรื่องส่วนตัวของนักเรียน จากสถิติที่รายงานล่าสุดเมื่อปี 2017 พบว่าร้อยละ 80 ของการรังแกและกลั่นแกล้งมีประจักษ์พยาน และร้อยละ 57 ของนักเรียนเคยเป็นประจักษ์พยานของการรังแกแต่ไม่ทำอะไร

ในทางจิตวิทยาพัฒนาการสำหรับเด็กประถม คืออายุ 7-12 ปี กลุ่มเพื่อนมีความสำคัญที่สุด มีความสำคัญมากกว่า
พ่อแม่ ตามทฤษฎีพัฒนาการของอิริค เฮช อิริคสัน (Erik H Erikson) เด็กประถมมีหน้าที่ทางจิตวิทยาคือไปโรงเรียนเพื่อรวมกลุ่มกัน เล่นด้วยกัน หรือทำงานด้วยกัน ทุกคนจะทดลองอะไรบางอย่าง ทดสอบอะไรบางอย่าง
และทำทุกอย่างเพื่อการมีกลุ่ม

กลุ่มจะเปิดโอกาสให้แต่ละคนมีตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองด้วยเซลฟ์เอสตีม (self-esteem) ระดับต่าง ๆ กัน เด็ก
บางคนมีเซลฟ์เอสตีมด้วยการแกล้งคนอื่น เพราะไม่สามารถสร้างเซลฟ์เอสตีมด้วยวิธีอื่น เด็กหลายคนถอยหนีออกไปเพราะไม่อยากสูญเสียสถานะ ส่วนเด็กที่ถูกรังแกสูญเสียเซลฟ์เอสตีมไปเลย

ในกระบวนการทางสังคม เมื่อเกิดการรังแกขึ้น เด็กผู้รังแกย่ามใจว่าทำได้แล้วจะทำอีก เด็กที่ถูกรังแกมักป้องกันตัวเองไม่ได้เพราะเขาถูกเลือกเป็นเหยื่อด้วยเหตุผลว่าเขาอ่อนแอที่สุดอยู่ก่อนแล้ว เด็กที่เป็นกลางในตอนแรกแล้วเข้ามาเป็นพวกหรือช่วยเหลือเด็กที่ถูกรังแกมักจะตกเป็นเป้าหมายของการรังแกคนต่อไป  ในขณะที่เด็กที่ยอมเข้าสวามิภักดิ์ต่อหัวหน้าแก๊งจะรอดพ้นจากการถูกรังแกไปได้

ด้วยกลไกทางสังคมเช่นนี้ทำให้การรังแกซึ่งอาจจะเริ่มต้นเพียงหนึ่งต่อหนึ่งในวันแรก  ขยายตัวกลายเป็นเรื่องของ
คนส่วนใหญ่ที่กระทำต่อคนส่วนน้อย และคนส่วนใหญ่ที่สุดที่เพิกเฉยด้วยการเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ เซลฟ์เอสตีมจึงกลายเป็นกระบวนการทางสังคมด้วย

พอเป็นวัยรุ่นขึ้นชั้นมัธยม แก๊งจะมีสำคัญกว่าเพื่อน ความภักดี (loyalty) ต่อแก๊งหรือกลุ่มเพื่อน (peer group) สำคัญที่สุด การจัดการการรังแกจะยากมากขึ้นไปอีก  เพราะแก๊งมีความสำคัญมากกว่าเหยื่อ  พยานทุกคนพร้อมจะ
นิ่งเฉย

คำแนะนำสำหรับการจัดการเรื่องการรังแก  

  • ถ่ายคลิปมาดูด้วยกันทุกคน ว่าเกิดอะไรกับเหยื่อ เพื่อสร้าง empathy ระดับกลุ่ม คือความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจเหยื่อ ให้เหยื่อมีโอกาสได้เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและบรรยายความรู้สึกของตนเอง โดยที่ผู้ฟังมีหน้าที่เพียงรับฟังโดยยังไม่จำเป็นต้องแสดงความคิดเห็น
  • เล่นบทบาทสมมติด้วยกัน จัดฉากการรังแก โดยให้เด็ก ๆ ได้สัมผัสความรู้สึกทั้ง 3 บทบาท เป็นผู้รังแก เป็นเหยื่อ และเป็นพยาน แล้วจัดการให้มีการพูดคุยหลังการเล่นบทบาทสมมติที่เรียกว่า after action review เพื่อให้เด็ก ๆ ได้บอกเล่าและแลกเปลี่ยนความรู้สึกซึ่งกันและกัน
  • ครูจะต้องไม่เพิกเฉยเหยื่อและพยาน ด้วยการปัดภาระหรือหาว่าขี้ฟ้อง ในทางตรงข้ามครูควรเปลี่ยนทัศนคติต่อเรื่องการรังแกว่ามิใช่เป็นเรื่องของปัจเจกแต่เป็นเรื่องของนักเรียนทุกคนในโรงเรียน และการรังแกเป็นกระบวนการ
    กลุ่ม การจัดการที่ดีคือการจัดการทั้งหมด
  • ส่งเสริม สนับสนุน เชิดชู ยกย่องพยานที่ก้าวออกไปขัดขวางการรังแก โดยการทำงานเป็นกลุ่ม ด้วยการรณรงค์และการเห็นชอบของประชาสังคมโรงเรียนมากพอที่ผู้รังแกจะมีความสามรถหยุดยั้งตนเองได้ และมีระบบเชิดชูผู้รังแกที่สามารถกลับเนื้อกลับตัว

สี่ข้อนี้คือหน้าที่ครูสมัยใหม่

 

Resource: HealthToday Magazine, No.201 January 2018