ช่วงที่ผมกำลังเขียนบทความนี้ ละครเรื่อง เมีย 2018 กำลังมาแรง เลยเป็นเหตุให้นึกถึงและอยากเขียนเรื่องนี้ขึ้นมา โดยในคู่แต่งงานที่มีลูก จะมีลักษณะความสัมพันธ์แบบสามเหลี่ยมคือประกอบด้วยคน 3 ฝ่าย ได้แก่ พ่อ แม่ และลูก ปัญหาคือเมื่อพ่อและแม่เกิดความขัดแย้งหรือมีปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างกันขึ้นมา บ่อยครั้งจะมีการดึงบุคคลที่สามซึ่งก็คือเด็กเข้ามาร่วมในความขัดแย้งด้วย ซึ่งผมเรียกเองว่าเป็นความสัมพันธ์แบบสามเส้า เพราะสิ่งที่ตามมามักจะเป็นปัญหาที่มากขึ้น
รูปแบบของการดึงลูกเข้ามาในวงจรความขัดแย้งมีได้หลายรูปแบบดังนี้
- ดึงเข้าเป็นพวกตัวเองแบบข้ามรุ่น เป็นลักษณะหนึ่งที่พบได้บ่อยคือ ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดดึงลูกมาเป็นพวกตนเพื่อ
ต่อต้านอีกฝ่าย เนื่องจากต้องการดึงลูกมาเป็นฝ่ายตนทำให้การดูแลลูกมักเป็นแบบตามใจหรือเอาใจมากกว่าปกติ หรือไม่ก็เข้าไปดูแลปกป้องมากจนเกินไป นอกจากนี้มักมาพร้อมกับการพยายามให้เด็กไม่ชอบอีกฝ่ายด้วย - แข่งขันระหว่างพ่อแม่ กรณีนี้ทั้งพ่อและแม่ต่างแข่งกันดึงลูกเข้ามาเป็นพวกตน ผลที่ได้ก็คือ มีการสลับเป็นพวกกันเป็นระยะ ๆ เช่น ช่วงหนึ่งลูกเข้าพวกกับแม่ บางช่วงก็ไปเข้ากับพ่อ และสลับไปมาตามสภาพการแข่งขัน ความสัมพันธ์ลักษณะนี้มักทำให้เด็กเกิดความขัดแย้งในความภักดี (royalty conflict) เพราะปวดใจ ไม่รู้ว่าควรเข้ากับใครกันแน่ หากเข้ากับฝ่ายหนึ่งก็จะรู้สึกผิดกับอีกฝ่าย เพราะสำหรับเด็กแล้ว พ่อและแม่ย่อมเป็นคนสำคัญของเขาเสมอ (แม้ว่าจะดูแย่ในสายตาอีกฝ่ายก็ตาม)
- ร่วมมือกันดูแลลูก พ่อแม่จะหันมาดูแลลูกเป็นอย่างมาก (กว่าปกติ) เพื่อให้ลืมปัญหาระหว่างกัน โดยบอกตัวเองว่าทำเพื่อลูก ทำให้โดยผิวเผินเหมือนสถานการณ์จะดีขึ้น แต่ปัญหาที่แท้จริงไม่ได้ถูกแก้ไข และการดูแลลูกอาจจะมากเกินไปจนเหมือนเป็นเด็กอ่อนแอ หรือไม่ก็ดูแลเข้มงวดจนเกินไป
- ลูกเป็นตัวแทนหรือตัวกลาง ความสัมพันธ์นี้พ่อหรือแม่ใช้ลูกเป็นตัวแทนหรือเป็นสื่อกลางระหว่างคนสองคนที่ความสัมพันธ์ไม่ดี เช่น พ่อแม่ไม่ยอมคุยกันโดยตรง แต่จะใช้วิธีคุยผ่านลูกแทน เช่น แม่บอกลูกว่า “ไปบอกพ่อซิ ว่าเลิกกินเหล้าได้แล้ว” เป็นต้น
- เป็นแพะรับบาป ลักษณะนี้คือทั้งสองฝ่ายต่างโยนความผิดหรือความรู้สึกไม่ดีไปสู่ลูก โดยไม่ได้แก้ไขปัญหา
ขัดแย้งของตัวเองอย่างตรงไปตรงมา เช่น พ่อและแม่ต่างโทษว่าเป็นเพราะลูกมีปัญหา พ่อแม่ถึงเป็นแบบนี้ เป็นต้น
ข้อเสียของปัญหาสามเส้า
การดึงบุคคลที่สามเข้ามาในวังวนนั้นไม่ได้เป็นการแก้ปัญหา แต่มักทำให้เกิดปัญหาตามมามากขึ้น และยิ่งยากที่จะแก้ไข ได้แก่
- ปัญหาที่แท้จริงไม่ได้ถูกแก้ การดึงบุคคลที่สามเข้ามาเป็นเพียงการกลบเกลื่อนหรือหลบเลี่ยงการเผชิญกับความขัดแย้งที่มีเท่านั้น แม้ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายอาจจะดูเหมือนดีขึ้นบ้าง แต่ก็เป็นเพียงชั่วคราวและรอวันที่จะระเบิดขึ้นมาใหม่
- พัฒนาการของเด็กเป็นไปอย่างไม่เหมาะสม เช่น การดึงเด็กเข้าเป็นพวกจะทำให้เด็กขาดความสัมพันธ์กับอีกฝ่ายหนึ่ง การดูแลปกป้องที่มากเกินไปอาจทำให้เด็กพัฒนาความเป็นตัวของตัวเองได้ไม่ดี ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง หรือการเข้าพวกที่มากเกินไปอาจทำให้เด็กต้องทำหน้าที่มากกว่าที่ควรจะเป็น เช่น ลูกสาวต้องทำอาหาร ซักผ้า ดูแลเรื่องต่าง ๆ ให้พ่อ (แทนแม่) เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลเสียต่อพัฒนาการของเด็กตามปกติทั้งสิ้น
- การกลายเป็นแพะรับบาป ตัวกลาง หรืออยู่ภายใต้การแข่งขันของพ่อแม่ อาจทำให้เด็กเกิดความเครียด สับสน รู้สึกผิด และนำไปสู่ความเจ็บป่วยทางจิตใจได้
ดังนั้นสิ่งที่พ่อแม่ต้องทำคือรู้จักแก้ไขความขัดแย้งอย่างเหมาะสม ไม่ลืมว่าปัญหาระหว่างคนสองคนก็คือปัญหาของคนสองคน ต้องรู้จักแก้ไขปัญหากันเอง อย่าดึงลูกเข้ามาในวังวนปัญหาของผู้ใหญ่ และอย่าเอาความขัดแย้งระหว่างกันมาปะปนกับเรื่องการเลี้ยงลูก เพราะผลเสียจะตามมาเป็นลูกโซ่และแก้ไขได้ยากยิ่งกว่าปัญหาในตอนแรก
Resource: HealthToday Magazine, No.210 October 2018