หากถามว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่ทำให้คนลาออก ย้ายที่ทำงาน หรือยังคงทำงานที่เดิมต่อไป สิ่งนั้นก็น่าจะเป็น
“ความสุขในการงาน” ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทรงพลังที่สุดมากกว่าปัจจัยอื่น ๆ
มีคำกล่าวกันว่า “หากคุณได้ทำงานที่ชอบ คุณจะไม่ต้องทำงานอีกเลยตลอดชีวิต” (มาจากคำพูดของมาร์ก ทเวน) ซึ่งสื่อความหมายว่าหากเราได้ทำงานที่เราชอบมาก ๆ แล้วเราจะมีความสุข จนเหมือนไม่ใช่การทำงานอีกเลย ถึง
คำกล่าวนี้จะเป็นสิ่งที่เป็นจริง แต่ในชีวิตจริงมักมีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ได้ทำงานในฝันแล้วอยู่ได้ ส่วนตัวผมนอกจากการเป็นอาจารย์และนักวิจัยแล้ว งานในฝันก็อยากเป็นนักเขียน แต่ทุกวันนี้ก็ไม่ได้ทำจริงจังเป็นงานประจำ เพราะคิดว่ารายได้และความมั่นคงน่าจะน้อยกว่า
ในเมื่อคนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ทำงานในฝันของตัวเอง สิ่งที่น่าสนใจก็คือนอกจากการได้ทำงานที่ชอบแล้ว ยังมีปัจจัยอะไรอีกบ้างที่ส่งผลต่อความสุขในการทำงาน? สำหรับมุมมองของผู้บริหารและเจ้าของธุรกิจ โดยเฉพาะที่ทำงานไหนที่มีคนลาออกเป็นว่าเล่น ลูกน้องเปลี่ยนหน้าตลอดเวลาไม่มีใครอยู่ได้ยาว ๆ เลย ก็อาจจะต้องเริ่มคิดแล้วล่ะครับว่าที่ทำงานเรามีปัญหาอะไรรึเปล่าที่ทำให้คนทำงานไม่มีความสุข
ความสำคัญของความสุขในการทำงาน
จากการศึกษาพบว่าความสุขในการงานเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้คนไม่ลาออก นอกจากนั้นยังพบว่าที่ทำงานที่มีความสุขยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ดีขึ้นอีกด้วย โดยเฉพาะงานที่ซับซ้อนหรือต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ดังนั้นเราจึงไม่แปลกใจที่บริษัทดัง ๆ ของโลกอย่าง Google หรือ Facebook จะให้ความสำคัญและสร้างบรรยากาศของที่ทำงานไว้อย่างดีมาก
ปัจจัยที่สำคัญต่อความสุขในการทำงาน
ปัจจัยที่สำคัญต่อความสุขในการทำงานมีหลายปัจจัย โดยในบทความนี้จะอธิบายถึง 2 ปัจจัยหลักที่เกี่ยวข้องกับ
เรื่องงาน ได้แก่ รายได้และลักษณะของงาน ส่วนปัจจัยอื่น ๆ อย่างปัจจัยส่วนบุคคล เช่น บุคลิกภาพหรือครอบครัว
จะไม่ได้กล่าวถึงในที่นี้
-
รายได้
คงไม่มีใครปฏิเสธว่าเหตุผลหลักข้อหนึ่งของการทำงานของคนเราคือทำเพื่อเงิน และจากการศึกษาวิจัยก็พบว่า
เงินเดือนมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับความพอใจในการทำงานจริง แต่ระดับของความสัมพันธ์ไม่ได้ชัดเจนมากนัก
หลายปีก่อนผมเคยเขียนบทความเรื่อง “เงินซื้อความสุขได้หรือไม่” มาแล้ว ซึ่งถ้าให้สรุปง่าย ๆ ก็คือ ถ้าเงินไม่พอใช้ เป็นหนี้ หรือมีแค่พอใช้ เงินจะซื้อความสุขได้ การมีรายได้เพิ่มขึ้นจะเพิ่มความสุขให้มากขึ้น แต่ถ้าเรามีรายได้
พอสมควร ไม่ได้ขัดสนอะไรแล้ว การได้เงินเพิ่มจะไม่ได้เพิ่มความสุขสักเท่าไหร่ การศึกษาในประเทศไทยก็ได้ผล
ไม่ต่างกัน คือถ้าเป็นการศึกษาในกลุ่มที่เงินเดือนไม่ได้สูงมาก เช่น แรงงานในโรงงาน เงินเดือนจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของความพึงพอใจในการทำงาน แต่ถ้าเป็นการศึกษาในกลุ่มที่เงินเดือนสูงกว่านั้น เช่น อาจารย์ บริษัทเอกชน หรือกลุ่มวิชาชีพต่าง ๆ จะพบว่าเงินเดือนไม่ใช่ปัจจัยที่สำคัญที่สุด
ที่จริงในเรื่องของเงินเดือนมีอะไรที่ซับซ้อนกว่านั้นอีกครับ คือไม่ใช่เฉพาะตัวเงินของเราเท่านั้นที่สำคัญ แต่เงินเดือนของคนอื่นก็มีความสำคัญ และอาจจะสำคัญยิ่งกว่าอีก! การศึกษาส่วนใหญ่ออกมาเหมือนกันคือ สมมติว่าเงินเดือนเราเพิ่มขึ้น x บาท เราก็จะมีความสุขมากขึ้นเล็กน้อย …แต่ครับ…แต่… ถ้าเราพบว่าคนอื่นดันเงินเดือนเพิ่ม 2x บาท (สองเท่าของเรา) ความสุขของเราจะกลายเป็นลดลงทันที ดังนั้นแล้วเงินเดือนอย่างเดียวอาจไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด แต่เป็นเงินเดือนของเราเมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่นด้วย และนี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ระยะหลังบริษัทจึงไม่มีการเปิดเผย
เงินเดือน และเงินเดือนของผู้ร่วมงานถือเป็นความลับ เพราะการเปิดเผยมักจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี
-
ลักษณะงาน
อันดับแรก การได้ทำงานที่ชอบเป็นปัจจัยหนึ่งล่ะที่ทำให้เรามีความสุข แต่ก็อย่างว่าแหละครับว่าหลายครั้งเราก็จำเป็นต้องเลือกงานที่เราไม่ได้ชอบมากที่สุด แต่ส่วนใหญ่เมื่อเวลาผ่านไปเราก็มักจะเลือกงานให้ใกล้เคียงกับความต้องการมากที่สุด แม้จะไม่ตรงใจ 100% ก็ตาม แต่ทีนี้นอกจากเรื่องความชอบแล้ว ลักษณะของงานอะไรอีกบ้างที่สัมพันธ์กับความสุขในการทำงาน
- ความหมายและคุณค่าของงาน ปัจจัยนี้เป็นสิ่งที่หลายคนไม่ค่อยนึกถึง แต่มีความสำคัญ และหลายการศึกษาพบว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดอันหนึ่งเกี่ยวกับความสุขในการทำงาน แดน อไรลี่ (Dan Ariely) ได้ทำงานวิจัย
ชื่อดังชิ้นหนึ่ง ชื่อ “Man’s search for meaning: The case of Legos” (ชื่องานวิจัยตั้งเลียนแบบหนังสือชื่อดัง Man’s search for meaning ของ Viktor Frankl) การศึกษานี้ทำโดยการจ้างให้นักศึกษามาต่อ
ตัวต่อเลโก้หุ่นยนต์ โดยถ้าต่อตัวต่อตัวแรกเสร็จจะได้เงิน 2 ดอลลาร์สหรัฐ จากนั้นทีมวิจัยก็จะแจ้งกับนักศึกษาต่อว่าสนใจจะต่อตัวที่สองหรือไม่ โดยถ้าทำตัวที่สองเสร็จก็จะได้เงินอีก 1.89 ดอลลาร์ (ลดลง 0.11 ดอลลาร์) และทีมวิจัยจะถามแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ว่าอยากต่อตัวที่สาม สี่ ห้า และอื่น ๆ หรือไม่ ซึ่งค่าจ้างจะลดลงทีละ 0.11 ดอลลาร์
ลักษณะของงานก็จะเป็นแบบนี้ แต่สิ่งที่ต่างไปคือนักศึกษาจะถูกสุ่มแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกจะเป็นกลุ่ม “โชว์
ผลงาน” คือเมื่อต่อตัวต่อเสร็จ ก็จะวางหุ่นที่ต่อเสร็จแล้วโชว์ไว้บนโต๊ะ แล้วเอาตัวใหม่มาให้ประกอบต่อไป ซึ่งถ้าต่อเสร็จก็จะวางโชว์ไว้ไปเรื่อย ๆ ส่วนกลุ่มที่สองจะเป็นกลุ่ม “รื้อทิ้ง” คือเมื่อต่อหุ่นยนต์เสร็จแล้ว ทีมผู้วิจัยก็จะรื้อหุ่นที่นักศึกษาพึ่งต่อเสร็จไปเมื่อกี้ทิ้ง แล้วเอาชิ้นส่วนมาให้ต่อตัวใหม่ต่อไป ดังนั้นเราจะเห็นว่าในเรื่องของตัวงานคือ
“การต่อหุ่น” กับ “รายได้” ทั้ง 2 กลุ่มนี้ไม่ได้แตกต่างกัน สิ่งที่ต่างกันมีเพียงการตั้งโชว์กับรื้อทิ้งเท่านั้น ลองเดาซิครับว่าผลออกมาเป็นอย่างไร?
ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มที่ผลงานถูก “รื้อทิ้ง” จะเลิกต่อหุ่นที่ประมาณตัวที่ 7 ได้เงินไปเฉลี่ย 11.5 ดอลลาร์
ในขณะที่กลุ่ม “ตั้งโชว์” จะเลิกทำที่ประมาณตัวที่ 10 และได้เงินไปเฉลี่ย 14.4 ดอลลาร์ งานวิจัยนี้สามารถอธิบายได้ว่าการเห็นว่างานที่เราทำมีความหมายจะช่วยให้เราทำงานต่อไปได้ดีกว่าการรู้สึกว่างานที่เราทำไปนั้นไม่มีความหมายอะไร (ต่อเสร็จก็โดนรื้อทิ้งไปต่อหน้าต่อตา) ซึ่งการศึกษานี้ก็สอดคล้องไปกับการศึกษาอื่น ๆ จำนวนมากที่
พบว่า การรู้ว่างานที่เราทำนั้นสำคัญหรือมีความหมายมีความสัมพันธ์กับความสุขในการทำงาน ดังนั้นที่ทำงานซึ่ง
คนทำงานก็ทำไปวัน ๆ แบบไม่รู้คุณค่าของสิ่งที่ทำ กับวัฒนธรรมแบบลูกน้องทำไปถึงเวลาหัวหน้าเอาหน้าหมด โดยไม่ให้เกียรติ ไม่ยกย่องคนที่ทำเลย ทำได้ไม่นานลูกน้องก็หมดใจลาออกกันหมด สำหรับตัวเราเองการค้นหา
ความหมายหรือเห็นคุณค่าของงานที่เราทำอยู่ ก็จะช่วยให้เรามีความสุขในการทำงานมากขึ้นครับ
- ชั่วโมงการทำงาน อันนี้เดาง่ายครับ เชื่อว่าหลายคนก็เดาถูกว่าจำนวนชั่วโมงทำงานต่อสัปดาห์แปลผกผันกับความสุขในการทำงาน ยิ่งชั่วโมงทำงานเยอะเท่าไหร่ ความสุขก็น้อยลงเท่านั้น ยิ่งหากเป็นงานที่เคร่งเครียด ต้องแข่งกับเวลาแต่มีความคาดหวังสูง อันนี้ยิ่งลดความสุขเข้าไปใหญ่ เช่น แพทย์ในโรงพยาบาลรัฐที่ถูกบังคับให้ต้องตรวจคนไข้จำนวนมาก ๆ ในเวลาที่สั้น ๆ แต่ให้ได้มาตรฐานระดับโลก เป็นต้น
- หัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน หัวหน้าเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ จนมีคนพูดไว้ว่า “คนไม่ได้ลาออกจากงาน แต่
ลาออกจากหัวหน้างาน” จากการศึกษาพบว่าศักยภาพของเจ้านาย ทั้งในแง่ความสามารถในการทำงานและปฏิสัมพันธ์ มีผลอย่างมากต่อความสุขในที่ทำงาน เจ้านายยิ่งแย่หรือไม่มีศักยภาพเท่าไหร่ความสุขของคนทำงานก็จะลดลงเท่านั้น จึงไม่ต้องแปลกใจที่หัวหน้างานที่ไร้ศักยภาพอาจสร้างความเสียหายให้องค์กรอย่างมาก เรียกว่าใครเข้ามาทำงานอยู่ได้ไม่นานก็ลาออกหมด แต่ในทางตรงกันข้ามพบว่า ในกรณีนี้การเปลี่ยนหัวหน้าเป็นคนใหม่ที่ดีขึ้นสามารถเพิ่มความสุขให้กับคนทำงานได้อย่างมาก ทั้งที่เงินเดือนกับงานก็ยังเหมือนเดิม ดังนั้นในบางสถานการณ์การเปลี่ยนหัวหน้าอาจเป็นทางออกที่ดีกว่าการควานหาลูกน้องที่ทนหัวหน้าคนนี้ได้ เพียงแต่ใน
หลายวัฒนธรรมที่เน้นเรื่องระบบอาวุโส มักทำไม่ได้ จนกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง - โอกาสและความก้าวหน้า พบว่างานที่ไม่มีโอกาสเจริญก้าวหน้าจะมีความสุขในการทำงานน้อย และหากยังทำงานเหมือน ๆ เดิมด้วยผลตอบแทนพอ ๆ เดิมไปเรื่อย ๆ ความสุขในการทำงานก็จะลดลงไปเรื่อย ๆ
สรุป สิ่งที่สำคัญต่อความสุขในการทำงานนั้น ไม่ใช่เป็นแค่เรื่องของตัวเงินเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ควรนึกถึงด้วย โดยเฉพาะการรู้ถึงความหมายและคุณค่าของงานที่ทำจะช่วยให้เรามีความสุขในการทำงานมากขึ้น
เอกสารอ้างอิงที่น่าสนใจ
- Clark, A.E., 2015. What makes a good job? Job quality and job satisfaction. IZA World of Labor.
- Ariely, D., Kamenica, E. and Prelec, D., 2008. Man’s search for meaning: The case of Legos. Journal of Economic Behavior & Organization, 67(3-4), pp.671-677.
- Artz, B.M., Goodall, A.H. and Oswald, A.J., Boss competence and worker well-being. ILR Review, 70(2), pp.419-450.
- ณัฐวุฒิ เผ่าทวี, พฤติกรรมความสุข. สำนักพิมพ์แซลมอน กรุงเทพฯ
Resource: HealthToday Magazine, No.209 September 2018