ไมเกรน เป็นโรคปวดศีรษะที่พบได้บ่อย มีระดับความรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก สามารถเกิดได้กับคนทุกเพศ
ทุกวัย ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะตุบ ๆ คล้ายเส้นเลือดเต้น ส่วนใหญ่จะปวดเพียงข้างเดียวหรือปวดครึ่งซีก อย่างไรก็ตามพบว่ามีผู้ป่วยไมเกรนประมาณ 20% ที่มีอาการปวดศีรษะทั้ง 2 ข้าง โดยอาการปวดศีรษะจะเป็นอยู่นานประมาณ 4-72 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังพบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ไวต่อแสง เสียง และกลิ่น ทำให้ประสิทธิภาพในการทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ลดลง ในรายที่เป็นรุนแรงอาจต้องลางาน ขาดเรียน งดกิจกรรมต่าง ๆ คุณภาพชีวิตเสียไปอย่างน่าเสียดาย อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าไมเกรนจะทำให้ชีวิตเกิดข้อจำกัดหลายอย่าง แต่การรู้จักและเข้าใจไมเกรนที่ดีพอจะช่วยให้เรารับมือกับโรคได้ดี และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
เลี่ยงปัจจัยกระตุ้น ลดการเกิดไมเกรน
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนของการเกิดไมเกรน แต่ทราบว่าปัจจัยทางพันธุกรรมมีความสัมพันธ์กับโรคนี้ ในส่วนของกลไกการเกิดโรคเกิดจากการที่สมองมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นมากกว่าปกติ ทำให้กระแสไฟฟ้าในสมองทำงานผิดปกติ ส่งผลให้สมองหลั่งสารเคมีบางอย่างที่ทำให้เส้นประสาทเกิดการอักเสบ หลอดเลือดสมองขยายตัว และเกิดอาการปวดศีรษะในที่สุด
ผู้ป่วยไมเกรนควรหมั่นสังเกตตัวเองว่ามีปัจจัยกระตุ้นใดบ้างที่ทำให้เกิดอาการเนื่องจากแต่ละคนจะมีปัจจัยกระตุ้นที่แตกต่างกัน ที่พบบ่อย ได้แก่ กลิ่นเหม็น กลิ่นฉุน แสงแดด และแสงสว่างจ้า สำหรับอาหารและเครื่องดื่มที่พบบ่อย ได้แก่ อาหารที่มีผงชูรส และเนยแข็ง นอกจากนี้พฤติกรรมการใช้ชีวิตบางอย่างก็เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดไมเกรนได้เช่นกัน อาทิ นอนน้อยไป นอนมากไป รับประทานอาหารไม่เป็นเวลา ปล่อยให้หิวเกินไป เครียด วิตกกังวล เป็นต้น สำหรับผู้หญิงมีปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เช่น ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการปวดศีรษะไมเกรนในช่วงใกล้มีประจำเดือน เป็นต้น การทราบว่าสิ่งใดเป็นปัจจัยกระตุ้นและพยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยเหล่านั้น จะช่วยลดการเกิดอาการปวดศีรษะไมเกรนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เริ่มมีอาการ ควรดูแลทันที
โรคปวดศีรษะไมเกรนมักมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่มากระตุ้น ในกรณีที่มีอาการปวดศีรษะเกิดขึ้นแล้ว ผู้ป่วยสามารถดูแลรักษาตนเองได้ด้วยวิธีไม่ใช้ยาและใช้ยา วิธีใช้ยา เช่น การรับประทานยาพาราเซตามอล ยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ เป็นต้น บางรายที่อาการปวดศีรษะเกินเดือนละ 2 ครั้ง ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้อาเจียน แพทย์อาจพิจารณาให้ “ยาป้องกันไมเกรน” โดยต้องใช้ต่อเนื่องประมาณ 2-6 เดือน สำหรับวิธีไม่ใช้ยา สามารถทำได้โดยใช้น้ำแข็งวางบนศีรษะบริเวณที่ปวด นวดบริเวณที่ปวด สระผม หรือพักอยู่ในห้องเงียบๆ เย็นๆ วิธีการเหล่านี้จะช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะได้
ในส่วนของการรักษาทั้ง 2 วิธีนี้ รศ.พญ.ศิวาพร จันทร์กระจ่าง ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้คำแนะนำเพิ่มเติมไว้ว่า “การใช้ความเย็นลดอาการปวดศีรษะให้ใช้แผ่นประคบเย็น (cold pack) วางไว้บริเวณที่ปวด แล้วพันด้วยผ้ายืด ระวังอย่าให้แน่นเกินไปใบหน้าจะเป็นรอย ในช่วง 5 นาทีแรกจะรู้สึกปวดศีรษะมากขึ้น แต่หลังจากนั้นอาการปวดจะค่อย ๆ คลายลง ผู้ป่วยจะรู้สึกสบายขึ้นเมื่อผ่านไป 15 นาที สำหรับการรักษาด้วยวิธีใช้ยานั้นมีหลักการคือ ผู้ป่วยต้องรับประทานยาภายใน 15 นาทีหลังจากเริ่มมีอาการปวดศีรษะไมเกรน หากปล่อยให้มีอาการปวดศีรษะมาก ๆ หรือปล่อยให้อาการปวดเกิดขึ้นนาน ๆ แล้วค่อยมารับประทานยา อาจจะไม่ได้ผล” เพราะฉะนั้นการดูแลรักษาที่รวดเร็วและเหมาะสมจะช่วยให้ผู้ป่วยจัดการกับอาการปวดได้ดีขึ้น ไม่ต้องทนกับอาการปวดนานเกินไป และสามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น
คนรอบข้าง เข้าใจ ช่วยได้จริง
ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า โรคปวดศีรษะไมเกรนมักมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ ผู้ป่วยบางรายมีอาการนาน ๆ ครั้ง ในขณะที่บางรายมีอาการปวดศีรษะทุกสัปดาห์ ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงาน ต้องขาดงาน ขาดเรียนบ่อย ๆ และอาจถูกเพ่งเล็งในทางลบจากคนในองค์กร นอกจากนี้ผู้ป่วยไมเกรนบางส่วนจะมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ในช่วงก่อนและหลังเกิดอาการปวดศีรษะ เช่น อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด ซึมเศร้า อ่อนเพลีย กระสับกระส่าย หากคนรอบข้างไม่เข้าใจอาจก่อให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์ตามมาได้ กลายเป็นความตึงเครียด กดดัน และอาจกระตุ้นให้ไมเกรนกำเริบ เป็นอย่างนี้วนเวียนไป ซึ่งย่อมไม่เป็นผลดีต่อผู้ป่วยอย่างแน่นอน
ดังนั้น “ความเข้าใจจากคนรอบข้าง” จึงสำคัญมาก อย่างไรก็ตามความเข้าใจจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทั้งสองฝ่ายพูดคุยและรับฟังซึ่งกันและกัน ผู้ป่วยควรบอกเล่าถึงอาการที่เกิดขึ้นให้คนรอบข้างรับรู้เพื่อสร้างความเข้าใจ ในขณะที่คนรอบข้างเองก็ควรเปิดใจรับฟัง ทำความเข้าใจ และให้ความช่วยเหลือในส่วนที่สามารถช่วยได้ ยกตัวอย่างเช่น หากสามีรู้ว่าภรรยามักมีอาการปวดศีรษะจากไมเกรนในช่วงก่อนมีประจำเดือน เมื่อถึงช่วงนั้นอาจจะคอยดูแลให้ภรรยาอยู่ในที่เงียบ ๆ เย็น ๆ ในบรรยากาศสบาย ๆ ก็จะช่วยให้ภรรยารับมือกับอาการปวดศีรษะได้ดีขึ้น สามารถเผชิญหน้ากับไมเกรนได้อย่างมีความสุขมากขึ้น เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าความเข้าใจเรื่องไมเกรนเป็นสิ่งสำคัญไม่เฉพาะกับผู้ป่วยเท่านั้น แต่รวมถึงคนทั่วไปด้วย หากเราทุกคนรู้ว่าไมเกรนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตได้จริง เราจะเห็นอกเห็นใจผู้ป่วย ซึ่งอาจจะเป็นคู่ครอง เพื่อนร่วมงาน ญาติพี่น้อง หรือลูกหลานของเรามากขึ้น ตามมาด้วยการให้กำลังใจและการดูแลที่เหมาะสม เพื่อให้เขาสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ และสุขได้ไม่จำกัดแม้ต้องอยู่กับไมเกรนก็ตาม
Resource: HealthToday Magazine, No.204 May 2018