นิทานก่อนนอน

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์

0
3258
นิทานก่อนนอน

การอ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟังให้ประโยชน์มากมายหลายด้าน

เรื่องแรกสุดคือสร้างสายสัมพันธ์ (attachment)

ดังที่ทราบกันแล้วว่าพัฒนาการที่สำคัญที่สุดในช่วง 3 ขวบปีแรกของมนุษย์คือการสร้างสายสัมพันธ์กับแม่หรือพ่อ อย่างแข็งแรงมากที่สุด สายสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นใน 3 ขวบปีแรกนี้จะทำหน้าที่กำกับชีวิตของเด็ก ๆ ให้อยู่ในเส้นทางที่ดีตลอดกาลนาน

การอ่านหนังสือวันละ 15 นาทีให้ลูกฟังก่อนนอนเป็นกิจกรรมที่ง่ายมากในการประกันว่าพ่อแม่จะได้อยู่ใกล้ลูกแน่ ๆ อย่างน้อยก็ทุกวัน วันละ 15 นาที ได้เห็นหน้า ได้ยินเสียง ได้แตะเนื้อต้องตัว และมีปฏิสัมพันธ์ ทำให้เด็กเล็กสามารถสร้างพ่อแม่ที่มีอยู่จริงขึ้นมา สร้างสายสัมพันธ์กับพ่อแม่ และสร้างตัวตน (self) ที่แข็งแรงมากในที่สุด ตัวตนคือรากฐานของพัฒนาการอีกหลาย ๆ เรื่องในอนาคต

เรื่องถัดมาคือพัฒนาการด้านภาษา

ระหว่างที่พ่อแม่ลูกนอนอ่านนิทานด้วยกัน เด็กเล็กจะมองเห็นเส้นสายตัวอักษรคืออักขระ และได้ยินเสียงพ่อแม่อ่านหนังสือไปตามอักขระ ด้วยกระบวนการนี้ทุกวัน วันละ 15 นาที สมองของเด็กจะพัฒนาความสามารถที่เรียกว่าการให้สัญลักษณ์ (symbolization) กล่าวคือรู้ว่า “เส้น” มิได้เป็นเพียงแค่เส้น แต่มีสัญลักษณ์ซ่อนอยู่ภายใต้เส้นนั้น นี่คือโครงสร้างที่สำคัญมากของสมองในวันหน้า นั่นคือความสามารถที่จะให้สัญลักษณ์ ใช้สัญลักษณ์ และถอดความหมายของสัญลักษณ์ เป็นรากฐานของการใช้ภาษาทั้งการอ่าน การเขียน และคณิตศาสตร์ ไม่นับศาสตร์ด้านอื่น ๆ รวมทั้งความสามารถที่จะใช้อุปมาอุปมัย (metaphor)

เรื่องถัดมาคือพัฒนาการด้านการคิด

เด็กเล็กไม่เพียงเห็นเส้นสายที่ก่อรูปเป็นอักขระ แต่เขาจะเห็นรูปภาพประกอบนิทานด้วย เช่น ช้าง  รูปช้างที่เด็กเห็นในวันแรกจะกระตุ้นวงจรประสาทในสมองให้ทำงาน วงจรประสาทที่ถูกระตุ้นนั้นจะได้เห็นและรับข้อมูลรูปภาพอื่น ๆ อีกในเวลาต่อมา เช่น ช้างจากหนังสืออีกเล่มหนึ่ง ทำให้วงจรประสาทนั้นพัฒนาไปอีก ช้างคือสัตว์ที่มีหูใหญ่ มีอะไรบางอย่างที่ยืดยาวออกมาระหว่างตา และใจดี ความคิดเรื่องช้างจะแปรเปลี่ยนไปทุกวัน มีบ้างบางวันที่เด็กเล็กนอนหลับตาฟังนิทานโดยไม่ดูรูป สมองของเขาจะวาดภาพช้างตัวใหม่ขึ้นมาอีก ช้างนั้นจะแปรเปลี่ยนไปทุกวัน แล้วแต่สมองรับรู้เรื่องช้างมากน้อยเพียงใด ที่มหัศจรรย์คือถึงแม้ว่าวันหนึ่งเขาจะได้เห็นช้างจริง ๆ เดินในสวนสัตว์ แต่ช้างในสมองของเขาก็ยังมีหลายรูปแบบให้เขาเลือกใช้ และต่อยอดความคิดไปตามสถานการณ์ จะเห็นว่านี่คือสมองที่เปิดกว้างและไร้ขีดจำกัดอย่างแสนมหัศจรรย์

เรื่องถัดมาคือพัฒนาการด้านสติปัญญา

สติปัญญาที่แท้เกิดจากความเชื่อมโยง (connection) มิได้เกิดจากความจำหรือการท่องจำ การอ่านนิทานก่อนนอนทุกวัน วันละ 15 นาทีจนกระทั่งสร้างนักอ่านขึ้นมาจนได้ในตอนท้ายจะช่วยให้สมองของเขามีวงจรประสาทนับล้านที่เชื่อมโยงกันอย่างทั่วถึง ไม่แยกส่วน สามารถเชื่อมศาสตร์หนึ่งไปสู่อีกศาสตร์หนึ่งโดยอัตโนมัติอย่างที่เรียกว่าไม่ต้องพยายามคิดหัวแทบแตก สมองจะพัดพาความคิดไปเอง เช่น จากช้างเอราวัณของพระอินทร์ เชื่อมไปสู่โครงสร้างทางวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม เป็นต้น

เรื่องถัดมาคือเรื่องจิตใจ

นิทานก่อนนอนในปฐมวัยเป็นการผจญภัยไปในดินแดนต่าง ๆ ในบ้าน นอกบ้าน ในโลก นอกโลก ใต้น้ำ อวกาศ ใต้ดิน ยอดเขา ไปจนถึงในจินตนาการ เช่น บนเขาไกรลาศหรือยอดเขาโอลิมปัส ด้านเนื้อเรื่องของนิทานก็มีตั้งแต่สุขสันต์นิรันดรไปจนถึงเรื่องราวด้านมืดของความเป็นมนุษย์ คือ รัก โลภ โกรธ หลง ชีวิต ความตาย รวมทั้งภูตผีปีศาจ สารพัดเรื่องราวที่จะเข้าไปรวบกวนจิตใจ ทั้งด้านบวกด้านลบด้านสว่างด้านมืดด้านดีด้านร้าย ทำให้จิตใจต้องพัฒนากลไกป้องกันตัวทางจิตใจในระดับจิตใต้สำนึก (unconscious defense mental mechanism) เพื่อเตรียมรับมือความเป็นจริงของชีวิต (reality) ที่จะมีทั้งสุขทุกข์ดีร้ายและร้ายที่สุดเวียนกันเข้ามาหา  การอ่านนิทานก่อนนอนคือการสร้างเกราะป้องกันตัวที่ดีที่สุดวิธีหนึ่ง

เรื่องถัดมาคือวินัยการนอน

จริงอยู่ที่ว่า 15 นาทีนั้นตอนไหนก็ได้ แต่ 15 นาทีก่อนนอนมีประโยชน์ของแถมบางข้อ ที่สำคัญคือการจัดสภาพแวดล้อมก่อนนอนให้สงบ ห้องนอนหรือเขตนอนไม่กว้างเกินไป สะอาด ปราศจากฝุ่น ไม่รกรุงรังเกินสมควร ไฟสว่างพอที่จะอ่านหนังสือ แต่ไม่รบกวนการนอน พ่อแม่ตัวเป็น ๆ มาอยู่ด้วยกัน วางมือถือ อ่านนิทานด้วยน้ำเสียงสงบพอสมควร เหล่านี้เป็นการเตรียมคลื่นสมองการนอนเข้าสู่ระยะพักเพื่อเคลื่อนตัวเข้าสู่การนอนระยะที่ 1 ต่อไป อันจะนำไปสู่การนอนที่สงบ ลึก ได้พักผ่อน และการฝันที่ดี เหมาะสม ไม่มากไปไม่น้อยไป คือการพักเครื่อง จัดระเบียบข้อมูลในแต่ละวัน เพื่อเตรียมตัวตื่นขึ้นพบวันใหม่ อันจะทำให้ได้สมองที่ดีที่สุด

“อ่าน 15 นาทีทุกวัน สร้างมหัศจรรย์แห่งชีวิต”

 

Resource : HealthToday Magazine, No.197 September 2017