บาดเจ็บคอ จากการออกกำลังกาย

นพ.คมน์สิทธิ์ เดชะรินทร์ แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป

0
2492

การบาดเจ็บจากการออกกำลังกายส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับอวัยวะส่วนที่เคลื่อนไหว ที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่ กล้ามเนื้อ รองลงมาคือ เส้นเอ็นที่ยึดติดกับกล้ามเนื้อ (tendon) และเส้นเอ็นที่ยึดกับกระดูกและข้อต่อต่าง ๆ (ligament) การบาดเจ็บอื่นๆ เช่น บาดแผลที่ผิวหนัง อาการฟกช้ำ ตะคริว อาการปวด ลมแดด การบาดเจ็บส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นบริเวณขาและเท้าประมาณร้อยละ 60  มือ แขน และไหล่พบประมาณร้อยละ 20 ที่เหลือเป็นส่วนลำตัว บริเวณศีรษะ และคอ ตามลำดับ

บาดเจ็บบริเวณคอ แบ่งได้เป็น 2 ส่วน ดังนี้

  • กระดูกสันหลังและเส้นประสาทส่วนคอ คือ การบาดเจ็บของกระดูกต้นคอตั้งแต่ระดับฐานกะโหลกศีรษะจนถึงกระดูกวนคอ สาเหตุอาจเกิดจากการกระแทกโดยตรง ส่งผลให้กระดูกบริเวณดังกล่าวหักหรือผิดรูป อาจไปกดเบียดไขสันหลังและเส้นประสาททำให้สูญเสียการทำงาน เกิดภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง ร่างกายรับความรู้สึกได้ลดลง หากรุนแรงมากอาจเกิดภาวะหายใจลำบาก สูญเสียการควบคุมการทำงานของลำไส้ หูรูดบริเวณทวารหนัก หรือกระเพาะปัสสาวะได้ กรณีนี้ต้องรีบพบแพทย์ทันทีเพราะถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉิน อาจทำให้เกิดอัมพฤกษ์อัมพาตได้
  • กล้ามเนื้อบริเวณคอ เกิดจากการใช้งานกล้ามเนื้อที่ไม่ถูกวิธี เช่น ไม่อบอุ่นกล้ามเนื้อก่อนออกกำลังกาย ใช้งานหนักเกินไปจนเซลล์กล้ามเนื้อบาดเจ็บ ส่งผลให้เกิดการอักเสบ อาจขยับหรือหมุนศีรษะไม่ได้ กล้ามเนื้อคอแข็งและกดเจ็บ บางกรณีอาจเกิดตะคริวเนื่องจากกล้ามเนื้อขาดเลือดมาเลี้ยง จึงขาดสารอาหารและออกซิเจน เกิดการสะสมของเสียและการคั่งขอกรดแลคติก ทำให้ปวดกล้ามเนื้อรุนแรง

 วิธีป้องกัน

  • ถ้าผู้ป่วยเคยมีปัญหาที่คอมาก่อน เช่น กระดูกคอต้นคอเคลื่อนหรือเสื่อม ได้รับการผ่าตัดบริเวณคอ ควรขอคำแนะนำจากแพทย์ถึงประเภทการออกกำลังกาย
  • ยืดกล้ามเนื้อรอบคออย่างถูกต้องทุกครั้งก่อนออกกำลังกาย
  • ระหว่างออกกำลังกายถ้ามีอาการปวด ให้หยุดและใช้ความเย็นประคบ อาจรับประทานยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ได้
  • กรณีที่เป็นนักกีฬา ควรเรียนรู้เทคนิคการเล่นกีฬาอย่างถูกต้อง เพื่อลดโอกาสเกิดการบาดเจ็บ หากได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะและคออย่างรุนแรง เช่น ปวดตึงต้นคอและความรู้สึกที่แขนลดลง หกล้มศีรษะและคอกระแทกพื้นจนหมดสติ ให้ผู้ปฐมพยาบาลจัดศีรษะและคอให้อยู่นิ่ง โดยประคองศีรษะบริเวณกกหูทั้ง2 ข้างของผู้ป่วยเพื่อป้องกันไม่ให้กระดูกต้นคอเคลื่อนไปกดไขสันหลังและรากประสาทเพิ่มเติม และนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที

รู้ก่อน ลดเสี่ยง

วิธีปฏิบัติเพื่อป้องกันการบาดเจ็บจากการออกกำลังกาย ได้แก่

· ตรวจสุขภาพและตรวจสอบสมรรถภาพของร่างกายก่อนออกกำลังกายเพื่อหาความผิดปกติและข้อจำกัดของร่างกาย

· ศึกษารายละเอียดและเลือกชนิดการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับตนเอง

· อบอุ่นร่างกายและยืดกล้ามเนื้ออย่างน้อย 15 นาทีก่อนออกกำลังกาย

· เริ่มต้นออกกำลังกายอย่างช้าๆ และค่อยๆ เพิ่มความหนัก ระยะเวลา และความถี่ในการออกกำลังกาย

· สังเกตปฏิกิริยายาของร่างกายตลอดเวลาทั้งก่อน ระหว่าง และหลังออกกำลังกาย

· หลังออกกำลังกายควรคูลดาวน์หรือลดความหนักของการออกแรงลงอย่างช้าๆ เพื่อให้ร่างกายกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

 

Resource: HealthToday Magazine, Issue no. 177, JANUARY 2016