อาการมือเท้าชาจากโรคปลายประสาทอักเสบ…อย่านิ่งเฉย!!

0
14367
โรคปลายประสาทอักเสบ

มีหลายคนที่มีปัญหาเรื่องมือเท้าชา ระหว่างทำงาน มือเท้าชาช่วงกลางคืน หรือ มือเท้าชาช่วงหลังตื่นนอน ซึ่งบางคนอาจจะเป็น ๆ หาย ๆ บางคนอาจจะเกิดอาการเหล่านี้บ่อยครั้ง เช่น 3-4 ครั้งต่ออาทิตย์ และส่งผลรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน โดยที่คนส่วนใหญ่ที่เป็นจะละเลย ไม่สนใจที่จะรักษาเพราะคิดว่าเป็นอาการเหน็บชาทั่วไป แต่จริง ๆ แล้วอาการเหล่านี้ที่เกิดขึ้นอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคปลายประสาทอักเสบที่เราไม่ควรนิ่งเฉยหรือละเลย

สำหรับสาเหตุของอาการชาโรคปลายประสาทอักเสบ สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  • การนั่งหรือยืนในท่าเดิมเป็นเวลานาน

โรคปลายประสาทอักเสบ

  • การสวมรองเท้าส้นสูงนาน

โรคปลายประสาทอักเสบ

  • มีระดับแร่ธาตุและวิตามินผิดปกติ เช่น ร่างกายขาดวิตามิน B1, B6, B12 และวิตามิน E
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางประเภท เช่น ยาเคมีบำบัด
  • มีสาเหตุจากโรคบางโรค เช่น โรคเบาหวาน โรคหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท งูสวัด เป็นต้น   

ปลายประสาทอักเสบ

ในกรณีที่รู้สาเหตุที่แน่ชัด การรักษาและแก้ที่สาเหตุจึงเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงการสังเกตลักษณะของอาการชาประเภทต่าง ๆ ที่ผิดปกติไปจากเดิม จะช่วยให้เราได้รับการรักษาได้ทันท่วงทีตั้งแต่ต้น โดยไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดอาการที่รุนแรงก่อน เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจลุกลามจนอาจกลายเป็นโรคร้ายแรงได้ เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ อัมพาต

อาการชาปลายมือปลายเท้าจากโรคปลายประสาทอักเสบ มีลักษณะอาการแบบไหนบ้าง

1. รู้สึกชาที่ปลายเท้าและปลายมือเข้าหาลำตัว

มักเกิดจากปลายประสาทอักเสบหรือเสื่อม ซึ่งเกิดจากการขาดสารอาหารที่สำคัญบางชนิด ได้แก่ วิตามินบี 1 วิตามิน บี 6 หรือ วิตามินบี 12 หรืออาจเกิดจากโรคอื่น เช่น โรคไต เป็นต้น

2. รู้สึกชาที่มืออย่างเดียว

2.1 ชาปลายนิ้วมือเกือบทุกนิ้ว แต่นิ้วก้อยไม่ชาหรือชาน้อยที่สุด

อาการชาประเภทนี้มักเกิดตอนกลางคืนหรือตอนตื่นนอนมากกว่าในช่วงเวลากลางวัน มักเป็นเฉพาะเมื่อทำท่าบางท่าที่ไม่เหมาะสมหรือทำต่อเนื่องเป็นเวลานาน เช่น ชูมือสูง ขี่มอเตอร์ไซค์ คุยโทรศัพท์ หรือใช้มือทำงานบางอย่างอย่างหนัก

สาเหตุของอาการชานี้เกิดขึ้นจากเอ็นกดทับเส้นประสาทตรงข้อมือ ซึ่งอาจสามารถแก้ไขได้ โดยลดการใช้งานของมือข้างที่มีอาการนั้น ๆ ลง เลี่ยงท่าทางที่ทำให้เกิดอาการชา เปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ หรือถ้าเป็นมากอาจจะต้องฉีดยาที่ข้อมือเพื่อบรรเทาอาการ

2.2 ชาเป็นแถบตั้งแต่แขนลงไปถึงนิ้วมือ

อาการชาประเภทนี้ มักเกิดขึ้นจากกระดูกต้นคอเสื่อม และมีผลต่อการกดทับเส้นประสาท หากรู้สึกเช่นนี้ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาต่อไป

3. รู้สึกชาที่เท้าอย่างเดียว

3.1 ชาหลังเท้าขึ้นมาถึงหน้าแข้ง

อาการชาประเภทนี้เกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับบริเวณใต้เข่าด้านนอก อาจเป็นเพราะนั่งไขว่ห้าง นั่งขัดสมาธิ หรือนั่งพับเพียบนานเกินไป วิธีแก้คือหลีกเลี่ยงท่านั่งเหล่านี้ และไม่ควรใช้อะไรรองใต้ข้อพับเข่าเวลานอน

3.2 ชาฝ่าเท้า

อาการชาประเภทนี้เกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับที่ตาตุ่มด้านในหรือในอุ้งเท้า วิธีป้องกัน คือหลีกเลี่ยงท่าทางที่จะทำให้ชา และลดการยืนหรือเดินนาน ๆ หรือควรเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ

3.3 ชาปวดร้าวจากสะโพกลงไปถึงเท้า

อาการชาประเภทนี้เกิดจากหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท นับว่าเป็นอาการที่รุนแรง และหากรักษาผิดวิธีอาจจะทำให้พิการได้ ควรปรึกษาแพทย์โดยด่วน

อาการชาตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกายไม่ใช่เรื่องที่ควรละเลยหรือมองข้าม การรักษาผิดวิธี อาจทำให้อาการทรุดลงได้ ดังนั้นหากไม่แน่ใจในอาการที่เป็นอยู่ ควรปรึกษาแพทย์ รวมถึงการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันสาเหตุของอาการชาจากโรคปลายประสาทอักเสบ เช่น รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เลิกดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ เปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการกดทับของเส้นประสาทในกรณีที่สาเหตุเกิดจากการกดทับ ปรับรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวัน

หากมีอาการที่ใกล้เคียงอย่างกับอาการดังกล่าว หรือสงสัยว่าอาจจะเป็นโรคปลายประสาทอักเสบ ควรปรึกษาแพทย์ หรือสามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองเบื้องต้นจากสถานพยาบาลทั่วประเทศ รวมถึงเข้าร่วมกิจกรรมตรวจคัดกรอง
เบื้องต้นโรคปลายประสาทอักเสบที่จัดโดย บริษัท เมอร์ค จำกัด โดยสามารถติดตามข่าวสารตารางกิจกรรมได้
ทุกเดือนที่ FB เพจอย่าเฉย เมื่อชา (https://www.facebook.com/careyournerve/)

โรคปลายประสาทอักเสบ

Credit Info:  https://www.facebook.com/careyournerve/, http://www.rajavithi.go.th, http://www.pharmacy.mahidol.ac.th