จับสัญญาณ ผื่นคันอันตราย

พญ.ปณิชา ตั้งตรงจิตร

0
122614

ผื่น…อาการทางผิวหนังที่หลาย ๆ คนคงจะต้องเคยพบเจอ และมักจะสร้างทั้งความรำคาญและความกังวลใจให้กับผู้ป่วยได้ไม่น้อย เพราะนอกจากจะไม่น่าดูแล้ว ยังทำให้คนรอบข้างมองเราแปลก ๆ อีกด้วย ผื่นผิวหนัง (Rash) เกิดจากความผิดปกติในด้านสีและสัมผัสของผิวหนัง มักจะเกิดจากการอักเสบหรือการระคายเคืองที่บริเวณนั้น ๆ ผื่นผิวหนังจริง ๆ แล้วมีหลากหลายประเภท และเกิดจากหลายโรค ไม่จำเป็นต้องเป็นโรคหรือความผิดปกติของผิวหนังเพียงอย่างเดียว

ผื่นที่พบบ่อย

ผื่นผิวหนังมีมากมายหลายสิบประเภท แต่ที่พบบ่อยมักจะหนีไม่พ้น 2-3 ประเภทนี้ นั่นก็คือ

  1. ผื่นแดงนูน (Maculopapular rash) เป็นชนิดที่พบมากที่สุดในบรรดาผื่นทั้งหมด มักมีลักษณะเป็นสีแดง ชมพู หรืออาจจะออกม่วง ขนาดมีทั้งใหญ่และเล็ก เมื่อสัมผัสจะรู้สึกว่าบริเวณที่มีอาการนั้นนูนขึ้นกว่าบริเวณโดยรอบ อาจมีอาการคันร่วมด้วย ผื่นชนิดนี้เกิดจากหลายสาเหตุ โดยมากมักเกิดจากอาการแพ้หรือระคายเคืองผิวหนัง ไม่ว่าจะเป็นการแพ้โดยตรงจากสารก่ออาการแพ้ที่มาสัมผัสผิว หรือการแพ้ที่เกิดขึ้นจากการกินสารก่อภูมิแพ้เข้าไป อาทิ แพ้อาหารทะเล แพ้ยา เป็นต้น
  2. ผื่นผิวหนังอักเสบ (Eczema dermatitis, Atopic dermatitis) ผื่นชนิดนี้อาจมีลักษณะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล แต่ส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นในรูปแบบของผื่นแดง มักขึ้นที่ผิวหนังบริเวณด้านนอกของข้อพับ เช่น บริเวณหัวเข่าหรือข้อศอก แต่ก็อาจพบที่อื่นได้เช่นกัน เช่น ลำตัว ลำคอ หรือศีรษะ ผื่นชนิดนี้มักจะมีขุยขาวเหมือนผิวแห้งลอก และมักมีอาการคัน ผื่นชนิดนี้ไม่มีสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด แต่สัมพันธ์กับความเครียดหรือการพักผ่อนน้อย มีบ้างกลุ่มที่เกิดจากอาการแพ้หรือระคายเคืองผิวหนังได้เช่นกัน
  3. ผื่นแพ้สัมผัส (contact dermatitis) แตกต่างจากผื่น 2 ชนิดที่กล่าวมาตรงที่ผื่นชนิดนี้มักจะขึ้นเฉพาะที่ เป็นแค่บริเวณที่สัมผัสกับสิ่งที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ ในขณะที่ผื่นอีก 2 ชนิดที่กล่าวมามักขึ้นได้ทั่วตัว ผื่นชนิดนี้มีอาการแสดงได้หลากหลายตั้งแต่เป็นผื่นแดงนูนธรรมดา ไปจนถึงมีตุ่มน้ำใสหรือมีหนองจากการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ผื่นแบบนี้เกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับสารก่อภูมิแพ้

ผื่นแบบไหนต้องไปพบแพทย์

ผื่นทั้ง 3 ชนิดที่กล่าวมาข้างต้นเป็นแค่เพียงส่วนหนึ่งในผื่นหลายสิบชนิดที่สามารถเกิดขึ้นได้เท่านั้น แต่เราจะทราบได้อย่างไร ว่าผื่นแบบไหนที่ควรจะต้องไปพบแพทย์

  • ผื่นที่มีตุ่มสีดำคล้ำคล้ายเลือดเก่า ๆ อาจพบร่วมกับอาการที่ผิวหนังบริเวณโดยรอบบวมแดงมากขึ้น และมีอาการปวด นี่อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อในเนื้อเยื่อชั้นลึก หรือแม้กระทั่งอาการแพ้อย่างรุนแรง
  • ผื่นที่เกิดขึ้นหลังจากได้รับยาหรือสารที่ไม่เคยได้มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นยาหรืออาหารก็สามารถก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ทั้งสิ้น ในกรณีนี้อาจต้องไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยการแพ้ยา เพื่อระมัดระวังในการให้ยาในครั้งต่อ ๆ ไป
  • ผื่นที่มีอาการอื่นร่วมด้วย อาทิ อาการหอบหายใจเสียงวี้ด หน้ามืด ใจสั่น ท้องเสีย และเกิดหลังจากได้รับสารกระตุ้นภูมิแพ้เข้าไป อาการเหล่านี้เป็นอาการแสดงของอาการแพ้อย่างรุนแรง จำเป็นต้องได้รับการรักษาเร่งด่วน เนื่องจากอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
  • ผื่นร่วมกับอาการไข้ มักเป็นอาการของไข้ออกผื่น พบมากโดยเฉพาะในเด็ก

การดูแลตัวเองเมื่อเกิดผื่นคัน

สำหรับผื่นโดยทั่ว ๆ ไปมักจะไม่มีอันตรายร้ายแรงหรือถึงแก่ชีวิต หากแต่สร้างความรำคาญและทำให้ไม่สบายเนื้อสบายตัว วันนี้ผู้เขียนมีหลักการดูแลตัวเองเมื่อเกิดผื่นคันมาฝากค่ะ

  • หลีกเลี่ยงการทำความสะอาดมากเกินไป ไม่ใช่ผื่นทุกชนิดจะเกิดจากความสกปรก ตรงกันข้าม…มีผื่นแค่จำนวนหนึ่งเท่านั้นที่เกิดจากความสกปรก ผื่นส่วนใหญ่เกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เกราะป้องกันของผิวหนังอ่อนแอลง การใช้สารทำความสะอาดที่รุนแรง รวมถึงการทำความสะอาดบ่อยครั้งมากเกินไปจะทำให้น้ำมันที่ผิวสร้างขึ้นเพื่อเป็นเกราะป้องกันถูกชะล้างไป ทำให้ผิวบอบบาง เสี่ยงต่อการติดเชื้อแทรกซ้อนมากขึ้น
  • ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว ทำได้หลายวิธี ตั้งแต่การใช้สบู่อ่อนทำความสะอาดผิว ทาครีมหรือโลชั่น หากผิวได้รับการระคายเคืองอย่างมากอาจเลือกใช้น้ำมันมะกอกเพื่อจำกัดปริมาณสารเคมีที่จะต้องสัมผัสผิวลง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดการแพ้เพิ่มเติม
  • หลีกเลี่ยงสาเหตุของการเกิดผื่น ไม่ว่าจะเป็นสารก่อการระคายเคืองที่ผิวหนังโดยตรง เช่น น้ำหอม โลชั่น หรือสารเคมีต่าง ๆ หรือการกินสารที่ก่อให้เกิดการแพ้ เช่น อาหารทะเล เป็นต้น
  • งดการเกาและการขูดขีดผิวหนังบริเวณนั้น อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าผิวที่เกิดผื่นเป็นผิวที่บอบบางและอ่อนแอเป็นพิเศษ การแกะเกาหรือขูดขีดนอกจากจะมีโอกาสสูงที่จะทำให้ผื่นลามแล้ว ยังเป็นการทำลายเกราะป้องกันผิว ทำให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนในบริเวณนั้นได้มากขึ้นอีกด้วย

Resource: HealthToday Magazine, No.196 August 2017