รศ.พญ.งามจิตต์ เกษตรสุวรรณ – ทุ่มเทเต็มที่ ทำให้ดีที่สุด

0
7448
รศ.พญ.งามจิตต์ เกษตรสุวรรณ

ดวงตาเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญมากต่อการดำรงชีวิต ปัญหาดวงตาบางอย่างอาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นได้หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม อย่างไรก็ตามด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ ปัจจุบันเราจึงมี
องค์ความรู้และเครื่องมือที่ช่วยให้การวิเคราะห์ วินิจฉัย และการรักษาเป็นไปอย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่จะทำอย่างไรให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้มากที่สุด Health Influencer ฉบับนี้ขอนำเสนอบทสัมภาษณ์ของ รศ.พญ.งามจิตต์ เกษตรสุวรรณ หัวหน้าศูนย์เลเซอร์สายตาจุฬาฯ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ต้นแบบสุขภาพผู้รับผิดชอบงานด้วยความทุ่มเท ทั้งงานด้านการเรียนการสอนและการรักษา ด้วยมุ่งหวังให้ผู้ป่วย
ทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาได้โดยเท่าเทียมกันและได้รับการรักษาที่ดีที่สุด ผลของความทุ่มเทตลอดระยะเวลาหลายปีของการทำหน้าที่แพทย์และอาจารย์ คุณหมอจึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็น ‘ข้าราชการพลเรือนดีเด่น ประจำปี พ.ศ.2559’

ปัญหาดวงตาที่น่าเป็นห่วงในปัจจุบัน

เมื่อกล่าวถึงปัญหาด้านดวงตา คงต้องบอกว่ามีความคล้ายคลึงกับปัญหาสุขภาพด้านอื่น ๆ คือมีทั้งสาเหตุที่ป้องกันได้และป้องกันไม่ได้ ในประเทศไทยปัญหาที่น่ากังวลในตอนนี้แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ กลุ่มโรคที่ส่งผลให้ตาบอดหรือสายตาเลือนราง ซึ่ง 4 โรคหลักที่พบจากการสำรวจ ได้แก่ ต้อกระจก โรคของจอตา (เช่น จอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ และเบาหวานขึ้นตา เป็นต้น) ต้อหิน และกระจกตาพิการ อีกกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบัน ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ได้แก่ Computer vision syndromes จากการใช้คอมพิวเตอร์ แทบเล็ต หรือ
มือถืออย่างไม่เหมาะสม และกระจกตาติดเชื้อจากการใช้คอนแทคเลนส์ตาโต ซึ่งอย่างหลังนี้อาจารย์
งามจิตต์ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า

“กระจกตาติดเชื้อจากคอนแทคเลนส์ตาโตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนใหญ่พบในเด็กวัยรุ่น ถึงแม้จะมีการรณรงค์ให้ความรู้ แต่ก็ได้ผลในระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะกระแสความสวยงามมาแรงมาก เด็ก ๆ คิดว่ามีตาดำโตแล้วสวย จึงนิยมใช้คอนแทคเลนส์ตาโต แต่ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ขาดความรู้ ขาดการใส่ใจเรื่องความสะอาด หรือด้วยความเป็นเด็ก มีเงินไม่มาก บางทีก็ซื้อมาแบ่งกันใช้กับเพื่อน ทำให้กระจกตาติดเชื้อได้ ซึ่งเราเคยเจอเคสลักษณะนี้มาแล้ว”

จะเห็นได้ว่าปัญหากระจกตาติดเชื้อจากคอนแทคเลนส์ตาโตนั้นเป็นสิ่งที่เราสามารถป้องกันได้ จึงควรพิจารณาให้รอบคอบก่อนตัดสินใจใช้

รศ.พญ.งามจิตต์ เกษตรสุวรรณ

ศูนย์เลเซอร์สายตาจุฬาฯ การรักษาครบวงจร

ศูนย์เลเซอร์สายตาจุฬาฯ เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ.2540 จุดมุ่งหมายเพื่อให้การรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะสายตาผิดปกติ ได้แก่ สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง และสายตายาวสูงอายุ แต่นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะปัจจุบันศูนย์เลเซอร์สายตาจุฬาฯ ได้ขยายการรักษาให้ครอบคลุมปัญหาของผู้ป่วยที่มารับการรักษา โดยให้การรักษาเพิ่มเติมในอีก 3 ส่วน ได้แก่ ปัญหาตาแห้ง ปัญหาเปลือกตา และปัญหากระจกตาโก่ง ซึ่งศูนย์เลเซอร์สายตาจุฬาฯ เป็นเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ณ ตอนนี้ที่ให้การรักษาโรคกระจกตาโก่งแบบครบวงจร

“เดิมทีศูนย์นี้ตั้งอยู่ที่อาคาร ภปร. ชั้น 11 แต่เนื่องจากผู้ป่วยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2558 จึงได้มีการปรับปรุงและย้ายสถานที่มาอยู่ที่อาคาร 14 ชั้น เพื่อความเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยที่มารับการรักษา ตรงกับช่วงที่หมอรับเป็นหัวหน้าศูนย์พอดี ซึ่งในการรักษาภาวะสายตาผิดปกติ เราพบว่าผู้ป่วยบางส่วนแฝงด้วยโรคบางอย่าง เช่น โรคกระจกตาโก่ง ผู้เป็นโรคนี้จะมีกระจกตาที่อ่อนแอ ส่งผลให้กระจกตาบางลงเรื่อย ๆ ร่วมกับกระจกตาโก่งมาด้านหน้าเป็นรูปกรวย ในผู้ป่วยระยะเริ่มแรกอาจไม่มีอาการ แต่เมื่อโรคเป็นมากขึ้น ผู้ป่วยมักมีการมองเห็นที่แย่ลงและค่าสายตาเปลี่ยนแปลงบ่อย ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้ส่วนใหญ่มักมาด้วยอาการสายตาสั้นหรือเอียง และไม่รู้ว่าตนเองเป็นโรคนี้ คิดว่าเป็นสายตาผิดปกติแบบทั่ว ๆ ไป ทางศูนย์ฯ จึงขยายการรักษาให้ครอบคลุมส่วนนี้ด้วยเพื่อที่ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาที่ครบวงจร ไม่ต้องเสียเวลาไปเริ่มต้นการรักษาที่อื่น ปัจจุบันเราเป็นศูนย์เดียวในประเทศไทยที่มีการรักษาโรคกระจกตาโก่งแบบครบวงจร มีอุปกรณ์และเครื่องมือที่ครบครัน โดยบางส่วนได้มาจากการรับบริจาคจากผู้ป่วยหรือผู้บริจาคซึ่งเห็นถึงความสำคัญและเชื่อมั่นในความตั้งใจจริงของทีมแพทย์และบุคลากรประจำศูนย์ฯ ในการที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยโรคกระจกตาโก่ง จึงขอขอบคุณผู้บริจาคทุกท่านมา ณ โอกาสนี้ด้วยค่ะ

สำหรับการรักษาโรคกระจกตาโก่งนั้นทำได้หลายวิธี ได้แก่ การใช้แว่นสายตา การใช้คอนแทคเลนส์ ที่ตอนนี้เราได้มีการนำคอนแทคเลนส์รูปแบบใหม่ ๆ ที่ตอบสนองต่อโรคกระจกตาโก่งเพื่อให้เหมาะสมยิ่งขึ้น การใส่วงแหวนที่กระจกตา การฉายแสง UV Cross-linking และในกรณีที่กระจกตาโก่งรุนแรงมาก ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีการข้างต้น ก็จะใช้วิธีการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา ซึ่งเราจะส่งตัวผู้ป่วยไปที่ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการปลูกถ่ายกระจกตาของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

รศ.พญ.งามจิตต์ เกษตรสุวรรณนอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยบางส่วนที่มาแก้ไขสายตาผิดปกติ เช่น มาทำเลสิก การทำรีเล็กซ์ ผู้ป่วยกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ใส่คอนแทคเลนส์ จึงมักมีปัญหาตาแห้ง เราจึงขยายเรื่องของการวิเคราะห์และการรักษาตาแห้งเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งส่วน โดยปกติน้ำตาของคนเราจะมี 3 ชั้น และด้วยเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัยของศูนย์ฯ เราสามารถวิเคราะห์ได้เลยว่าความผิดปกตินั้นเกิดขึ้นที่น้ำตาชั้นใด ซึ่งเป็นที่เดียวอีกเช่นกันที่มีเครื่องมือที่สามารถวิเคราะห์น้ำตาได้ทุกชั้น ทำให้เราเจาะการรักษาได้เป็นชั้น ๆ ไป แก้ไขปัญหาตาแห้งชนิดต่าง ๆ ได้ถูกต้องเหมาะสมยิ่งขึ้น

รศ.พญ.งามจิตต์ เกษตรสุวรรณส่วนการตรวจรักษาเปลือกตาอักเสบนั้นเชื่อมโยงมาจากปัญหาตาแห้ง เพราะผู้ป่วยตาแห้งส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากเปลือกตาอักเสบซึ่งส่งผลต่อชั้นน้ำมันของน้ำตา ทำให้ขาดคุณสมบัติในการป้องกันการระเหยของน้ำตาส่วนที่เป็นน้ำ เกิดเป็นโรคตาแห้งชนิดหนึ่งได้ เราจึงดูแลเรื่องเปลือกตาให้ด้วย ทั้งหมดนี้คือ 3 ส่วนการรักษาที่ขยายเพิ่มเติมเข้ามา ณ ตอนนี้”

สำหรับท่านที่ต้องการเข้ารับการตรวจรักษาปัญหาสายตา สามารถติดต่อสอบถามได้โดยตรงที่ศูนย์เลเซอร์สายตาจุฬาฯ หมายเลขโทรศัพท์ 0 2649 4041 หรือเข้าดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Facebook: chulaeyelasercenter

โครงการในปัจจุบันและอนาคต

นอกจากการรักษาปัญหาสายตาผิดปกติและส่วนงานที่ขยายเพิ่มขึ้นทั้ง 3 ส่วนแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ศูนย์เลเซอร์สายตาจุฬาฯ ให้ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันก็คือ การให้ความรู้ด้านวิชาการแก่บุคลากรทางการแพทย์และความรู้
ภาคประชาชน โดยในด้านวิชาการ ทางศูนย์ฯ ได้มีการประชุมปรึกษากับฝ่ายบริหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเปิดศูนย์ฝึกอบรมระดับนานาชาติ (International training center) เกี่ยวกับการรักษาปัญหาสายตาผิดปกติและโรคกระจกตาโก่ง ส่วนในภาคประชาชนได้มีการจัดกิจกรรมให้ความรู้ในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งการให้ข้อมูลความรู้ผ่านสื่อออนไลน์ เช่น Facebook เป็นต้น

“เรื่องการฝึกอบรม อันที่จริงเรามีจัดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศบ้างแล้ว โดยจัดเป็นคอร์ส มีทั้งแพทย์ พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ส่วนอื่น ๆ ที่มีส่วนในการดูแลผู้ป่วย มีการจัดเวิร์คชอปการรักษากระจกตาโก่ง เพื่อที่คุณหมอด้านกระจกตาจะได้ทำการรักษาได้อย่างถูกต้อง เพราะเราเจอเคสผู้ป่วยกระจกตาโก่งจำนวนมากขึ้น แสดงให้เห็นว่ามีผู้คนที่มีปัญหากระจกตาโก่งอยู่จำนวนไม่น้อยเลย นอกจากการฝึกอบรมให้กับบุคลากรในประเทศแล้ว ด้วยความพร้อมของศูนย์ฯ เราจึงเห็นควรที่จะขยายการฝึกอบรมให้ไปสู่ระดับนานาชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมแบบลงลึก มีการเข้าเคสจริง ซึ่งเราเตรียมความพร้อมมาตั้งแต่ต้นแล้ว ถ้ามีการประสานมาจากต่างประเทศ เราก็พร้อมที่จะจัดการฝึกอบรมให้ได้เลย คาดว่าภายในปีนี้น่าจะได้มีการจัดการฝึกอบรม

ในภาคประชาชน ทางศูนย์ฯ ได้มีการให้ความรู้ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ร่วมกับโรงพยาบาลจุฬาฯ จัดสัมมนาในหัวข้อต่างๆ เช่น ตาแห้ง การจัดทำวิดีโอและแผ่นพับให้ความรู้ต่าง ๆ สำหรับผู้ป่วยที่เข้ารับบริการที่ศูนย์ฯ ได้ศึกษาเพิ่มเติม เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมทั้งก่อนและหลังเข้ารับการรักษา แต่เนื่องจากบุคลากรในศูนย์ฯ มีจำกัด ข้อมูลบางอย่างอาจจะยังไม่ครบถ้วน แต่เราจะพยายามทยอยทำออกมาให้มากขึ้นค่ะ

นอกจากนี้เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เรายังได้จัดกิจกรรม “วันครอบครัวกระจกตาโก่ง” หรือ “KC Family Day” (KC ย่อมาจาก Keratoconus ที่แปลว่า กระจกตาโก่ง) โดยมีคุณแต้ว ณัฐพร เตมีรักษ์ และคุณโอม ปัณฑพล ประสารราชกิจ นักร้องนำวง Cocktail มาร่วมงานด้วย จุดประสงค์ของการจัดงานก็เพื่อให้คนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคกระจกตาโก่งมากขึ้น เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นเนื่องจากพบว่าโรคนี้สัมพันธ์กับการขยี้ตาอย่างรุนแรง และหากเป็นแล้วไม่ได้รับการรักษาหรือการดูแลที่เหมาะสมอาจทำให้กระจกตาพิการหรือตาบอดได้”

อาจารย์งามจิตต์ได้เล่าเพิ่มเติมถึงที่มาที่ไปของการจัดงานครอบครัวกระจกตาโก่งด้วยว่า จุดเริ่มต้นจริง ๆ มาจาก
ผู้ป่วย ซึ่งรวมตัวกันสร้างกลุ่มไลน์ เพื่อแชร์ประสบการณ์ แบ่งปันข้อมูลในการดูแลตนเองทั้งก่อนและหลังการรักษา รวมทั้งถามไถ่อาการและผลการรักษา เป็นมิตรภาพดี ๆ ระหว่างผู้ป่วยที่ช่วยดูแลซึ่งกันและกัน และเป็นจุดตั้งต้นให้ศูนย์ฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับโรคกระจกตาโก่งให้เป็นที่รู้จักแก่ประชาชนในวงกว้าง สร้างความตระหนักรู้ พร้อมทั้งแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องเหมาะสม ปัจจุบันสมาชิกในกลุ่มไลน์ผู้ป่วยโรคกระจกตาโก่งยังคงมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

รศ.พญ.งามจิตต์ เกษตรสุวรรณทำดีที่สุดเพื่อผู้ป่วย

แน่นอนว่าในการทำงานไม่ว่าจะอาชีพใดล้วนต้องผ่านพบกับอุปสรรคด้วยกันทั้งนั้น การรักษาผู้ป่วยก็เช่นเดียวกัน แต่ไม่ว่าปัญหานั้นจะยุ่งยากซับซ้อนขนาดไหน สิ่งหนึ่งที่อาจารย์งามจิตต์ยึดถือปฏิบัติตลอดมาก็คือ ‘ทำดีที่สุดเพื่อผู้ป่วย’

“ในการรักษา เราจะยึดผู้ป่วยเป็นหลัก โดยผู้ป่วยจะต้องได้รับสิ่งที่ดีที่สุด ถูกต้องที่สุด เป็นไปตามมาตรฐานการรักษา ในกรณีที่ติดปัญหาหรือเจอเคสที่ไม่ตรงไปตรงมา เราจะประชุมปรึกษาหารือร่วมกัน ช่วยกันดูว่าเรายังขาดการวิเคราะห์ส่วนใดไปหรือไม่ ถ้าไม่มี ก็จะปรึกษากันในขั้นตอนต่อไปว่าจะใช้วิธีการใดในการรักษา ซึ่งจุดนี้เป็นสิ่งที่แพทย์ควรจะทำ เพราะต้องยอมรับว่าเราไม่ได้รู้ทุกอย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ แพทย์ทุกคนต้องมีความรู้ ใฝ่หาความรู้ รวมทั้งมีความมั่นใจในการรักษาที่ได้มาตรฐาน อย่างไรก็ตามหากมีกรณีเคสที่ซับซ้อน ยิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวัง การทบทวน หาความรู้เพิ่มเติม รวมทั้งปรึกษาทีมงาน จะทำให้เราสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น ให้คิดไว้เสมอว่าดวงตาของผู้ป่วยก็เหมือนดวงตาของเรา เพราะฉะนั้นการปรึกษากันของทีมแพทย์จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากในความคิดของหมอ เพื่อให้
ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ดีที่สุด”

ไม่เพียงเป็นการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกันเท่านั้น แต่ทีมแพทย์ของศูนย์ฯ ยังได้ใช้โอกาสนี้ในการสอนแพทย์ประจำบ้านและแพทย์ประจำบ้านต่อยอดอีกด้วย เรียกได้ว่า ปรึกษาไปด้วย สอนไปด้วย ได้ประโยชน์ครบทุกทางอย่างแท้จริง

ความเข้าใจผิด ความคิดที่ควรเปลี่ยน

จากการสอบถามอาจารย์งามจิตต์ในประเด็นความรู้ความเข้าใจของประชาชนในการดูแลดวงตา พบว่ามีหลายเรื่องที่ประชาชนบางกลุ่มยังเข้าใจผิดหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์อยู่ ยกตัวอย่างเช่น การใช้น้ำนมแม่หยอดตาแก้อักเสบ เป็นความเชื่อของคนในสมัยโบราณที่ยังพบได้ตามต่างจังหวัด วิธีนี้นอกจากจะไม่ช่วยอะไรแล้ว ยังอาจทำให้ตาอักเสบมากขึ้นอีกด้วย การนวดตา ในคนปกติอาจจะยังไม่เกิดปัญหาอะไร แต่สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาดวงตาอยู่แล้ว เช่น ผู้ป่วยโรคต้อหิน การกดนวดบริเวณดวงตาจะส่งผลให้ความดันลูกตาเพิ่มสูงขึ้นและไปกดขั้วประสาทตา ทำให้ขั้วประสาทตาเสียไปได้ การนวดผิด ๆ ถูก ๆ จึงมีแต่ข้อเสีย ไม่ควรทำ การขยี้ตา ปัจจุบันมีหลักฐานชัดเจนว่าการขยี้ตาอย่างรุนแรงสัมพันธ์กับการเกิดกระจกตาโก่ง โดยพบว่าผู้ป่วยโรคกระจกตาโก่งบางส่วนมีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้มาก่อน และมีการขยี้ตาที่รุนแรงโดยใช้ข้อนิ้ว จึงต้องระมัดระวังเรื่องการขยี้ตาไว้ด้วย

“อีกปัญหาหนึ่งที่พบมากคือการถูกเศษสิ่งของเข้าตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเกษตรกรที่มักจะถูกใบไม้หรือกิ่งไม้ข่วนตา ทำให้กระจกตาติดเชื้อจากแบคทีเรียหรือเชื้อราชนิดต่าง ๆ ซึ่งเชื้อบางชนิดมีความรุนแรงมาก ผู้ป่วยที่ถูกส่งตัวมาที่โรงพยาบาล ส่วนใหญ่จะเป็นเคสที่ติดเชื้อที่รุนแรงมาก ตาเกือบบอดตลอด จึงอยากแนะนำให้เกษตรกรเพิ่มความระมัดระวังในการทำงานให้มากขึ้น รวมทั้งสวมแว่นตาขณะทำงาน หากโดนกิ่งไม้หรือเศษสิ่งของอื่นบาดตาให้รีบมาหาหมอทันที อย่าปล่อยทิ้งไว้ อย่านำสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่มั่นใจมาหยอดตา รวมทั้งอย่าไปซื้อยามาหยอดเอง เพราะยา
บางอย่างสามารถกระตุ้นให้เชื้อราเพิ่มจำนวนขึ้นมาได้ ในขณะที่ยาบางอย่างทำให้อาการแสดงของแผลติดเชื้อเปลี่ยนแปลงไป หมอจึงวินิจฉัยได้ยาก ดังนั้นถ้าเจอแบบนี้ให้รีบมาหาหมอทันทีดีที่สุดค่ะ” อาจารย์งามจิตต์กล่าวเสริม

รศ.พญ.งามจิตต์ เกษตรสุวรรณจัดสรรเวลาเพื่อคนสำคัญ

ถึงแม้จะมีงานล้นมือ แต่อาจารย์งามจิตต์ก็สามารถสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและการดูแลครอบครัวได้อย่างลงตัว โดยไม่ลืมที่จะให้เวลากับตัวเองด้วยเช่นกัน สำหรับใครที่กำลังประสบปัญหาเรื่องการแบ่งเวลา แนวคิดของอาจารย์อาจช่วยให้คุณพบทางออก

“หมอมองว่าการทำงานไม่ว่าจะอาชีพอะไร เราต้องมีความ
รับผิดชอบต่องานที่ทำ พยายามทำให้ดีที่สุด และในขณะเดียวกันก็ต้องแบ่งเวลาดูแลครอบครัวและคุณพ่อคุณแม่ด้วย หมอเชื่อว่าไม่ว่าเราจะยุ่งแค่ไหนก็น่าจะแบ่งเวลาได้ ถ้าเราคิดว่าเขามีความสำคัญ ยังไงก็แบ่งได้แน่นอน โดยเฉพาะเด็ก ๆ เราต้องปลูกฝังเขาตั้งแต่เล็ก ๆ สอนสิ่งดี ๆ ให้เขา สอนว่าสิ่งที่ดีคืออะไร ความเสียสละคืออะไร ซึ่งเป็นสิ่งที่ครอบครัวของเราสอนกันอยู่เสมอ ตอนที่ลูกสองคนของหมอยังเด็ก ๆ หมอจะขับรถไปรับไปส่งพวกเขา และใช้ช่วงเวลานั้นในการสอนเขา มีอะไรก็พูดคุยปรึกษากัน นอกจากแบ่งเวลาให้ลูกให้ครอบครัวแล้ว ต้องไม่ลืมแบ่งเวลาให้
คุณพ่อคุณแม่ด้วย กลับไปดูแลท่าน พาท่านไปทานข้าว ไปเที่ยว หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ร่วมกันบ้าง วันเสาร์หมอจะทำงานแค่ครึ่งวัน และหยุดวันอาทิตย์เต็มวัน ก็จะแบ่งเวลาตรงนี้ไปหาคุณแม่ ดูแลครอบครัว ตอนนี้เริ่มมีเวลาส่วนตัวมากขึ้นเพราะลูก ๆ โตกันหมดแล้ว คนโตเพิ่งเรียนจบวิศวะ ส่วนคนเล็กกำลังเรียนแพทย์ปี 3 อยู่ที่จุฬาฯ เวลาส่วนตัวก็มีไปทานข้าวกับเพื่อนบ้างนิดหน่อย หรือไม่ก็ใช้เวลาช่วงวันหยุดเก็บบ้าน ดูแลบ้าน สำหรับงานอดิเรกส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับครอบครัว อย่างลูกสาวชอบทำกับข้าว ทำขนม เราก็ไปเป็นผู้ช่วย เปิดดูวิธีทำจากยูทูป เราชอบงานฝีมือ ลูกสาวชอบทำอาหาร เพราะฉะนั้นงานอดิเรกจะไปด้วยกันได้ ส่วนลูกชายชอบไปฟิตเนส คุณแม่ก็จะไปด้วยน้อยหน่อย (หัวเราะ)”

และนี่คือ วิธีสมดุลงาน สมดุลชีวิต สไตล์ รศ.พญ.งามจิตต์ เกษตรสุวรรณ ต้นแบบสุขภาพผู้ทุ่มเทด้านการรักษาเพื่อสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วย

 

Resource: HealthToday Magazine, No.207 July 2018