โรคเอ็นซีดี (โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น อ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด มะเร็ง เป็นต้น) เป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของคนไทย โดยกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของการตายของคนไทย (ตายปีละ 5 แสนกว่าคน) มีสาเหตุจากกลุ่มโรคนี้
ปี 2560 มลพิษในอากาศ รวมทั้งพีเอ็ม 2.5 (ฝุ่นพิษขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน) เกี่ยวข้องกับการตายของคนไทยเป็นอันดับ 7 ของการตายและภาระโรคทุกสาเหตุของคนไทย เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 ใน 10 ปีที่ผ่านมา
ปี 2563 โรคโควิด-19 (จากเชื้อโคโรนาไวรัส 2 หรือ SARS-CoV2) เป็นเหตุให้คนไทยเราติดเชื้อฯ 3 พันกว่าคน เสียชีวิต 50 กว่าคน แม้การป่วย พิการ เสียชีวิต จะไม่มากนัก แต่ก็ส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจของคนไทยในปัจจุบันโดยถ้วนหน้า
เอ็นซีดี พีเอ็ม 2.5 โคโรนาไวรัส เกี่ยวข้อง-สัมพันธ์ กันอย่างไร
ปัจจัยเสี่ยงที่สัมพันธ์กับการเพิ่มโรคเอ็นซีดี ได้แก่ เอ็นซีดีโรคหนึ่ง เพิ่มโอกาสเกิดโรคเอ็นซีดีอีกโรคหนึ่ง หรือ หลายๆ โรคตามมา เช่น ความอ้วน-อ้วนลงพุง สัมพันธ์กับการเพิ่มโอกาสเป็นโรคเบาหวาน โรคเบาหวาน เพิ่มโอกาสเป็นอัมพาต (โรคหลอดเลือดสมอง) ตามมา เป็นต้น
นอกจากนี้ ปัจจัยทางด้านจิตใจ เช่น ซึมเศร้า ความเครียด ก็ส่งผลสัมพันธ์กับการเพิ่มโรคเอ็นซีดี เช่น ความอ้วน (ดัชนีมวลกายเกิน 30 กก./ตร.ม.) สัมพันธ์กับการเพิ่มภาวะซีมเศร้า 55% และซึมเศร้าก็สัมพันธ์กับการเพิ่มโอกาสอ้วน 58% เป็นต้น
ผู้ป่วยโรคโควิด-19 จากการติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2 ที่ป่วยจนต้องนอนโรงพยาบาล หรือที่ป่วยหนักจนการหายใจ
ล้มเหลวหรือเสียชีวิต มีโรคเอ็นซีดีเป็นปัจจัยสำคัญ คือ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน อ้วน โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น ส่วนผู้ที่มีโรคเอ็นซีดีจะเพิ่มโอกาสติดโควิด-19 มากกว่าผู้ที่ไม่มีเอ็นซีดีหรือไม่ อย่างไร ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาไปข้างหน้าเปรียบเทียบที่ชัดเจน
ผู้ป่วยเอ็นซีดีที่พบมากในเมืองใหญ่ เพิ่มโอกาสได้รับมลพิษในอากาศหรือพีเอ็ม 2.5 โดยเฉพาะภาคเหนือในช่วงหน้าหนาว ในขณะเดียวกัน มลพิษในอากาศในระยะยาวและระยะสั้นก็เพิ่มโอกาสโรคเอ็นซีดี
มลพิษในอากาศหรือพีเอ็ม 2.5 สัมพันธ์กับการเพิ่มโรคเอ็นซีดีหลายโรค เช่น เพิ่มโอกาสโรคเบาหวาน (ทุก 10 mg/m3 PM 2.5 สัมพันธ์กับการเพิ่มเบาหวาน 15 – 17%) เพิ่มโอกาสความดันโลหิตสูงทั้งในระยะสั้น (10%) และระยะยาว (5%) ในชาวอเมริกันสูงอายุระยะเวลา 1-5 ปี เพิ่มโอกาสโรคหัวใจและหลอดเลือด (50 – 110%) ปอดบวมจากการติดเชื้อ (50 – 200%) มะเร็งปอด (10 -32%) เป็นต้น นอกจากนี้ ทุก 10 mg/m3 PM2.5 เพิ่มโอกาสเสี่ยงซึมเศร้าในระยะสั้น 18% และ ระยะยาว 25%
การศึกษาจาก 120 เมืองในประเทศจีน ตั้งแต่ 23 ม.ค. ถึง 29 ก.พ. 2563 พบว่า ทุก 10 mg/m3 PM2.5 ที่เพิ่มขึ้นในช่วง 0 – 14 วันก่อน สัมพันธ์กับการเพิ่มผู้ป่วยโรคโควิด-19 2.24% แต่มาตราการควบคุมโรคระบาด
โควิด-19 เช่น อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ลดการเดินทาง ใช้รถยนต์ ส่งผลให้มลพิษในอากาศและ PM2.5 ลดลง โดยเฉพาะในเมืองที่มีการจราจรแออัด
โรคเรื้อรัง กับ “การอักเสบเรื้อรัง” พร้อมที่จะป่วยด้วยโรคเฉียบพลัน จาก”การอักเสบเฉียบพลัน”
โรคเอ็นซีดีและพีเอ็ม 2.5 เป็นภาวะเรื้อรัง ที่ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังในหลอดเลือดและระบบอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย มากบ้างน้อยบ้าง แม้ว่าจะไม่เกิดอาการผิดปกติอะไร แต่ก็เพิ่มโอกาสการป่วย พิการ หรือเสียชีวิต เมื่อมี
“การอักเสบเฉียบพลัน/รุนแรง” เกิดขึ้น เช่น รับฝุ่นพิษพีเอ็ม 2.5 หรือ ติดเชื้อไวรัสโคโรนา จำนวนมากเกินกว่าร่างกายหรืออวัยวะนั้น ๆ หรือภูมิคุ้มกันโรคจะกำจัดสารพิษ เชื้อโรค ก่อการอักเสบเหล่านี้ได้หมด ได้ทัน จึงเกิดภาวะปอดอักเสบเฉียบพลันจนการหายใจล้มเหลว เกิดลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดฝอยในปอด หรือหลอดเลือดหัวใจตีบตันเฉียบพลัน กล้ามเนื้อหัวใจตาย ล้มเหลว หรือหลอดเลือดสมองตีบ ตัน แตก เกิดอัมพาต เลือดออกในสมอง เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นเหตุให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ด้วยการอักเสบเรื้อรังและเฉียบพลันรุนแรงดังกล่าว
ปัจจัยร่วมของเอ็นซีดี พีเอ็ม 2.5 โคโรนาไวรัส คือ น.ค.ร. 2 ส.
จะเห็นได้ว่า โรคเอ็นซีดี พีเอ็ม 2.5 โคโรนาไวรัส ต่างมีปัจจัยร่วมที่เหมือนกัน เช่น ความอ้วน/อ้วนลงพุง ความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่ การดื่มสุรา และ ความเครียด-ภาวะซึมเศร้า ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดในชีวิตประจำวันเราได้ว่า เราเพิ่ม หรือ ลด โอกาสเสี่ยงภัยคุกคามสุขภาพทั้ง 3 นี้ หรือไม่ ดังนั้น จึงควรชั่ง น. น้ำหนัก วัด ค.ความดันเลือด ร.รอบเอว ละบุหรี่ เลิกเหล้า (สุรา) ประเมินความเครียด เซ็ง ซึม เศร้า ด้วยตนเองเป็นประจำ
น. น้ำหนัก (หน่วยเป็นกิโลกรัม) ไม่ควรหนักเกินกว่า ส่วนสูง (เป็นเมตร) ยกกำลังสอง คูณด้วย 25 (ดัชนีมวลกายไม่ควรเกิน 25 กก./ตร.ม.) เช่น ส่วนสูง 158 เซนติเมตร(หรือ 1.58 เมตร) น้ำหนักไม่ควรเกิน (1.58)2 x 25 = 62.4 กก. ถ้าชั่งน้ำหนักได้มากกว่า 62.4 กก. ถือว่า น้ำหนักเกิน เพิ่มโอกาสเกิดโรคฯ
ค. ความดันเลือด (หน่วยเป็น มม.ปรอท) วัดที่บ้าน ที่ทำงาน หลาย ๆ ครั้ง แล้วหาค่าเฉลี่ย ความดันเลือดตัวบนเฉลี่ยไม่ควรเกิน 135 ตัวล่างไม่ควรเกิน 85 มม.ปรอท ถ้าวัดความดันเลือดได้สูงกว่านี้ ถือว่าความดันเลือดสูง ควรไปพบแพทย์ โดยเฉพาะถ้าความดันเลือดตัวบนสูงเกิน 180 ตัวล่างสูงเกิน 110 มม.ปรอท แสดงว่าความดันเลือดสูงอันตราย ควรไปพบแพทย์ในวันนั้นเพื่อการวินิจฉัยและรักษาทันที เพราะเพิ่มโอกาสตายจากอัมพาตและโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันได้มากกว่าความดันเลือดปกติประมาณ 9 เท่า ความดันเลือดที่ป้องกันโรคฯ ดังกล่าวได้ดีที่สุดคือ ความดันฯ ตัวบนไม่เกิน 120 และ ตัวล่างไม่เกิน 80 มม.ปรอท ยิ่งสูงมาก ยิ่งเสี่ยงมาก
ร. รอบเอว (หน่วยเป็นเซนติเมตร) วัดความยาวรอบเอว ระดับสะดือ ขนานกับพื้น ในขณะหายใจออกสุด ไม่ควรยาวเกิน ส่วนสูง หาร สอง เช่น ส่วนสูง ๑๕๘ เซนติเมตร รอบเอว ไม่ควรเกิน 158 / 2 = 79 เซนติเมตร ถ้าเกินกว่านี้ ถือว่า อ้วนลงพุง เพิ่มโอกาสเกิดโรคฯ
ส. สูบบุหรี่ และ ดื่มสุรา ที่ปลอดภัยจากโรคภัยทั้งหลาย คือ 0 มวนต่อวัน และ 0 แก้วต่อวัน (ละบุหรี่ เลิกเหล้า ยาเสพติด)
ตัวอย่าง ผู้ที่สูง 158 เซนติเมตร ก็ควรจำตัวเลข 62 120 80 79 0 0 หมายถึง น.น้ำหนัก ไม่เกิน 62 กก. ค.ความดันเลือดตัวบน ไม่เกิน 120 ตัวล่างไม่เกิน 80 มม.ปรอท ร.รอบเอว ไม่เกิน 79 เซนติเมตร สูบบุหรี่ 0 มวน/วัน ดื่มสุรา 0 แก้ว/วัน เรียกว่า know your numbers/ know your risks หรือ รู้ตัวเลข เบรกโรคไว้ (คือ ตัวเลข น.ค.ร 2 ส. ที่ไม่เกินกว่านี้ จะช่วยป้องกันการเกิดโรคเอ็นซีดี พีเอ็ม 2.5 โคโรนาไวรัส) ถ้าค่าตัวเลข น.ค.ร. 2 ส. ตัวหนึ่งหรือหลายตัวเกินกว่าค่าดังกล่าว ลดได้ ก็ควรพยายามลด ลดไม่ได้ อย่าให้เพิ่มสูงกว่านี้ (“ลดได้ลด ลดไม่ได้ ไม่ให้เพิ่ม”) เพราะค่าที่สูงกว่านี้ เพิ่มโรค (เอ็นซีดี โรคที่เกิดจากพีเอ็ม 2.5 และโคโรนาไวรัส) โดยการคุม
อ. อาหาร อ. อิริยาบถ เคลื่อนไหวออกแรกง ออกกำลังกาย อ.ออกกำลังใจ อ.อากาศบริสุทธิ์ ละบุหรี่ เลิกเหล้า
ยาเสพติด
นอกจากนี้ การให้ทาน รักษาศีล เจริญ สติ (ส.สติ) สมาธิ จนเกิดการปล่อยวางความคิด ความกังวล (ว.วางเฉย) เพื่อลดความเครียด ความคิดฟุ้งซ่าน หรือ การสวด สาธยาย คำสอนของศาสดา ศึกษาใคร่ครวญจนเกิดความปีติยินดี (ย.ยินดี) แก้ความเซ็งซึมเศร้า ก็ยังส่งผลให้ น.ค.ร. 2 ส. ควบคุมได้ดีตามมาด้วย (ส.สติรู้ว่ามีใจที่ฟุ้งซ่านหรือซึมเศร้า ว.วางเฉยแก้ฟุ้งซ่าน ย.ยินดีแก้ซึมเศร้า)
สรุป “ใส่ใจ 4 อ. บอกลา 2 ส. ประเมิน น.ค.ร. ส.ว.ย.” น่าจะเป็น วิถีชีวิตใหม่ new normal นอกจากเป็นการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโควิด-19 แล้ว ยังสร้างภูมิต้านทาน ป้องกัน โรคเอ็นซีดีและผลกระทบจาก
พีเอ็ม 2.5 ได้อีกด้วย
หมายเหตุ สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อการพึ่งตน พึ่งธรรม พ้นภัย โรคร้ายเอ็นซีดี พีเอ็ม 2.5 โคโรนาไวรัส เรื่อง (สองมื้อ หมื่นก้าว ซาวนา อานาฯ เมตตา สมาธิ ปลีกวิเวก หลีกภัย ไม่คลุกคลี) รบกวนส่ง LINE ID มาที่อีเมล์ Somkiat.s@chula.ac.th เพื่อเชิญเข้ากลุ่มไลน์อานาปานสติ มีกิจกรรมสนทนาธรรมเรื่องดังกล่าว ทุกวันพุธ ทาง zoom meeting