Somatic symptoms disorder จัดเป็นความผิดปกติอย่างหนึ่งทางจิตเวชตามเกณฑ์การวินิจฉัยโรคทางจิตเวชฉบับที่ 5 (DSM-5) โดยเป็นความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับร่างกายและจิตใจ อาการสำคัญของภาวะนี้คือผู้ป่วยจะมีความหมกมุ่นหรือกังวลอย่างมากกับอาการเจ็บป่วยทางกายจนมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิต
Somatic symptoms disorder ยังไม่มีคำแปลภาษาไทยอย่างเป็นทางการ ในบทความนี้ผมจึงขอเรียกตามภาษาอังกฤษว่า “ภาวะโซมาติก” ล่ะกันนะครับ
อาการเป็นอย่างไร
ความผิดปกติที่เรียกว่า “ภาวะโซมาติก” นี้ ผู้ป่วยจะมีอาการทางกายบางอย่างซึ่งเป็นอาการที่มีอยู่จริง คือไม่ได้แกล้งเป็นหรือคิดไปเอง โดยอาการที่พบบ่อยได้แก่ อาการปวด (เช่น ปวดท้อง ปวดหัว) หรืออาการทางกายทั่วไปอื่น ๆ เช่น มึนหัว หายใจไม่อิ่ม เป็นต้น แต่ผู้ที่เป็นภาวะโซมาติกจะมีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับอาการนั้น กลัวว่าจะเป็นโรคร้ายแรงถึงแม้ว่าจะได้รับการตรวจอย่างเหมาะสมหลายครั้งแล้วก็ตาม ความกังวลก็มักจะไม่หายไป หรือผู้ป่วยอาจจะหมกมุ่นกับอาการนั้นเป็นอย่างมาก เช่น คอยเฝ้าสังเกตอาการตลอดทั้งวัน คอยเอามือจับบริเวณที่ปวดเรื่อย ๆ หรือคิดถึงแต่อาการที่เป็นตลอดทั้งวัน เป็นต้น ซึ่งความกังวลหรือหมกมุ่นที่มากเกินไปนี้ส่งผลกระทบต่อการทำงานหรือการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก เช่น ทำงานได้แย่ลง ต้องออกจากงาน หรือไม่กล้าออกจากบ้านไปไหนไกล ๆ เพราะกลัวโรคเป็นมากขึ้น เป็นต้น
ตัวอย่างอาการของผู้ป่วยผู้ป่วยชายอายุ 30 ปีถูกส่งมาพบจิตแพทย์เนื่องจากปัญหาความกังวลต่ออาการปวดที่ต้นคอ โดยผู้ป่วยมีอาการปวดตึงกล้ามเนื้อบริเวณต้นคอมานานหลายเดือน จากการไปพบแพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมกระดูกมาแล้ว 2 คน และแพทย์อายุรกรรมประสาทอีก 1 คน ให้ความเห็นตรงกันว่าเป็นอาการปวดกล้ามเนื้อที่เรียกว่า myofascial pain (คืออาการปวดกล้ามเนื้อและพังผืดชนิดหนึ่ง ทำให้มีอาการปวดตึงกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อเกร็ง และอาจมีจุดกดเจ็บ อาการมักเป็นเรื้อรัง แต่ไม่ได้เป็นโรคร้ายแรงที่ทำให้เสียชีวิตหรือเป็นอัมพาต) ผู้ป่วยได้รับการเอกซเรย์บริเวณคอหลายครั้ง และเคยทำเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) มาแล้ว ผลก็ไม่พบความผิดปกติที่รุนแรงแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามผู้ป่วยยังคงกังวลอย่างมากต่ออาการปวดนี้ โดยกลัวว่าจะเป็นมะเร็งหรือเป็นกระดูกทับเส้นประสาทแล้วจะเป็นอัมพาต ทั้งที่ผลเอกซเรย์ที่ทำไปหลายครั้งก็ไม่ได้มีความผิดปกติที่จะทำให้นึกถึงโรคดังกล่าว ผู้ป่วยหมกมุ่นกับอาการปวดคอของตัวเองอย่างมาก จนถึงกับลาออกจากงานเพื่อคอยสังเกตอาการปวดของตัวเองตลอดทั้งวัน ทั้งที่ในความเป็นจริงถึงแม้จะมีอาการปวดอยู่บ้าง แต่ก็ยังเคลื่อนไหวคอและร่างกายได้ปกติ และทำงานได้ โดยในแต่ละวันผู้ป่วยตื่นมาจะคอยสังเกตว่าวันนี้ปวดแค่ไหน ปวดยังไง คอยจับ ๆ คลำ ๆ ที่คอตัวเองเป็นระยะตลอดทั้งวัน แพทย์ทางกายจึงส่งปรึกษาจิตแพทย์เพื่อพิจารณาการรักษาร่วมกัน ซึ่งผู้ป่วยร่วมมือกับการรักษาเป็นอย่างดี ภายหลังรับการรักษาได้สักระยะอาการก็ดีขึ้น ถึงแม้จะยังมีอาการปวดคออยู่บ้าง แต่ผู้ป่วยกังวลและหมกมุ่นกับมันน้อยลง ต่อมาก็เริ่มกลับไปทำงานได้ และเวลาที่ทำงานหลายครั้งก็ลืมหรือไม่ได้คิดถึงอาการปวดอีก |
พบบ่อยแค่ไหน
ภาวะโซมาติกพบได้ประมาณ 4-6% ในผู้ป่วยที่มารักษาที่โรงพยาบาล อย่างไรก็ตามความชุกค่อนข้างยากที่จะประเมินให้แน่ชัด เพราะผู้ป่วยจำนวนมากมักไม่ยอมรับและปฏิเสธการรักษา
การดำเนินโรค
ส่วนใหญ่พบในวัยผู้ใหญ่ โดยพบได้เท่า ๆ กันทั้งในเพศชายและเพศหญิง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการเป็นระยะ ๆ ครั้งละหลายเดือน โดยบางช่วงอาการอาจจะหายไปหากอาการทางกายเกิดหายไปหรือเป็นน้อยลง แต่พอเริ่มมีอาการทางกายเกิดขึ้นมาใหม่ก็มักจะกลับมาเป็นอีก
การรักษา
โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยภาวะโซมาติกมักไม่ยอมรับและปฏิเสธการรักษาเกี่ยวกับเรื่องจิตใจ แต่ผู้ป่วยมักจะยอมรับได้มากกว่ากับการรักษากับแพทย์ทางกาย สำหรับแพทย์ที่รักษาอาการทางกาย สิ่งที่ควรทำคือการนัดติดตามอาการผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้ผู้ป่วยลดความกังวลลงได้ เพราะผู้ป่วยจะรู้สึกว่าอย่างน้อยก็มีแพทย์คอยดูแลอยู่ การอธิบายเกี่ยวกับธรรมชาติของอาการหรือตัวโรคเป็นระยะ ๆ ก็จะช่วยได้เช่นกัน แต่สิ่งที่ไม่ควรทำคือการบอกว่าผู้ป่วยคิดไปเอง เพราะไม่ได้ช่วยให้อาการดีขึ้น และในความเป็นจริงผู้ป่วยมีอาการทางกายจริง ๆ ไม่ใช่ไม่มี เทคนิคอื่น ๆ ที่ช่วยได้ ได้แก่การสอนให้คนไข้ฝึกวิธีผ่อนคลาย เช่น การนั่งสมาธิ ฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ หรือการหากิจกรรมทำเพื่อให้หยุดคิดถึงเรื่องอาการ จะช่วยให้อาการโดยรวมดีขึ้น ในรายที่มีความกังวลเด่นชัด การให้ยาที่ลดความกังวล เช่น ยาคลายกังวลหรือยากลุ่ม selective serotonin reuptake inhibitor (SSRI) อาจช่วยให้ความกังวลลดลงได้
Resource : HealthToday Magazine, No.197 September 2017