มนุษย์และวิวัฒนาการ

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์

0
1286
มนุษย์และวิวัฒนาการ

เนื้อหาวันนี้ได้จากบทความ 7 Strange And Surprising Ways That Humans Have Recently Evolved เผยแพร่ในเว็บไซต์ iflsscience.com แปลว่า 7 วิถีที่น่าแปลกประหลาดและน่าแปลกใจในวิวัฒนาการของมนุษย์ แปลบางส่วนและเขียนเพิ่มเติม

ดังที่รู้กันว่า วิวัฒนาการ (evolution) เป็นเรื่องของการเอาตัวรอด เกิดขึ้นเพราะสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งจำเป็นต้องวิวัฒน์ มิเช่นนั้นจะไม่รอดสถานการณ์หนึ่ง ๆ ณ เวลานั้น ๆ แต่ผลจากการเอาตัวรอดนั้นเองที่ได้ทำให้เกิดเรื่องราวต่อ ๆ มา
ทั้งดีและร้าย พูดง่าย ๆ ว่า ทุกชีวิตมีราคาต้องจ่าย

  1. มนุษย์กินนมแม้โตแล้ว

แปลกแต่จริงที่เพิ่งรู้ว่ามนุษย์เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมพวกเดียวที่กินนมแม้จะพ้นวัยทารกแล้ว เพิ่งรู้นะเนี่ย สัตว์อื่นพอโตขึ้นเขาเลิกกินนมและร่างกายเลิกผลิตเอนไซม์แล็คเตสที่ใช้ย่อยแล็คโตสในนม มีแต่มนุษย์กลับไม่ยอมเลิกทั้ง ๆ ที่มีพลโลกร้อยละ 75 ที่ไม่มีเอนไซม์แล็คเตส เยอะจัง ขนาดนั้นเลยหรือ

อุตสาหกรรมนมมีขนาดใหญ่โตทั้งที่มีพลโลกร้อยละ 25 เท่านั้นที่กินได้ แต่ว่าที่จริงผลิตภัณฑ์จากนมที่สำคัญคือ ชีส (cheese) มีแล็คโตสต่ำ และบางชนิดไม่มีแล็คโตสเลย ชีสเป็นแหล่งพลังงานสำคัญของคนยุโรปในการฟันฝ่าหน้าหนาว บทความนี้บอกว่าการผ่าเหล่า (mutation) ให้มนุษย์มีเอนไซม์แล็คเตสเพื่อย่อยนมในวัยผู้ใหญ่เกิดขึ้นเมื่อ 7,500 ปีที่แล้วบนที่ราบฮังการีเพื่อเอาชีวิตให้รอด หลังจากนั้นมาคือราคาที่มนุษยชาติต้องจ่าย

  1. โรคใหม่ต้านโรคเก่า

เหตุเกิดในแอฟริกาตะวันตก เมื่อมนุษย์ถูกเชื้อมาลาเรีย (Plasmodium falciparum และ Plasmodium vivax) โจมตีอย่างหนักหน่วง มนุษย์กลุ่มหนึ่งพัฒนายีนเม็ดเลือดแดงลักษณะใหม่ที่ช่วยให้เชื้อมาลาเรียไม่สามารถทำลายเม็ดเลือดแดงได้ แต่ราคาที่จ่ายไปคือ มนุษย์ได้เกิดโรคชนิดใหม่ที่สามารถถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรมคือ sickle-cell anemia และ G-6-PD deficiency กระจายไปทั่วโลก

  1. ตาสีฟ้า

ตาสีฟ้าหรือตาสีน้ำตาลถ่ายทอดทางพันธุกรรมแบบเมนเดล (Mendelian) กล่าวคือตาสีฟ้าเป็นลักษณะด้อย และตาสีน้ำตาลเป็นลักษณะเด่น ด้วยการคำนวณแบบจับคู่ยีนด้อยและยีนเด่นทำให้เรามีประชากรตาสีฟ้าน้อยกว่า แต่ช่วยให้เรารู้ว่าใครเป็นลูกใครได้ง่ายมาก

ตาสีฟ้าเกิดขึ้นจากยีน OCA2 เมื่อ 6,000-10,000 ปีล่วงมาแล้ว เป็นเหมือนยีนที่กำหนดสีผม จำนวนเส้นผม และกระ กล่าวคือไม่ถึงกับกำหนดความอยู่รอดในวิวัฒนาการแต่เชื่อว่ามันเคยมีประโยชน์บางอย่างแน่ และประโยชน์นั้นแลกมาซึ่งการขาดเมลาโทนินอันจะเป็นต้นเหตุของโรคมะเร็งผิวหนังในเวลาต่อมา

  1. ความสามารถที่จะอยู่บนที่สูงมาก ๆ

จากการศึกษาชาวธิเบตที่อาศัยอยู่ร่วมกับชาวฮั่นบนความสูงมากกว่า 10,000 ฟุตเหนือระดับน้ำทะเลบนภูเขาหิมาลัย พบว่าเม็ดเลือดแดงของชาวธิเบตที่ความสูงระดับนั้นมีฮีโมโกลบินชนิดพิเศษที่สามารถนำพาออกซิเจนต่อหน่วยไหลไปตามกระแสเลือดสูงกว่าชาวฮั่น ทำให้ร่างกายไม่จำเป็นต้องผลิตเม็ดเลือดแดงจำนวนมากขึ้นมาทดแทนภาวะพร่องออกซิเจนจนกระทั่งเกิดเป็นโรคบนที่สูงชนิดต่าง ๆ

แม้ว่าชาวธิเบตจะปรากฏตัวบนที่ราบสูงระดับนั้นมาแล้ว 30,000 ปี แต่ยีนมากกว่า 30 ชนิดที่เกิดขึ้นใหม่เพื่อเอาชีวิตรอดเพิ่งจะมีขึ้นเมื่อประมาณ 3,000 ปีเท่านั้น อย่างไรก็ตามนี่เป็นตัวเลขที่เป็นที่ถกเถียงกันอยู่มาก

  1. ฟันกรามที่หายไป

เพิ่งจะ 2,000-3,000 ปีก่อนนี้เท่านั้นที่พบว่าชนเผ่าไอนุที่อาศัยอยู่ในส่วนเหนือสุดของกรีนแลนด์ คานาดา และ
อลาสก้า ไม่มีฟันกรามชุดที่ 3 อย่างน้อยหนึ่งซี่ มันหายไปแล้ว

มนุษย์ยุคถ้ำมีฟันกรามชุดที่ 3 เพื่อบดเคี้ยวเนื้อสัตว์อย่างเมามันในระดับเดียวกับสัตว์ล่าเนื้อ แต่หลังจากที่มนุษย์
ออกจากถ้ำมาทำเกษตรกรรม ฟันกรามที่แข็งแรงเกินไปไม่มีประโยชน์อะไรอีกทั้งเกะกะเนื้อที่ กะโหลกศีรษะมนุษย์ใหญ่โตขึ้นในขณะที่ช่องปากมีขนาดเล็กลงจนกระทั่งฟันกรามชุดที่ 3 ไม่มีที่จะโผล่ขึ้นมาอีกเลย ลำพังฟันที่เหลืออยู่มีมากพอจะเคี้ยวถั่วและผักที่มีโปรตีนมากมายแทนที่เนื้อสัตว์ แต่ความฉลาดและอารยธรรมที่ได้มาครั้งนี้แลกด้วย
โรคต่าง ๆ ที่เกิดแก่ฟันกรามที่ฝังตัวอยู่แล้วหาทางออกไม่ได้ในคนรุ่นหลังจนถึงทุกวันนี้

  1. หน้าแดงเมื่อกินเหล้า

ข้อนี้สนุก แต่ถึงตาย ประมาณว่าร้อยละ 36 ของประชากรเอเชียตะวันออก คือ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี มีอาการ
หน้าแดงจัดเมื่อดื่มเหล้า ทั้งนี้เป็นเพราะร่างกายขาดเอนไซม์ aldehyde dehydrogenase 2 (ALDH2)

การแพทย์พบต่อไปว่ายีนที่รับผิดชอบเอนไซม์ตัวนี้สัมพันธ์กับอุบัติการณ์ของการเกิดโรคมะเร็งหลอดอาหารชนิด squamous cell carcinoma ซึ่งเป็นมะเร็งร้ายแรง มีอัตราการตายสูง ทำให้เกิดโครงการรณรงค์ให้ประชาชน
ชาวจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี ที่รู้ตัวว่าหน้าแดงเพราะดื่มเหล้าให้ลดปริมาณการดื่มลง

จากปัญหาระดับภูมิภาคกลายเป็นปัญหาระดับโลกเมื่อชาวจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี หลั่งไหลไปอยู่อาศัยในยุโรปและอเมริกาเหนือ ทำให้การถ่ายทอดยีนนี้กระจายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง ยีนนี้มากับการเกษตรเช่นเดียวกัน เพราะมนุษย์มีเกษตรกรรมจึงมีเหล้า

  1. สมองมนุษย์มีขนาดเล็กลง

มนุษย์เมื่อ 500,000 ปีมาแล้วมีขนาดของสมอง 1,100 ลูกบาศก์เซนติเมตร แล้วขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่ง
มีขนาด 1,500 เซนติเมตรเมื่อ 20,000 ปีก่อน แต่หลังจากนั้นมันเริ่มมีขนาดลดลงเรื่อยมาจนกระทั่งเหลือ 1,350 ลูกบาศก์เซนติเมตรในปัจจุบัน

เรื่องนี้มิใช่เรื่องน่าตกใจ ด้วยนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ามนุษย์ไม่จำเป็นต้องมีขนาดสมองใหญ่โตมากมายในการเอาตัวรอดจากโลกสมัยใหม่ ว่าที่จริงแล้วสมองที่มีขนาดเล็กกว่าแต่ประสิทธิภาพสูงกว่าภายใต้การปกป้องที่แข็งแรงกว่าจึงมีความสำคัญ และแนวโน้มเป็นไปได้ว่าขนาดของสมองจะลดลงอีกเพราะการใช้ชีวิตอยู่กับที่คนเดียวอย่างเงียบสงบไม่ต้องการขนาดสมองที่มากมาย

อ่านมาถึงตอนจบรู้สึกว่าประโยคหลังนี้กึ่ง ๆ ประชด

Resource: HealthToday Magazine, No.210 October 2018