ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ ในวงการแพทย์เรามีข่าวใหญ่ให้ตื่นเต้นกันอยู่ข่าวหนึ่งครับ นั่นก็คือมีรายงานข่าวของสำนักข่าวต่างประเทศใหญ่ ๆ เช่น CNN หรือ The Guardian นำเสนอข่าวในเวลาใกล้เคียงกันว่า ยาลดกรดชนิด proton pump inhibitor (ยกตัวอย่างชื่อยาเช่น omeprazole เป็นต้นนะครับ) นั้นเพิ่มอัตราการเสียชีวิต !!
ส่วนตัวหมอเองเป็นอายุรแพทย์ต้องสั่งยาชนิดนี้ให้ผู้ป่วยทุกวัน แทบไม่มีวันไหนไม่ใช้ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกญาติและผู้ป่วยที่ได้รับข่าวสารแล้วนำมาถามกันบ่อย ๆ ด้วยความตื่นกลัว หมอเลยขอเขียนถึงเรื่องนี้ไว้ดังนี้ครับ
ยาลดกรดกลุ่ม proton pump inhibitors (PPIs) เป็นยาที่เราใช้กันมากในปัจจุบัน นับเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนานมาตลอดเวลาเกือบ 30 ปีตั้งแต่มีการใช้ยาตัวแรก ใช้ทั้งในการรักษาแผลในกระเพาะอาหาร ภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหาร กรดไหลย้อน ใช้เพื่อป้องกันเลือดออกในทางเดินอาหารในกรณีที่ผู้ป่วยมีความเสี่ยงหรือมีภาวะเลือดออกง่าย เป็นต้น ยากลุ่มนี้ราคาถูกมากเมื่อเปรียบเทียบกับประสิทธิภาพในการลดกรดที่สูงมาก
แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปเราก็เริ่มพบผลข้างเคียงและข้อจำกัดของยามากขึ้นเรื่อย ๆ ครับ ตั้งแต่ปฏิกิริยาระหว่างยา โดยเฉพาะกับยาต้านเกล็ดเลือดที่ผู้ป่วยโรคหัวใจมักได้รับร่วมกันบ่อยๆ, การเกิดแบคทีเรียในลำไส้เล็กเจริญเติบโตมากกว่าปกติ เพราะยาลดกรดนั้นไปรบกวนสภาวะกรดด่างของทางเดินอาหาร, การเพิ่มโอกาสการเกิดกระดูกหัก โดยเฉพาะกระดูกสะโพก เพราะการดูดซึมแคลเซียมและฟอสเฟตที่ผิดปกติ, และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มความเสี่ยงโรคไตเสื่อมเรื้อรัง รวมถึงภาวะที่ไตได้รับบาดเจ็บแบบเฉียบพลัน(acute kidney injury) ที่มีรายงานออกมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 เป็นต้นมา
และล่าสุดที่เป็นข่าวให้ตกใจกันว่าอาจถึงขั้นเพิ่มอัตราการเสียชีวิตนั้น เป็นข้อมูลที่นำเสนอในวารสารแนวหน้าทางการแพทย์อย่าง British medical journal (BMJ) โดยทำการศึกษาแบบติดตามไปข้างหน้า รวบรวมข้อมูลการใช้ยาลดกรดชนิดนี้ และติดตามผลไปประมาณ 5 ปี เปรียบเทียบอัตราการเสียชีวิตโดยรวม
หมอขอข้ามรายละเอียดมาที่ผลการศึกษาเลยนะครับ ผลการศึกษาออกมาว่า ในผู้ที่ใช้ยาลดกรดชนิด Proton Pump inhibitor นั้นเพิ่มโอกาสเสียชีวิตจากสาเหตุใด ๆ มากกว่าไม่ใช้ยาหรือใช้ยาลดกรดกลุ่มเก่ามากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ!!!
ไม่ว่าใครที่ได้ฟังหัวข้อข่าวจากผลการศึกษานั้นล้วนตกใจกันเป็นธรรมดาครับ เพราะเราใช้ยาลดกกรดชนิดนี้กันมากจริง ๆ แถมยังซื้อหากันได้ง่ายตามร้านขายยาทั่วไปก็มีหมด โดยส่วนตัวหมอคิดว่าผลงานวิจัยเรื่องนี้ยังมีจุดน่าสงสัยหลายประเด็นครับ เช่น การที่ไม่ได้แจกแจงโรคและสาเหตุที่เสียชีวิตให้ชัดเจน การที่งานวิจัยมีตัวรบกวนการศึกษาและโรคร่วมอื่น ๆ มาก รวมถึงกลุ่มประชากรก็อายุประมาณ 60 ส่วนใหญ่เป็นชาวผิวขาวในอเมริกา
ทำให้การศึกษานี้ตอบคำถามได้เฉพาะกลุ่มประชากรที่มีลักษณะคล้ายกับงานวิจัย นอกจากนี้การที่ไม่ได้แจกแจงรายละเอียดสาเหตุการเสียชีวิตทำให้เป็นจุดที่ถือว่ายังหาข้อสรุปไม่ได้ครับว่าเกี่ยวข้องกับยาลดกรดโดยตรงหรือไม่ เพราะฉะนั้นการศึกษาเช่นนี้จึงบอกได้แค่ “ความสัมพันธ์” ที่เกิดขึ้นกันทางสถิตินะครับ ไม่ได้เกิดจากการทดลองเพื่อหาคำตอบโดยตรง หรือไม่สามารถแปลความเป็นเหตุเป็นผลกันได้อย่างตรงไปตรงมาครับ เราจึงนำไปสรุปเหมารวมไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงไม่ต้องตื่นตกใจกันมากไปครับ
อย่างไรก็ตามเราก็ควรระวังการใช้ยาให้ดี เพราะในขณะเดียวกันนั้นก็มีงานวิจัยหลายงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าในปัจจุบันมีการใช้ยาลดกรดที่มากเกินความจำเป็นและไม่มีข้อบ่งชี้ที่เหมาะสมโดยทั่วไปทุกประเทศ ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยของกลุ่ม “Pharmacy Practice” ซึ่งตีพิมพ์ในปี พ.ศ.2558 พบว่าแม้ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วยังมีการใช้ยาลดกรดเกินความจำเป็นอยู่หลายประเทศครับ ดังที่ผมยกตัวอย่างเป็นเปอร์เซ็นต์มาให้ดังนี้ สหรัฐอเมริกา (65%), ออสเตรเลีย (63%), นิวซีแลนด์ (40%), อิตาลี (68%) และโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยสูงอายุที่มีโรคประจำตัวหลายโรคก็มักได้รับยานี้พ่วงเพิ่มไปด้วยอยู่บ่อย ๆ ทำให้เราเริ่มพบผลข้างเคียงของยาที่อาจเกิดขึ้นได้มากขึ้น เรียกง่าย ๆ ว่าผู้ป่วยหลายคนได้ประโยชน์จากยาไม่คุ้มกับที่เสียไปนะครับ
อย่างน้อยหมอขอให้ข่าวนี้มากระตุ้นให้เราใช้ยาลดกรดอย่างสมเหตุสมผล หยุดใช้ยาเมื่อไม่จำเป็น นอกจากนี้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และลดพฤติกรรมเสี่ยงต่อโรคทางเดินอาหาร รวมถึงการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอก็ถือว่าเป็นการรักษาโรคด้วยอยู่แล้วในตัวครับ อย่าลืมนะครับ การรักษาโรคใด ๆ ให้หายขาดโดยไม่ต้องใช้ยา เราถือว่าดีที่สุดครับ
Resource: HealthToday Magazine, No.198 October 2017