ลดกิน ลดเบาหวาน

นพ.นริศ เจนวิริยะ ศัลยแพทย์

0
3119

ในการรักษาโรคเบาหวานคนไข้มักจะได้รับคำแนะนำเรื่องอาหาร ว่าให้กินอาหารโลว์คาร์บ (Low Carb) หรืออาหารที่มีแป้งต่ำ แต่ในวงการนักวิชาการมีการโต้เถียงกันอยู่มาก อาหารโลว์แฟท (Low Fat – ไขมันต่ำ) หรือโลว์คาร์บ (Low Carb – แป้งต่ำ) หรือโลว์แคลอรี (Low Calorie – พลังงานต่ำ) ชนิดไหนจะดีกว่า

จากการสัมภาษณ์ หมอริชาร์ด คาน อดีตหัวหน้าฝ่ายวิทยาศาสตร์ของสมาคมเบาหวานอเมริกัน คำถามคือ “อาหารชนิดใดที่ดีต่อโรคเบาหวาน” หมอริชาร์ดตอบว่าข้อมูลในวารสารเกี่ยวกับเรื่องนี้ค่อนข้างอ่อน อาหารส่วนใหญ่มีผลในระยะสั้น เมื่อติดตามไปในระยะยาวแล้วไม่มีความแตกต่างกัน สิ่งที่สร้างความแตกต่างคือ “การลดน้ำหนัก” คือถ้าผอมลงแล้วเบาหวานจะดีขึ้น แต่เขากล่าวว่าคนไข้ต้องการคำแนะนำ สมาคมเบาหวานจึงแนะนำให้ใช้แนวทางของสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ คือ ปิรามิดอาหาร (food pyramid) คืออาหารส่วนใหญ่เป็นพวกแป้ง ถัดขึ้นไปเป็นผักผลไม้ แล้วเป็นโปรตีน น้อยกว่านั้นคือไขมัน นักวิชาการหลายคนไม่เห็นด้วย บางคนมีความเห็นว่าอาหารโลว์คาร์บ (แป้งและน้ำตาลต่ำ) แบบเคร่งครัดจริง ๆ สามารถทำให้ระดับอินซูลินลดลงได้ คือเบาหวานดีขึ้น แต่อาหารแบบนี้ต้องกำจัดธัญพืช หัวมัน น้ำตาล และอาหารปรุงแต่งออกหมด (ซึ่งทำได้ยาก) ฝ่ายตรงข้ามเถียงว่า ไม่มีการวิจัยชิ้นใหญ่ ๆ ดี ๆ ที่เคร่งครัดที่แสดงว่า อาหารแป้งต่ำมีผลดีกว่าอาหารแบบอื่น สิ่งสำคัญคือผลในระยะยาว คนไข้ส่วนมากไม่สามารถปฏิบัติตามคำแนะนำเรื่องอาหารอย่างเคร่งครัดไปได้นาน ๆ มันเป็นเรื่องยากที่จะปฏิบัติตามการห้ามกินโน่นห้ามกินนี่ ทำได้สักพักแล้วมักจะหลุด ไม่ยั่งยืน ผู้รู้หลายคนจึงมีความเห็นว่า สิ่งที่ดีต่อเบาหวานแน่ ๆ คือการลดน้ำหนัก จะเป็นอาหารแบบไหนก็ตามถ้ากินน้อยคือแคลอรีต่ำจะทำให้น้ำหนักลดลง มีผลดีต่อโรคเบาหวานแน่นอน

ผ่าตัดลดอ้วน

การผ่าตัดลดความอ้วนมีทำมานานแล้วประมาณ 70 กว่าปี แล้วมีการพัฒนาขึ้นมาเรื่อย ๆ ในประเทศสหรัฐฯ มีคนอ้วนจำนวนมาก มีคนน้ำหนักเกินราว 60% ของประชากร และคนอ้วนราว 1 ใน 3 และอ้วนมาก (morbid obesity ที่มีดัชนีมวลกายหรือ BMI มากกว่า 40) ราว 5.9% ปัจจุบันจึงมีการผ่าตัดลดความอ้วนมากมาย จากรายงานหนึ่งพบว่ามีการผ่าตัดลดความอ้วนราว 200,000 รายต่อปี

คนอเมริกันกินเก่ง ชอบกินมาก มีกินมาก สมัยก่อนเขาค้นพบว่าการกินไขมันมากทำให้อ้วน รัฐบาลจึงมีคำแนะนำให้ลดไขมันในอาหาร คนอเมริกันจึงหันไปกินอาหารแป้งและน้ำตาลแทน และก็กินมากเช่นกัน ทำให้อ้วนจากการกินแป้งและน้ำตาลแทนอ้วนจากการกินไขมัน สมัยนี้จึงมีการพูดเรื่องอาหารแป้งและน้ำตาลต่ำ หรือ Low Carb(ohydrate) diet กันมาก บางคนได้พูดคำนี้แล้วรู้สึกภูมิใจว่าทันสมัยมาก

เนื่องจากมีการผ่าตัดลดความอ้วนกันมากจึงมีข้อมูลการศึกษาผลของการผ่าตัดจำนวนมาก ทำให้เรารู้ว่า การผ่าตัดลดความอ้วนซึ่งเป็นการผ่าตัดเพื่อลดปริมาตรอาหารที่กินเข้าไปหรือที่ดูดซึมเข้าร่างกาย (ผ่าให้กระเพาะเล็กลง ให้ลำไส้ดูดซึมอาหารน้อยลง) คือเป็นการ “ลดจำนวนแคลอรี” ที่กินเข้าไป (Low Calorie) มีผลดีในการรักษาโรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับความอ้วนได้ดี คือ ลดเบาหวาน(90%) ความดันโลหิตสูง (87%) ไขมันในเลือด(87%) ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ที่เกี่ยวข้องกับความอ้วนดีขึ้น เช่น ข้อเสื่อมดีขึ้น จิตใจดีขึ้น ฯลฯ

ปัจจุบันเริ่มมีการศึกษาการผ่าตัดลดความอ้วนในวัยรุ่นคนหนุ่มสาวกันมากขึ้น มีตัวเลขล่าสุดที่ทำการศึกษาในวัยรุ่น 228 คน (ตีพิมพ์ใน N Engl J Med Jan2016) โดยได้ผ่าตัดคนที่มีดัชนีมวลกายสูงถึง 53 แล้วพบว่าการผ่าตัดทำให้น้ำหนักลดลงไปเป็นดัชนีมวลกาย 38 ซึ่งลดลงไปราว 27% โดยเฉลี่ย มีผลทำให้เบาหวานหายไป 95% การทำงานของไตผิดปกติหายไป 96% ความดันโลหิตสูงหายไป 74% และไขมันในเลือดลดลงปกติ 66% ชีวิตความเป็นอยู่ที่เกี่ยวกับความอ้วนดีขึ้นชัดเจน โรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับความอ้วนก็คงจะดีขึ้นด้วยเมื่อได้ติดตามคนไข้ไปนานๆ

ที่ว่ามานี้เกี่ยวกับการผ่าตัดลดความอ้วนไม่ได้เชียร์การผ่าตัด (การผ่าตัดลดความอ้วนอาจจะมีความเสี่ยงมีภาวะแทรกซ้อนได้มาก) แต่จะชี้ให้เห็นว่าการผ่าตัดลดความอ้วนเป็นตัวสนับสนุนทฤษฎี Low Calorie ที่ดี เพราะการผ่าตัดลดความอ้วนนี้ทำให้กินน้อยลง มีผลทำให้น้ำหนักลดลง ทำให้เกิดผลดีต่อสุขภาพ ทฤษฎีเกี่ยวกับอาหารชนิด Low Fat, Low Carb นั้นไม่สำคัญและไม่ได้ผลมากเท่ากับ Low Calorie การกินน้อยลงจึงเป็นหลักการสำคัญของการลดน้ำหนักรักษาเบาหวาน

บทบาทการออกกำลังกาย

หลักการลดน้ำหนักคือ การลดอาหารและออกกำลังกาย การออกกำลังกายส่วนมากจะช่วยในการเผาผลาญอาหารที่เรากินเข้าไปในแต่ละวันให้หมดไป แต่ความอ้วนซึ่งเกิดจากการสะสมอาหารที่เคยกินมากเกินมาแต่ปางก่อนนั้นมันไม่สามารถช่วยได้ (นอกจากวิ่งมาราธอน ซึ่งคนอ้วนวิ่งไม่ได้อยู่แล้ว) ดังนั้นถ้าคุณอยากจะลดความอ้วนจึงต้องลดการกินให้น้อยลงทุกวันทุกวัน ตอนแรกจะหิวมากหน่อย พอทำไปนานเข้าก็จะเกิดความเคยชิน แต่สิ่งสำคัญคือสัมมาทิฐิ คือต้องมีความเห็นที่ถูกต้องว่าไม่ใช่ Low Fat, Low Carb แต่เป็น Low Calorie ต่างหากที่จะช่วยลดความอ้วน ลดเบาหวานได้

แนะนำเทคนิคกินน้อยเพื่อให้ได้ Low Calorie

  1. ตักอาหารเท่าเดิมแต่เวลากินเขี่ยออกเสียครึ่งหนึ่ง หัดกินน้อยมื้อ ถ้าทำได้
  2. กินช้า ๆ เคี้ยวช้า ๆ มีสติในการรับรู้รสชาติอาหารทุกอณูตลอดเวลา
  3. กินผักผลไม้มากขึ้น หลีกเลี่ยงอาหารไขมัน (อาหารโปรตีนมักมีไขมันมาก) งดอาหารหวาน
  4. ซื้อสลัดใส่กล่องไปใส่ตู้เย็นตุนไว้เพื่อจะได้มีกินบ่อย ๆ
  5. ออกกำลังกายโดยการเดินในสวนมีผลดี ฝืนใจเล็กน้อยก็ทำได้แล้ว
  6. การวิ่งออกกำลังกาย ถ้าทำได้จะดีที่สุด เพราะเสียเวลาน้อย ได้ผลมาก
  7. ออกกำลังกายเข้าจังหวะกับคนหมู่มากทำได้ง่าย ควรบังคับตัวเองให้ทำเป็นประจำ
  8. อย่าหาเหตุผลในการไม่ทำ แต่ควรหาเหตุผลในการออกกำลังกาย เช่น ฝนลงเม็ดไม่กลัวเปียก
  9. หลังจากออกกำลังกายยังไม่ทันหิวให้กินก่อนจะรู้สึกหิว อย่ารอให้หิวจะกินมาก
  10. อย่าซื้ออาหารตอนหิว เพราะจะซื้อมากเกิน และความเสียดายทำให้กินมาก
  11. รู้คุณค่าอาหาร เช่นเบียร์ 1 แก้วมี 150 แคลอรี ดื่มแล้วต้องวิ่ง 15 นาที เดิน 22 นาที ว่ายน้ำ 28 นาทีจึงจะหมด ถ้าคุณไม่วิ่ง ไม่เดิน ไม่ว่ายน้ำ แคลอรีก็เหลือเป็นไขมันพอกพูน