อาการมือสั่นโดยไม่ทราบสาเหตุ สัญญาณอันตรายใกล้ตัวที่อาจส่งผลต่อชีวิตคุณ

0
3334
อาการมือสั่น

อาการมือสั่นเป็นอาการที่พบได้บ่อย และมักเป็นอาการแสดงหนึ่งของโรคทางระบบประสาทในผู้สูงอายุ เช่น โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s Disease) และโรคสั่นโดยไม่ทราบสาเหตุ (Essential Tremor) โดยทั้งสองโรคนี้ผู้ป่วยจะมีลักษณะของอาการมือสั่นที่แตกต่างกัน และมีวิธีการรักษาที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นการวินิจฉัยแยกโรคทั้งสองออกจากกันจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

การวินิจฉัยแยกโรคสามารถพิจารณาได้โดยสังเกตว่าอาการสั่นเกิดขึ้นในช่วงใด โดยอาการมือสั่นในโรคพาร์กินสันมักจะเกิดขึ้นในขณะมืออยู่นิ่ง และเกิดกับมือข้างใดข้างหนึ่งก่อน นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยมักมีอาการเคลื่อนไหวผิดปกติอื่นร่วมด้วย เช่น เคลื่อนไหวช้า กล้ามเนื้อเกร็ง หรือ ทรงตัวไม่ดี ในขณะที่อาการมือสั่นในโรคสั่นโดยไม่ทราบสาเหตุมักจะเกิดขึ้นในขณะใช้มือทำกิจกรรม เช่น ขณะหยิบของ เขียนหนังสือ หรือ ตักอาหาร เป็นต้น โดยอาการมือสั่นจะเป็นทั้งสองข้าง และผู้ป่วยมักจะมีแต่อาการมือสั่นเป็นหลัก

การรักษาโรคมือสั่นทั้งสองโรคมีความแตกต่างกัน โดยอาการมือสั่นในโรคพาร์กินสันจะรักษาด้วยยาที่มีฤทธิ์เพิ่มสารสื่อประสาทโดปามีนเป็นหลัก ในขณะที่อาการมือสั่นในโรคสั่นโดยไม่ทราบสาเหตุจะรักษาด้วยยาลดความดันโลหิตกลุ่ม Beta Blockers เป็นหลัก อย่างไรก็ตามในกรณีที่ผู้ป่วยทั้ง 2 โรคมีอาการสั่นรุนแรงและไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยารับประทาน แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาด้วยวิธีผ่าตัดสมอง ซึ่งการผ่าตัดเปิดกะโหลกนั้นอาจมีความเสี่ยงและผลข้างเคียง ดังนั้นการรักษาจึงควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ

นอกเหนือจากการรักษาข้างต้นแล้ว ปัจจุบันยังมีเทคโนโลยีการรักษาอาการสั่นบางชนิดของโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s Disease) และโรคสั่นโดยไม่ทราบสาเหตุ (Essential Tremor) ด้วยเทคโนโลยีการยิงรวมศูนย์คลื่นเสียงความถี่สูงร่วมกับการถ่ายภาพ MRI (MRgFUS; MRI Guided Focus Ultrasound) อีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยอาการสั่นโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งเป็นวิธีผ่าตัดแบบไม่มีบาดแผล คิดค้นโดย บริษัท อินไซท์เทค จำกัด (INSIGHTEC) จากประเทศอิสราเอล เป็นเทคโนโลยีการรักษาที่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USFDA) ในปี 2014 ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ทั่วโลก และได้รับการยอมรับจากมหาวิทยาลัยการแพทย์ และโรงพยาบาล กว่า 50 แห่ง ในยุโรป เอเชีย และสหรัฐอเมริกา เช่น มาโยคลินิก (Mayo Clinic) โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University Hospital) บริกแฮมแอนด์วีเมนส์ (ฮาร์วาร์ด) (Brigham and Women’s (Harvard))  และ ดิ อิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน (The Imperial College London) รวมถึงได้รักษาผู้ป่วยทั่วโลกประสบความสำเร็จมากกว่า 5,500 ราย

 

ดร. โรนี่ ยาเกล
รองประธานด้านการตลาดระหว่างประเทศ
บริษัท อินไซท์เทค จำกัด

“จุดเริ่มต้นของการคิดค้นเทคโนโลยีรักษาโรคอาการสั่นโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยใช้เทคนิคการยิงรวมศูนย์คลื่นเสียงความถี่สูงร่วมกับการถ่ายภาพ MRI (MRgFUS; MRI Guided Focus Ultrasound) เกิดจากเจตนารมณ์ที่อยากจะหาวิธีการรักษาเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีอาการสั่นโดยไม่ทราบสาเหตุที่กำลังมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี เป็นที่ทราบกันดีในแวดวงการแพทย์ว่าหนึ่งในวิธีการรักษาโรคนี้ คือ การผ่าตัด ซึ่งอาจตามมาด้วยความเสี่ยง เกิดแผล เกิดผลข้างเคียง และใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวนาน เราจึงได้ค้นคว้าวิจัยจนค้นพบวิธีการรักษาโดยใช้การยิงรวมศูนย์คลื่นเสียงความถี่สูงร่วมกับการถ่ายภาพ MRI (MRgFUS; MRI Guided Focus Ultrasound) เข้ามารักษาผู้ป่วยเฉพาะจุดที่มีอาการสั่น นับเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยโรคอาการสั่นโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งจะใช้ระยะเวลารักษาเพียง 1-2 วัน จากนั้นจะสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ ผู้ป่วยไม่ต้องเข้ารับการผ่าตัดและไม่ต้องรอการฟื้นตัว”

มร. ยูอิชิโระ โคบะ
ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจและการขายในภูมิภาคเอเชีย
บริษัท อินไซท์เทค จำกัด 

“จากการสำรวจข้อมูลผู้ป่วยโรคสั่นโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือ Essential Tremor พบว่าปัจจุบันในหลายประเทศทั่วโลก อาทิ ประเทศญี่ปุ่น ในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยอาการสั่นโดยไม่ทราบสาเหตุเพิ่มขึ้นถึงปีละ 10 เท่า ซึ่งเป็นสัดส่วนตัวเลขที่สูงมาก โดยในประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย (Aging Society) จากสถิติล่าสุดพบว่าจำนวนประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปี จะเพิ่มขึ้นถึง 20% ในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งโรคสั่นโดยไม่ทราบสาเหตุมักจะพบในผู้สูงอายุ ดังนั้นจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคนี้จึงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้น ที่ผ่านมาพบว่าโรคนี้ส่งผลกระทบและเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างผู้ป่วยในต่างประเทศที่เคยได้รับผลกระทบจากโรคนี้ เช่น เฮเธอร์ เฟรเซอร์ นักกีฬาสเก็ต น้ำแข็งชาวแคนาดา ที่ต้องทนทุกข์กับปัญหาด้านการเคลื่อนไหวและสภาพจิตใจจากอาการสั่นโดยไม่ทราบสาเหตุมาอย่างยาวนาน หลังได้รับการรักษาก็กลับมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ในฐานะที่ปรึกษานักกีฬาสเก็ตน้ำแข็งทีมชาติแคนาดาได้อีกครั้ง หรือ ไมเคิล หวง นักแสดงจากประเทศไต้หวัน ป่วยเป็นโรคสั่นโดยไม่ทราบสาเหตุ ทำให้ไม่สามารถรับงานแสดงได้ จนกระทั่งตัดสินใจเข้ารับการรักษาด้วยเทคโนโลยีทางเลือกนี้ หลังจากอาการดีขึ้นก็สามารถกลับมารับงานแสดงได้อีกครั้ง ทั้งนี้ สิ่งสำคัญในการรักษาโรคนี้ คือ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองต้องทำการวิเคราะห์ และตรวจให้ชัดเจนว่าผู้ป่วยมีอาการสั่นเนื่องมาจากความผิดปกติตรงส่วนไหนในบริเวณสมอง จึงจะรักษาได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิผล”

ปัจจุบันในภูมิภาคเอเชียมีโรงพยาบาลที่มีศูนย์การรักษาโดยใช้เทคนิคการยิงรวมศูนย์คลื่นเสียงความถี่สูงร่วมกับการถ่ายภาพ MRI (MRgFUS; MRI Guided Focus Ultrasound) อยู่ทั้งสิ้น 36 แห่ง และประเทศไทยพร้อมให้การรักษาโรคอาการสั่นโดยไม่ทราบสาเหตุแล้ว สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลการรักษาเพิ่มเติมได้ที่โรงพยาบาลรัฐบาลขนาดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร