โรคกระเพาะอาหารอักเสบส่วนใหญ่จะมีอาการจุก ปวด แน่นท้อง โดยอาการมักสัมพันธ์กับมื้ออาหารและความหิว หรืออาจเป็นกลางดึกหลังจากที่หลับไปแล้ว อาการโดยรวมจะเป็น ๆ หาย ๆ ไม่กระทบต่อสุขภาพมากนัก ยกเว้นจะมีภาวะแทรกซ้อนจากแผลในกระเพาะที่รุนแรงขึ้นจนทำให้เลือดออกในกระเพาะอาหาร กระเพาะทะลุ หรือกระเพาะอุดตัน นอกจากนี้แผลที่เดี๋ยวเป็นเดี๋ยวหายนี้จะไม่พัฒนาต่อกลายไปเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารอย่างที่หลายคนกลัว นอกเสียจากว่าแผลที่เป็นนั้นจะเป็นแผลที่มาจากมะเร็งกระเพาะอาหารตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว
ในการรักษาโรคกระเพาะอาหารอักเสบนั้นจะให้ความสำคัญที่สาเหตุ หากผู้ป่วยกินแต่ยาแต่ไม่มีการปรับลดปัจจัยที่เป็นสาเหตุก็ยากที่โรคจะได้รับการรักษาจนหาย การปรับพฤติกรรมจึงเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมการรักษาที่สำคัญมาก และขาดไม่ได้ ผู้ป่วยสามารถปรับวิถีชีวิตง่าย ๆ ดังนี้
- บอกลาสารที่สร้างความระคายเคืองให้กับกระเพาะอาหาร ได้แก่ แอลกอฮอล์ ควันบุหรี่ ยาแก้ปวด ยาคลายเส้น ยาคลายกล้ามเนื้อ น้ำตาลทราย ไขมันอิ่มตัว เครื่องดื่มที่ผสมกรดซิตริก ได้แก่ น้ำผลไม้หรือน้ำมะนาวสังเคราะห์ น้ำอัดลม เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ โกโก้ เครื่องดื่มชูกำลัง รวมถึงกาแฟชนิดลดคาเฟอีน
- หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด อาหารไขมันสูง เพราะจากการทดลองในสัตว์ พบว่าอาหารไขมันสูงสามารถกระตุ้นปฏิกิริยาออกซิเดชั่น ซึ่งมีผลต่อการเพิ่มการอักเสบของกระเพาะอาหารมากยิ่งขึ้น
- กินอาหารอ่อน ย่อยง่าย โดยเฉพาะในช่วงที่อาการกำเริบและช่วงรักษาแผลให้หายซึ่งโดยส่วนใหญ่จะกินเวลาประมาณ 1 – 2 เดือน หลังจากนั้นจึงกลับมากินอาหารปกติได้
- กินอาหารให้ตรงเวลา และหลีกเลี่ยงการกินอิ่มจัด แต่ควรกินทีละน้อยแต่บ่อย ๆ แทน
- เลือกกินอาหารที่มีใยอาหารสูง เพราะการศึกษาทางระบาดวิทยาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด พบว่าการกินอาหารที่มีใยอาหารสูง (ผักผลไม้ 400 กรัมต่อวัน) ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร และในระยะยาวประมาณ 6 ปี พบว่าผู้ที่กินอาหารกากใยสูงมีความเสี่ยงต่อการเกิดแผลในกระเพาะอาหารลดลงถึง 45% เมื่อเทียบกับคนที่กินอาหารกากใยน้อย ยิ่งหากเลือกกินใยอาหารชนิดอุ้มน้ำ ซึ่งพบมาในข้าวโอ๊ต ลูกเดือย กระเจี๊ยบฝัก แอปเปิ้ล เม็ดแมงลักด้วยแล้ว จะลดความเสี่ยงได้เพิ่มขึ้นถึง 60% เลยทีเดียว ทั้งนี้เพราะใยอาหารทำตัวเป็นเหมือนยาลดกรดในกระเพาะอาหาร และช่วยกระตุ้นการขับถ่ายได้ดีจึงช่วยลดอาการจุกเสียดแน่นท้องได้ อย่างไรก็ตามการกินใยอาหารในรูปของอาหารเสริมกลับไม่ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร
- เลือกกินเนื้อสัตว์ไขมันต่ำ เช่น เนื้อปลา อกไก่ ไข่ขาว หมูสันใน เพราะเป็นแหล่งของโปรตีนที่มีส่วนช่วยสมานแผลในกระเพาะอาหาร โดยเฉพาะช่วงพักฟื้น หรือหลังจากอาการกำเริบได้ 8 สัปดาห์ ควรกินเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 25% หรือเพิ่มจากเดิมอีกประมาณ 4 – 5 ช้อนต่อวัน ก็จะช่วยให้แผลหายไวขึ้น
- สังกะสี จำเป็นต่อการเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันและการตอบสนองต่อปฏิกิริยาออกซิเดชั่นในร่างกาย ช่วยให้แผลในกระเพาะหายเร็วขึ้น นอกจากนี้ยังมีธาตุซีลิเนียม วิตามินเอที่ช่วยย่นระยะเวลาการรักษาได้ แต่การเสริมวิตามินเอในรูปของยาอาจเสี่ยงต่อการได้วิตามินเอเกินขนาดจนเป็นพิษได้ ทางที่ดีควรเลือกกินอาหารที่มีวิตามินเอสูงแทน เช่น เนื้อสัตว์ ผักผลไม้สีส้ม แดง เหลือง เป็นต้น
- เติมสารฟลาโวนอยด์ให้กับร่างกาย เพียงกินแอปเปิ้ล องุ่น แครนเบอรี่ สาลี่ หัวหอม กระเทียม กระชาย เซเลอรี่ขึ้นฉ่าย ฯลฯ เพราะสารดังกล่าวไม่ได้เป็นแค่สารต้านอนุมูลอิสระ แต่ยังมีฤทธิ์ในการลดอัตราการเจริญเติบโตของเชื้อ Helicobacter pylori ได้อีกด้วย
- เติมจุลินทรีย์สุขภาพให้ทางเดินอาหาร วิธีนี้สามารถช่วยรักษาสมดุลของจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร และช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของ Helicobacter pylori รวมถึงลดระยะเวลาในการรักษา และลดผลข้างเคียงจากการใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาการติดเชื้อดังกล่าวด้วย
- วิธีที่ดีที่สุดในการรักษาโรคกระเพาะอาหารจากเชื้อ Helicobacter pylori ก็คือการกำจัดแบคทีเรียชนิดนี้ อาหารที่ให้ผลในการลดจำนวนเชื้อได้คือสารต้านอนุมูลอิสระและวิตามินซีนั่นเอง แต่การให้วิตามินซีนั้นควรให้ในขนาดต่ำแต่ระยะเวลานานจะให้ผลดีต่อการรักษามากกว่าการได้รับวิตามินซีในปริมาณที่สูงเลย ดังนั้นเพื่อเสริมการรักษา ผู้ป่วยสามารถกินวิตามินซีเสริม 500 มิลลิกรัมต่อวันเป็นระยะเวลา 3 เดือนได้
ส่วนการป้องกันคงหนีไม่พ้นการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่จะกระตุ้นการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารที่มากเกินควร โดยหลีกเลี่ยงบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์และกาแฟที่มากเกินไป ไม่ซื้อยาแก้ปวดยาคลายเส้นกินเอง หากจะใช้ควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัด เมื่อมีความเครียดควรหาเทคนิคการผ่อนคลายอารมณ์ขุ่นมัวที่ตนเองชื่นชอบมาบรรเทา ที่สำคัญคือการดูแลสุขอนามัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อ Helicobacter pylori นั่นเองค่ะ
Resource: HealthToday Magazine, No.194 June 2017