อาหารบำบัดผิวแห้ง

อ.เอกหทัย แซ่เตีย นักกำหนดอาหาร

0
3645
ผิวแห้ง

เมื่อลมหนาวเริ่มพัดโชย ผู้อ่านหลายท่านคงมีโอกาสหยิบเสื้อกันหนาวตัวเก่งมาสวมใส่กันบ้างแล้ว ส่วนตัวผู้เขียนนั้น ไม่ว่าจะฤดูไหน ๆ ก็มักจะมีเสื้อกันหนาวหรือผ้าพันคอติดตัวเสมอ เหตุเพราะต้องทำงานในห้องแอร์ หลายครั้งที่เราต้องสัมผัสอากาศเย็นไม่ว่าจะแบบธรรมชาติหรือแบบที่มนุษย์จัดสรรไว้ หลายคนคงมีปัญหาผิวแห้ง คัน หรือลอกเป็นขุยได้ นั่นเพราะอากาศที่แห้งทำให้น้ำใต้ผิวหนังระเหยขึ้นไปยังชั้นบรรยากาศ ผิวเราจึงตกอยู่ในสภาวะขาดน้ำและแห้งได้ ใครที่คิดว่าอากาศเย็นกับเราเป็นเรื่องห่างไกลก็ขอให้หยุดคิดก่อนนะคะ เพราะสาเหตุผิวแห้งนั้นใช่ว่าจะมาจากสภาพอากาศอย่างเดียว แท้จริงแล้วยังมีอีกหลายปัจจัยมากที่ทำให้ผิวเราแห้งได้

ปัจจัยภายในที่ทำให้ผิวแห้ง ได้แก่ พันธุกรรม อายุที่มากขึ้น โดยเฉพาะหลังอายุ 60 ปี เนื่องจากน้ำมันและสารหล่อลื่นตามธรรมชาติของผิวผู้สูงอายุมีแนวโน้มลดลง ผิวจึงแห้งมากขึ้นกว่าเดิม หรือการเจ็บป่วยด้วยโรคบางชนิด เช่น โรคผิวหนังแห้งคัน (Xerosis) โรคภูมิแพ้บางชนิด โรคไต ภาวะขาดกรดไขมัน เป็นต้น

ปัจจัยภายนอกที่ทำให้ผิวแห้ง เช่น การอาบน้ำอุ่น แช่น้ำร้อนเป็นประจำ การอาบน้ำหรือล้างมือที่มากเกินไป การใช้สารชำระล้างไม่ว่าจะเป็นสบู่ ครีมอาบน้ำ หรือน้ำยาล้างมือที่มีฤทธิ์เป็นด่างมาก ๆ หรือแม้แต่การขัดผิวที่รุนแรงเกินไป ล้วนทำให้เกิดการสูญเสียไขมันที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของการปกป้องผิวหนังได้

นอกจากนี้ข้อมูลจากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Archives of Gerontology and Geriatrics ปี 2017 ยังยืนยันอีกว่าการอาบน้ำบ่อยเกินไปและการทำกิจกรรมนอกบ้านเป็นเวลานานเป็นพฤติกรรมสุดฮิตที่เป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาผิวแห้ง นอกจากอาการผิวแห้งจากพฤติกรรมที่ว่าแล้ว ผิวแห้งจากการใช้ยาบางชนิดก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน เช่น การใช้ยาบางชนิด เช่น อนุพันธ์วิตามินเอสำหรับรักษาสิว เป็นต้น ซึ่งปัจจัยภายนอกเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการปรับพฤติกรรมที่เป็นต้นเหตุ ได้แก่

  • ปรับอุณหภูมิน้ำที่อาบไม่ให้ร้อนจนเกินไป และใช้เวลาในการอาบน้ำประมาณ 5 – 10 นาที หากคุณใช้เวลานานกว่านั้น หรือใช้น้ำที่ร้อนจนเกินไปจะทำให้ชั้นน้ำมันที่เคลือบผิวอยู่ถูกชะล้างออกด้วย น้ำในผิวจึงระเหยออกได้ง่ายและเสี่ยงผิวแห้งมากขึ้น
  • เลือกใช้สารชำระล้าง โดยหลีกเลี่ยงสบู่ที่เติมแต่งกลิ่นจนหอมฟุ้งเกินไปหรือมีส่วนประกอบของแอลกอฮอล์ หากมีปัญหาผิวแห้งมากอาจเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำมันหรือที่ระบุว่าสำหรับผิวแห้ง เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงการขัดผิว ไม่ว่าจะเป็นสารทำความสะอาดที่มีการเติมสารสครับผิว หรือการใช้ใย หรือฟองน้ำขัดผิว เพราะจะยิ่งทำลายน้ำมันที่เคลือบผิวตามธรรมชาติออกไป
  • หลังอาบน้ำทุกครั้งควรทาน้ำมันหรือครีมบำรุงผิวที่ช่วยเติมความชุ่มชื่นให้ผิว
  • หากคันไม่ควรเกา เพราะอาจเกิดแผลและติดเชื้อได้ แต่ควรแก้คันด้วยการประคบเย็นแทน
  • หากปรับพฤติกรรมข้างต้นทั้งหมดแล้วแต่ยังมิวายผิวแห้ง อาจต้องลองสำรวจการกินเพิ่มเติม หากเข้าข่ายกินทำร้ายผิวก็ต้องหาทางปรับเปลี่ยนกันต่อนะคะ

4 พฤติกรรมกินแล้วผิวแห้ง

1. กินอาหารปราศจากไขมัน เกราะปกป้องผิวหนังของเราคือชั้นไขมันที่ประกอบด้วยกรดไขมันจำเป็น ฟอสโฟลิพิด และคอเลสเตอรอล แต่การกลัวไขมันจนไม่กินไขมันเลยทำให้ร่างกายขาดกรดไขมันสำหรับสร้างชั้นปกป้องผิวตามธรรมชาติ น้ำในผิวหนังจึงถูกคายออกมาได้อย่างง่ายดาย ดังนั้นจึงต้องกินมันบ้าง โดยอาจเลือกในรูปน้ำมันที่ใช้ปรุงประกอบอาหารประมาณ 6 ช้อนชาต่อวัน หรือเลือกไขมันจากถั่วต่าง ๆ หรืออะโวคาโดก็ได้ จะทำให้ได้ทั้งกรดไขมันจำเป็นและวิตามินอีที่ช่วยบำรุงผิวไปพร้อม ๆ กัน

2. ดื่มน้ำน้อย การดื่มน้ำ 6 – 8 แก้วเป็นการเติมความชุ่มชื่นให้ผิว หากดื่มน้ำไม่เพียงพอ ร่างกายทุกระบบก็จะพลอยขาดน้ำไปด้วย ยิ่งวันไหนที่เราต้องเสียเหงื่อมาก หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีความแห้งสูง ก็ควรเพิ่มการดื่มน้ำให้มากกว่าเดิม

3. กินอาหารเร่งการขับน้ำทิ้ง น้ำคือองค์ประกอบสำคัญของความชุ่มชื่นในผิว อาหารที่เพิ่มการขับน้ำทิ้ง ได้แก่ อาหารเค็ม อาหารแปรรูป เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง ฯลฯ อาหารเหล่านี้ทำให้ผิวยิ่งเสี่ยงขาดน้ำและแห้งขึ้น ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงอาหารเค็ม อาหารแปรรูป เลือกน้ำเปล่าแทนเครื่องดื่มชนิดอื่นๆ จะดีที่สุด หากเผลอกินไปแล้วก็อย่าลืมดื่มน้ำเติมความชุ่มชื่นกลับคืนให้ผิวด้วย

4. กินขนมและเครื่องดื่มที่มีรสหวาน เพราะน้ำตาลมีผลต่อการลดลงของคอลลาเจนและอีลาสติน ทำให้ผิว
หย่อนคล้อย ขาดความยืดหยุ่น และหมองคล้ำได้ ดังนั้นการหลีกเลี่ยงอาหารหวาน น้ำตาลทั้งหลาย และเพิ่มการบริโภคผักและผลไม้แทนก็จะช่วยให้ผิวชุ่มชื่น อวบอิ่ม เด็กกว่าวัย และสุขภาพดีได้

หากใครลองปรับทุกอย่างแล้ว ไม้แต่ก็ยังมิอาจต้านทานความแห้งกร้านได้ หรือมีผิวแห้งเรื้อรัง ก็ควรปรึกษาแพทย์ผิวหนังเพื่อประเมินและทำการรักษาอย่างละเอียดต่อไป

Resource: HealthToday Magazine, No.212 December 2018