ผู้เขียนขอกล่าวถึงสองปัจจัยที่ World Cancer Research Fund (WCRF) ประเมินว่า เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง ซึ่งถ้าเราสามารถหลีกเลี่ยงหรือลดปัจจัยทั้งสองได้ ความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งย่อมน่าจะลดลง
ภาวะน้ำหนักเกินหรือความอ้วน (Overweight or Obese)
WCRF กล่าวว่า “ภาวะน้ำหนักเกินหรือความอ้วน” เพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งที่ลำไส้ใหญ่ เต้านม ถุงน้ำดี ไต ตับ หลอดอาหาร รังไข่ ตับอ่อน ต่อมลูกหมาก และมดลูก
คำว่า ภาวะน้ำหนักเกินหรือความอ้วน ส่วนใหญ่เป็นผลที่เกิดจากการกินอาหารที่มีไขมันและ/หรือแป้งมากเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ ผู้เขียนมีเพื่อนที่เล่นแบดมินตันคนหนึ่งพยายามกินอาหารที่มีไขมันน้อยแต่ก็ยังลงพุง เพราะกินข้าวมื้อละไม่ต่ำกว่า 3 จาน (ผู้เขียนเข้าใจว่าเพื่อนต้องการช่วยเหลือชาวนา) คำอธิบายในเรื่องกินข้าวมากแล้วลงพุงคือ ข้าวนั้นเมื่อกินเกินความต้องการเพื่อใช้เป็นพลังงานของร่างกายแล้ว ส่วนเกินต้องถูกเปลี่ยนไปเป็นไขมันซึ่งสะสมไว้ที่หน้าท้องหรือพุง สิ่งที่น่ากังวลคือ ในการออกกำลังกาย ไขมันจากหน้าท้องกลับเป็นไขมันที่ร่างกายนำมาใช้เป็นแหล่งสุดท้าย ดังนั้นการลดไขมันหน้าท้องจึงเป็นเรื่องยากที่สุด
กระบวนการทางชีวเคมีที่เกิดระหว่างที่ร่างกายเปลี่ยนแป้งส่วนที่เกินความต้องการไปเป็นไขมันนั้นเริ่มต้นจาก แป้งที่เรากินถูกย่อยเป็นน้ำตาลกลูโคสก่อนถูกพาเข้าสู่เซลล์โดยความช่วยเหลือของฮอร์โมนอิซูลิน จากนั้นน้ำตาลกลูโคสจึงถูกส่งเข้าสู่กระบวนการสร้างสารชีวเคมีที่สะสมพลังงาน (ซึ่งร่างกายเรียกใช้ได้เมื่อต้องการ) ในส่วนของเซลล์ที่เรียกว่า ไมโตคอนเดรีย สารนี้มีชื่อว่า เอทีพี (ATP=adenosine triphosphate)
ในการสร้างเอทีพี สิ่งหนึ่งที่ต้องเกิดขึ้นคือ การส่งผ่านอิเล็คตรอน ซึ่งกระบวนการนี้เมื่อเกิดขึ้นในปริมาณมาก ๆ โอกาสผิดพลาดย่อมเกิดขึ้นและส่งผลให้เกิดอนุมูลอิสระขึ้นในเซลล์ นั่นคือเหตุผลหนึ่งที่นักชีวเคมีที่ศึกษาเกี่ยวกับการออกกำลังกายจำเป็นต้องแนะนำให้นักกีฬาหรือผู้ใช้กำลังกายสูง ๆ กินอาหารที่มีสารต้านอนุมุลอิสระธรรมชาติมากหน่อย เพื่อคอยกำจัดอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นในร่างกาย
ขอให้สังเกตว่าผู้เขียนใช้คำว่า กินอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระธรรมชาติสูง ไม่ใช่การกินผลิตภัณฑ์ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระแบบเข้มข้น เพราะการได้รับสารต้านอนุมูลอิสระมากเกินกว่าที่มนุษย์ปกติกินในแต่ละวันนั้น แทนที่จะเป็นผลดีกลับอาจส่งผลเสียได้ ปัจจุบันมีนักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งรวมทั้งผู้เขียนที่เห็นด้านมืดของสารต้านอนุมูลอิสระ โดยมีตัวอย่างงานวิจัย (หนึ่งในหลายร้อยเรื่อง) ชื่อ Antioxidant supplements for prevention of mortality in healthy participants and patients with various diseases. (DOI: 10.1002/14651858.CD007176.pub2) ของ Goran Bjelakovic และคณะ (2012) ซึ่งเป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัยหนึ่งในประเทศเซอร์เบียได้ระบุปัญหาจากการกินสารต้านอนุมูลอิสระเสริมเข้าไปในชีวิตประจำวัน
คณะของ Bjelakovic ใช้กระบวนการศึกษาที่เรียกว่า การพิเคราะห์อภิมาน (meta-analysis) ซึ่งเป็นการใช้วิธีทางสถิติเพื่อประมวลผลข้อมูลจากผลงานวิจัยจำนวน 78 เรื่อง ซึ่งมีอาสาสมัครรวมทั้งหมด 296,707 คน แล้วพบว่า ผู้ที่ได้วิตามินที่ต้านอนุมูลอิสระต่าง ๆ ในขนาดสูงมีแนวโน้มต่อการเสียชีวิตสูงกว่า ในบทสรุปนั้นผู้วิจัยเสนอว่า สารต้านอนุมูลอิสระนั้นหากใช้ในปริมาณสูงควรถูกจัดให้เป็นยา ซึ่งต้องมีการศึกษาอย่างเพียงพอก่อนเข้าสู่ตลาด
ดังนั้นเมื่อใดที่ร่างกายได้รับแป้งมากกว่าความต้องการ ร่างกายต้องหาทางทำให้น้ำตาลกลูโคสที่ได้จากแป้งให้หมดไปจากระบบเลือดโดยอาศัยเซลล์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดสารชีวเคมีที่เรียกว่า อะเซ็ตติลโคเอ็นซัมเอ (acetylcoenzyme A) ซึ่งเซลล์นำสารนี้ไปใช้สร้างเอทีพีเป็นลำดับแรก แต่เมื่อใดที่เซลล์ในร่างกายมีเอทีพีพอแล้วสารอะเซ็ตติลโคเอ็นซัมเอนี้จะถูกนำไปสังเคราะห์เป็นสารชีวเคมีที่จำเป็นต่อร่างกายชนิดอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงไขมัน
ขอให้ท่านผู้อ่านเข้าใจไว้ว่า ในกระบวนการสร้างไขมันซึ่งทำให้เราอ้วนนั้นต้องเรียกใช้พลังงานจากเอทีพีในปริมาณสูง ดังนั้นจึงต้องมีการส่งผ่านอิเล็คตรอนในเซลล์มากมายมหาศาลจนทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นเหตุผลว่า การมีน้ำหนักตัวเกินนั้นเพิ่มความเสี่ยงต่อการกลายพันธุ์ของเซลล์ที่อาจส่งผลถึงการเปลี่ยนไปเป็นมะเร็ง
อาหารหมักเกลือ (Salt-preserved foods)
“อาหารหมักเกลือ” ไม่ว่าอาหารนั้นเป็นผักหรือเนื้อสัตว์ เมื่อถูกถนอมด้วยเกลือแล้ว อาหารนั้นเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งกระเพาะอาหาร ในความจริงแล้วข้อมูลลักษณะนี้มีการกล่าวถึงนานพอควรแล้ว เป็นการอาศัยหลักฐานจากการศึกษาทางระบาดวิทยาของชาติทางเอเชียตะวันออกคือ ญี่ปุ่น ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องอาหารหมักเกลือ นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นได้ทำการวิเคราะห์เพิ่มเติมพบว่า เกลือที่ใช้ในการประกอบอาหารนั้นมีเกลือไนไตรทสูง เกลือชนิดนี้สามารถทำปฏิกิริยากับองค์ประกอบหลายชนิดในอาหารระหว่างการย่อยอาหารในกระเพาะ ก่อให้เกิดสารพิษหลายชนิด ตัวอย่างบทความของนักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นที่ได้สรุปผลของอาหารดองเค็มต่อการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร ท่านผู้อ่านสามารถค้นหาได้ในอินเตอร์เน็ทโดยผ่าน Google คือ Salt and salted food intake and subsequent risk of gastric cancer among middle-aged Japanese men and women ตีพิมพ์ในวารสาร British Journal of Cancer เมื่อปี 2004
Resource: HealthToday Magazine, No.190 February 2017