ปัจจุบัน “ความดันโลหิตสูง” เป็นโรคเรื้อรังที่พบได้บ่อยที่สุดโรคหนึ่งในเมืองไทย ที่น่ากังวลคือผู้ป่วยบางส่วนไม่รู้ว่าตนเองป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงจนกระทั่งเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรค เช่น เส้นเลือดสมองแตก หัวใจขาดเลือด ภาวะเส้นเลือดหัวใจโป่งพอง ไปจนถึงขั้นเสียชีวิต ในเมื่อความดันโลหิตสูงเป็นฆาตกรเงียบที่แอบย่องเข้ามาทำร้ายโดยที่หลายคนยังไม่รู้สึกตัวด้วยซ้ำ จะมีสิ่งใดช่วยเราเฝ้าระวังภัยร้ายนี้บ้างหรือไม่? แน่นอนว่ามี และสิ่งนั้นก็คือ “เครื่องวัดความดันโลหิต” นั่นเอง
การค้นพบว่าในร่างกายมนุษย์มีความดันบางชนิดเป็นแรงผลักดันให้เลือดไหลเวียนไปทั่วร่างกายมีมานานหลายพันปีแล้วตั้งแต่ยุคที่ชาวจีนเริ่มคลำชีพจรที่ข้อมือได้นั่นแหละค่ะ แต่การแพทย์แผนปัจจุบันเพิ่งจะหันมาสนใจความสำคัญของความดันโลหิตกันอย่างจริงจังเมื่อมีการค้นพบว่าความดันโลหิตน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจ จนกระทั่งราวคริสต์ศักราช 1700 มีการวัดความดันโลหิตเกิดขึ้นครั้งแรกในสัตว์ โดยการสอดแท่งแก้วเข้าไปในเส้นเลือดของม้า นับตั้งแต่นั้นการวัดความดันโลหิตก็ถูกค้นคว้าพัฒนาเรื่อยมาจนกระทั่งในปี 1881 เครื่องวัดความดันฯ แบบที่รัดแขนก็ถือกำเนิดขึ้นเป็นเครื่องแรกโดยนายแพทย์ชาวออสเตรีย และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของเครื่องวัดความดันฯ แบบที่เราคุ้นเคยกัน
เครื่องวัดความดันฯ ในยุคแรกนั้นใช้การอ่านค่าจากหลอดแก้วบรรจุปรอทซึ่งจะเคลื่อนขึ้นลงตามความดันโลหิต แต่หลังจากที่มีการรณรงค์เรื่องลดการใช้สารปรอทในอุปกรณ์ทางการแพทย์ออกมาจากองค์การอนามัยโลก เครื่องวัดความดันฯ แบบดิจิทัลจึงเข้ามามีบทบาทมากขึ้น อาจเป็นเพราะความง่ายในการใช้งาน ขนาดที่เล็กกะทัดรัด และรูปแบบที่ดูทันสมัยกว่าเครื่องแบบเดิม อย่างไรก็ตามเครื่องวัดความดันฯ แบบปรอทก็ยังถือเป็นเครื่องวัดความดันฯ แบบมาตรฐานที่มักถูกใช้เป็นค่าอ้างอิงเสมอ
จำเป็นแค่ไหน
ความดันโลหิตของคนปกติ ค่าความดันฯ ตัวบน (Systolic) จะอยู่ที่ประมาณ 120 มิลลิเมตรปรอท ค่าความดันฯ ตัวล่าง (Diastolic) ประมาณ 80 มิลลิเมตรปรอท คนที่มีความดันโลหิตสูงเกินกว่านี้ถือว่ามีความเสี่ยง และถ้าสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท จะถือว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง
เหตุผลหลักที่แนะนำให้ผู้มีความเสี่ยงเรื่องความดันโลหิตสูงควรมีเครื่องวัดความดันฯอยู่ที่บ้าน ด้วยเหตุผล 2 ข้อด้วยกัน ข้อแรกคือ เพื่อติดตามค่าความดันฯในชีวิตประจำวันของตนเองเพราะค่าความดันฯจะแกว่งไปมาได้คือขึ้นๆลงๆแม้วัดในระยะห่างกันไม่มาก จึงต้องวัดบ่อยๆและวัดในหลายๆอิริยาบท แล้วนำมาเฉลี่ยดูค่าโดยรวมว่าค่าความดันฯเราสูงหรือต่ำผิดปกติหรือไม่ ข้อสองคือ มีหลายท่านมีปัญหาว่าเวลาไปวัดความดันฯที่โรงพยาบาลแล้วมักจะสูงกว่าวัดที่บ้าน ภาวะนี้มีคำเรียกว่า White coat hypertension คือเป็นภาวะที่กลัวหมอจนความดันฯขึ้น และเพราะเหตุนี้การมีเครื่องวัดความดันโลหิตไว้คอยวัดความดันฯที่บ้านจึงช่วยให้การวินิจฉัยมีความถูกต้องแม่นยำมากขึ้น ตามแนวทางการรักษาโรคความดันโลหิตสูงที่ออกโดยสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทยเองก็ได้แนะนำว่าให้ใช้เครื่องวัดความดันฯ แบบอัตโนมัติในบ้านของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงทุกราย หรือให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ใช้งานอย่างไร
ในหัวข้อการใช้งานนี้อาจจะต้องเครื่องวัดความดันฯ เป็น 2 ประเภท คือ เครื่องวัดความดันฯ แบบปรอทดั้งเดิม และ เครื่องวัดความดันฯ แบบดิจิทัล สำหรับเครื่องวัดความดันฯ แบบแรกนั้นจะต้องใช้การฝึกฝนเพื่อคลำหรือฟังชีพจรเพื่อให้ได้ความถูกต้องแม่นยำ ส่วนเครื่องชนิดที่เป็นดิจิทัลถือว่าใช้งานง่ายง่ายมาก อีกทั้งยังสะดวกกว่า ผู้ป่วยสามารถวัดเองได้ทั้งหมดภายในเวลาไม่กี่นาที แม้กระทั่งเด็กเล็กหรือผู้สูงอายุก็สามารถทำเองได้ไม่ยุ่งยาก
ราคาเท่าไร
เครื่องวัดความดันโลหิตในปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบ ดังนั้นกรอบราคาจึงมีให้เลือกค่อนข้างกว้างตั้งแต่ไม่กี่ร้อยบาทไปจนถึงหลายพันบาท สำหรับเครื่องวัดความดันฯ แบบดิจิทัลที่มีขนาดเล็ก พกพาง่าย สนนราคาจะอยู่ที่หลักร้อยปลายๆ ไปจนถึงไม่กี่พันบาทแล้วแต่ว่าเครื่องนั้นๆ จะมีส่วนเสริมอื่นๆ มากน้อยแค่ไหน แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ถือว่ายังอยู่ในระดับราคาที่เหมาะสม เอื้อมถึงได้
ทนทานหรือไม่
อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าเครื่องวัดความดันโลหิตแบ่งออกเป็นแบบดิจิทัลและแบบปรอทซึ่งมีความทนทานแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด เครื่องวัดความดันแบบปรอทสามารถใช้งานได้นานหลายสิบปีโดยไม่ต้องปรับมาตรฐานของเครื่อง (calibrate) ในขณะที่แบบดิจิทัลต้องมีการตรวจเช็คและตั้งเครื่องใหม่เป็นประจำเพื่อให้เครื่องมีความแม่นยำอยู่เสมอ เช่นเดียวกับอายุการใช้งานที่แบบปรอทจะมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าแบบดิจิทัล
จากทั้งหมดที่กล่าวมาจึงพอสรุปได้ว่า เครื่องวัดความดันโลหิตป็นอุปกรณ์สุขภาพอีกชิ้นหนึ่งที่คุ้มและควรค่าแก่การครอบครองจริงๆ ค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบ้านที่มีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง เพื่อเฝ้าระวังและควบคุมให้ความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ซึ่งช่วยป้องกันไม่ให้โรคร้ายต่างๆ ที่เป็นผลพวงจากความดันโลหิตสูงกล้ำกรายเข้ามาซ้ำเติมสุขภาพของเราได้
Resource : HealthToday Magazine, No. 180 April 2016