อาการเวียนหัว บ้านหมุน (Vertigo) จะประกอบไปด้วย
- อาการมึน เวียน รู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมรอบตัวโคลงเคลงคล้ายยืนหรือเดินอยู่บนเรือ
- อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือมีภาพหมุน ตากระตุก หรือเดินเซทรงตัวไม่ได้ร่วมด้วย
อย่างไรก็ตาม อาการที่เกิดขึ้นจะต่างกับอาการปวดหัวจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น ไมเกรน และไม่ใช่แค่อาการอ่อนเพลีย
วิงเวียน (Dizziness) หรือหน้ามืด (Presyncope or Syncope)
สาเหตุ
สาเหตุของอาการเวียนหัวนั้นมีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น…
- การมองเห็นที่ผิดปกติ เช่น สายตาสั้น ยาว หรือเอียงที่ไม่ได้รับการแก้ไข
- การใส่แว่นที่ไม่เหมาะสมกับสายตา
- ความผิดปกติในสมองส่วนหลังที่เป็นศูนย์ควบคุมการรับรู้การทรงตัว
- ความผิดปกติในหูชั้นใน (inner ear) เป็นสาเหตุที่มักจะพบมากที่สุด เช่น โรคตะกอนหินปูนในหูหลุด (Benign paroxysmal positional vertigo; BPPV) ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการวิงเวียนที่พบบ่อยมากที่สุด นอกจากนี้ยังมีโรคที่คุ้นหูอีกโรคหนึ่ง คือ นํ้าในหูไม่เท่ากัน หรือ Meniere’s disease เกิดจากความผิดปกติของหูชั้นในตรงส่วนที่มีหน้าที่ควบคุมการทรงตัวของร่างกาย ถึงแม้ว่าสาเหตุเหล่านี้จะไม่มีอันตรายถึงชีวิต แต่อาการเวียนหัวมักจะเป็นมากและรุนแรงจนก่อให้เกิดความหงุดหงิดรำคาญ และอาจส่งผลเสียต่อการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพ หรือแม้กระทั่งก่อให้เกิดอันตรายได้เลยทีเดียว
นอกเหนือไปจากโรคที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติในหูแล้ว อาการเวียนหัวยังอาจมีสาเหตุมาจากความผิดปกติในสมองดังเช่นที่กล่าวไปแล้วในเบื้องต้น โดยเป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นบริเวณสมองส่วนหลังหรือสมองน้อย (Cerebellum) ซึ่งเป็นศูนย์หลักในการควบคุมการทรงตัวของร่างกาย ดังนั้นเมื่อเกิดความเสียหายต่อสมองส่วนนี้จึงส่งผลให้ไม่สามารถทรงตัวได้ และเกิดอาการเวียนหัวที่รุนแรงได้ในแบบที่ต่างไปจากโรคที่เกิดจากความผิดปกติของหู นั่นคือ ลักษณะอาการเวียนจะเป็นการหมุนในแนวตั้งหรือที่เรียกว่า Vertical vertigo (หมุนจากบนลงล่างหรือล่างขึ้นบน) ร่วมกับมีอาการเดินเซคล้ายคนเมาสุรา เดินเป็นเส้นตรงไม่ได้ อาจมีอาการตามัว เห็นภาพซ้อน มีอาการร่วมของสมองขาดเลือด อาทิเช่น หน้าเบี้ยว หรือลิ้นแข็งพูดไม่ชัด อาจมีอาการแขนหรือขาอ่อนแรงร่วมด้วย เหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณอันตรายที่บ่งบอกว่าอาการเวียนหัวที่เกิดขึ้นไม่ใช่อาการเวียนหัวธรรมดา แต่มีโรคร้ายบางอย่างเกิดขึ้นกับสมอง ซึ่งต้องได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป สำหรับอาการอื่น ๆ ที่ควรจะต้องไปพบแพทย์ ได้แก่
- อาการเวียนหัวเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม่ดีขึ้น
- มีอาการปวดหัวรุนแรง และมักเป็นมากในตอนเช้าหลังตื่นนอน ซึ่งเป็นอาการของการมีความดันในสมองเพิ่มสูงขึ้น อาจเป็นสัญญาณของการมีก้อนหรือมีเลือดออกในสมอง
- มีไข้ร่วมด้วย ในหูมีเสียงวี้ดังตลอดเวลา หรือการได้ยินผิดปกติไปจากเดิม ซึ่งอาจบ่งบอกว่าเป็นอาการเวียนหัวที่เกิดจากประสาทหูชั้นในอักเสบ
- มีอาการเหงื่อแตกใจสั่น หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นลักษณะอาการวิงเวียนจากการเกิดความดันต่ำ (Pre-syncope) และอาจเป็นสัญญาณแรกของโรคหัวใจ ไม่ว่าจะเป็นหัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจล้มเหลว ซึ่งล้วนแต่ต้องได้รับการรักษาเร่งด่วนทั้งสิ้น
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
ถ้ามีอาการเวียนหัวที่ไม่รุนแรง และไม่มีอาการต่าง ๆ ที่กล่าวไปแล้วร่วมด้วย การดูแลในเบื้องต้นคือ ทำร่างกายให้ผ่อนคลาย และทำใจให้สบาย เนื่องจากความกังวลจะส่งผลให้อาการวิงเวียนเป็นมากขึ้น เพราะความกังวลจะทำให้สมองปรับตัวต่อการรับรู้การทรงตัวที่ผิดปกติได้ช้าลง ทำให้ยิ่งเวียนหัวมากขึ้น นอกจากนี้ยาบางชนิด เช่น ยากลุ่ม
ยาแก้เมารถ (dimenhydrinate) ก็มีผลช่วยปรับการไหลเวียนของโลหิตในหูชั้นใน ทำให้อาการเวียนหัวดีขึ้นได้
หากยังคงมีอาการอยู่ ควรไปพบแพทย์ เพื่อทำกายภาพบำบัดที่จำเพาะกับโรคเวียนหัวบ้านหมุน หรือรับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจซุกซ่อนอยู่และเป็นสาเหตุที่แท้จริงของภาวะเวียนหัวบ้านหมุนที่เกิดขึ้น
Resource: HealthToday Magazine, No.211 November 2018