แขน-ขาลวง (Phantom Limb)

นพ.ธรรมนาถ เจริญบุญ จิตแพทย์

0
4140
Phantom limb

ปัญหาแรกสุดเลยตอนที่ผมคิดว่าจะเขียนเรื่องนี้ก็คือจะแปลคำว่า “phantom limb” ว่าอะไรดี? เพราะยังไม่มีภาษาไทยที่บัญญัติไว้ชัดเจน ชื่อที่น่าจะใกล้เคียงที่สุดน่าจะเป็น “ความรู้สึกว่าแขนขายังคงอยู่” หรือไม่ก็ “แขนขาลวง” ซึ่งน่าจะดีกว่าการแปลแบบตรงตัวเลย นั่นคือ “แขนขาปีศาจ” ซึ่งฟังหลอน ๆ ยังไงชอบกล อย่างไรก็ตามเพื่อไม่ให้สับสน ในบทความนี้ผมจะใช้ทับศัพท์ว่า phantom limb ไปเลยละกันนะครับ

Phantom limb คืออะไร?

อาการ phantom limb คือการที่ผู้ป่วยรู้สึกว่า แขน ขา (หรืออวัยวะอื่นใดก็ได้) ที่ถูกตัดออกไปแล้วยังคงอยู่ สามารถรับรู้ ขยับ หรือเจ็บปวดก็ได้ โดยปรากฏการณ์นี้ถูกบันทึกไว้ครั้งแรกประมาณ 400 ปีมาแล้ว (ช่วงปลายของ ค.ศ.1500) และถูกตั้งชื่อว่า phantom limb โดยศัลแพทย์ชื่อ Silas Weir Mitchell ในช่วงปลายของ ค.ศ. 1800 หลังจากนั้นปรากฏการณ์นี้ก็เป็นที่รู้จักกันมากขึ้นเรื่อย ๆ

ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะบรรยายว่ายังสามารถรับรู้ความรู้สึกของแขนขาที่ขาดไปได้ เสมือนแขนขานั้นยังคงอยู่ โดยผู้ป่วยหลายคนเล่าว่าเวลาเผลอก็จะใช้แขน (ที่ขาดไปนั้น) รับของ หรือหยิบแก้วน้ำ เป็นต้น ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่แค่ความเคยชินเฉย ๆ แต่ผู้ป่วยรู้สึกรับรู้ได้จริง ๆ คือสามารถบอกได้ว่าตอนนี้กำลังงอแขน เหยียดขา หรือกำมือ (ที่ขาดไป) อยู่ ยิ่งกว่านั้นในผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการปวดหรือรู้สึกเป็นตะคริวในบริเวณแขนขาที่ล่องหนนั้นได้ด้วย

อาการ phantom limb นี้พบได้ประมาณ 40% ในผู้ป่วยที่ต้องตัดแขนหรือขา โดยอาการมักเริ่มเป็นทันทีหลังจากการผ่าตัด แต่ก็มีคนไข้บางส่วนที่ในช่วงแรก ๆ หลังผ่าตัดไม่มีอาการอะไร แต่ไปเริ่มมีอาการหลังจากเวลาผ่านไปแล้วหนึ่งปี

เกิดขึ้นได้อย่างไร?

ปัจจุบันมีหลายทฤษฎีที่อธิบายปรากฏการณ์ phantom limb แต่ทฤษฎีที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดคือความผิดปกติของเส้นประสาท นั่นคือโดยธรรมชาติแล้วการรับรู้ประสาทสัมผัสของคนเราเริ่มจากการที่เส้นประสาทบริเวณอวัยวะนั้น (ซึ่งในภาพตัวอย่างนี้สมมติว่าเป็นมือแล้วกันนะครับ) ส่งสัญญาณไปที่สมอง ซึ่งสมองก็จะแปลผลว่าตอนนี้มือกำลังอยู่ในท่าไหน หรือเจ็บปวดหรือไม่อย่างไร (รูปที่ 1)

แต่ในกรณีของ phantom limb เมื่อมือถูกตัดไปแล้ว ซึ่งแน่นอนว่าต้องรวมไปถึงเส้นประสาทที่จะต้องถูกตัดไปด้วย ทีนี้ปัญหาเกิดจากการที่เส้นประสาทที่ถูกตัดไปดันเกิดผิดปกติ โดยมีการปล่อยสัญญาณประสาทออกไปที่สมองทั้ง ๆ ที่มือนั้นไม่อยู่แล้ว ผลที่ได้คือสมองก็รับรู้เข้าใจเหมือนกับว่ามือนั้นยังคงอยู่ (รูปที่ 2)

 

การรักษา

ถามว่าปรากฏกาณ์ phantom limb จำเป็นต้องรับการรักษาอะไรเป็นพิเศษหรือไม่? อันนี้ขึ้นอยู่กับว่าอาการที่มีเป็นมากน้อยแค่ไหน และมีผลอย่างไรกับผู้ป่วย ซึ่งในผู้ป่วยส่วนมากมักจะเป็นลักษณะของการรับรู้การมีอยู่ของแขนขานั้นเฉย ๆ อาจทำให้เกิดความรู้สึกหงุดหงิด รำคาญ หรือตกใจบ้าง ซึ่งการอธิบายให้เข้าใจถึงธรรมชาติของปรากฏการณ์นี้จะช่วยให้ผู้ป่วยสบายใจมากขึ้น และส่วนหนึ่งอาการจะดีขึ้นเองเมื่อเวลาผ่านไป

แต่รายที่ต้องรักษามักจะเป็นในกรณีที่มันไม่ใช่ความรู้สึกรับรู้เฉยๆ แต่ดันมีอาการเจ็บหรือปวดด้วยนี่สิครับ โดยอาการมีได้ตั้งแต่รู้สึกยิบ ๆ (เหมือนเวลาเราเป็นเหน็บ) คัน เจ็บแปล๊บ ๆ ไปจนถึงปวดแบบทนไม่ได้นอนไม่หลับ (ในกรณีที่มีอาการปวดด้วย ทางการแพทย์เรียกว่า “phantom pain”)  อาการเหล่านี้มักส่งผลกระทบกับผู้ป่วยแน่ ๆ รวมถึงทำให้เสียสุขภาพจิตและคุณภาพชีวิตอีกด้วย ซึ่งไม่ต้องพูดถึงเรื่องอาการปวดแบบรุนแรงก็ได้ครับ เอาแค่ลองคิดดูครับว่าผู้ป่วยบางคนรู้สึกยิบ ๆ คัน ๆ ถ้าเป็นแขนขาข้างปกติเราก็คงเกาหรือนวดก็อาจจะดีขึ้น แต่ในกรณี phantom limb ปัญหาคือมันเกาหรือนวดก็ไม่ได้ด้วยนี่สิครับ เพราะอวัยวะนั้นไม่มีแล้ว

ในกรณีอาการปวดจาก phantom limb หากอาการเป็นไม่มาก การใช้ยาแก้ปวดทั่วไป เช่น พาราเซตามอลหรือยาต้านอาการอักเสบ (ยากลุ่ม NSAIDs) ก็สามารถลดอาการปวดได้ หากอาการปวดเป็นรุนแรง ยาแก้ปวดกลุ่มฝิ่น (เช่น มอร์ฟีน หรือเมทาโดน) ก็สามารถลดอาการปวดได้ดีเช่นกัน นอกจากนี้ยังพบว่ายาต้านเศร้าบางชนิด เช่น nortriptyline หรือยากลุ่ม serotonin norepinephrine reuptake inhibitor (SNRI) ก็สามารถลดอาการปวดได้เช่นกัน

 

Resource: HealthToday Magazine, No.196 August 2017