โรคซึมเศร้าที่ไม่รักษา

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์

0
1400
โรคซึมเศร้า

มีงานวิจัยตีพิมพ์ในนิตยสารการแพทย์ Lancet เดือนเมษายน 2018 เรื่องการค้นพบปริมาณโปรตีนที่เพิ่มมากขึ้นในเซลล์ประสาทของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ไม่รับการรักษา เป็นหนึ่งในคำอธิบายปรากฏการณ์ที่จิตแพทย์หลายท่านพบ กล่าวคือ มารักษาช้าดูเหมือนว่าจะรักษายาก หรือเมื่อรักษาจนดีแล้วแต่ผู้ป่วยหยุดยาก่อนกำหนดและมีอาการกลับเป็นซ้ำดูเหมือนจะรักษายากกว่าครั้งที่หนึ่ง

อันที่จริงมีคำอธิบายทางจิตวิทยา ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่เริ่มมีอาการตั้งแต่ตอนวัยรุ่นหรือตอนเรียนจบมหาวิทยาลัยใหม่ ๆ แล้วปล่อยไว้ไม่รับการรักษา อาจจะด้วยใจสู้ และตั้งใจสู้ให้หายเอง หรืออาจจะด้วยความไม่รู้ว่าโลกมนุษย์มีโรคภัย
ไข้เจ็บชนิดนี้อยู่จริง เมื่อปล่อยเวลาผ่านไปหลายปี คุณภาพชีวิตที่ลดลงเพราะตัวโรค ความยุ่งยากของชีวิตที่ตัวเอง
ก่อขึ้นเนื่องจากตัวโรค ความเบื่อรำคาญของสังคมรอบข้างที่มีต่อเจ้าตัวทวีสูงขึ้นทุกปี เหล่านี้ทำให้ผู้ป่วยที่มาช้ามัก
ไม่ให้ความร่วมมือในการรักษาง่าย ๆ เพราะมีปัญหาวุ่นวายซับซ้อนไปหมด ทำให้แพทย์มักใช้ยาในขนาดสูง นำมาซึ่งฤทธิ์ข้างเคียงที่สูงตามไปด้วย จนกระทั่งไม่มีผู้ป่วยทนฤทธิ์ข้างเคียงได้ง่าย ๆ หรือไม่ยาก็ทำงานช้ามากเสียจนผู้ป่วยอดทนไม่ไหว

ส่วนผู้ป่วยที่หยุดยาเองบ่อยครั้ง พบว่าทุกครั้งที่มีอาการกำเริบ ผู้ป่วยมักท้อใจมากกว่าครั้งแรก ความหวังที่ว่าโรคนี้จะหายขาดเลือนหายไป เพราะที่แท้แล้วไม่หายขาด ความหวังของคนรอบข้างว่าผู้ป่วยจะหายขาดก็หายไปด้วย เมื่อพบว่าผู้ป่วยกลับไปเป็นเหมือนเดิมหลังจากหยุดยาก่อนกำหนด ความท้อใจและความผิดหวังทั้งของตนเองและ
คนข้างเคียงทำให้ผู้ป่วยมีอาการมากกว่าครั้งแรก และตอบสนองต่อยาช้ากว่าครั้งแรก

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้ได้ชี้ให้เห็นว่ามีเหตุผลทางชีววิทยาปะปนอยู่ด้วย แม้ว่าอาจจะเป็นงานวิจัยขั้นต้นที่มีกลุ่มตัวอย่างไม่มาก แต่ก็ไม่น้อย พบว่าผลลัพธ์ที่ได้มีนัยยะสำคัญค่อนข้างสูง

ผู้วิจัยได้วิจัยปริมาณโปรตีนที่เรียกว่า Translocator Protein ในเซลล์ประสาทที่เรียกว่า microglia ของผู้ป่วย
โรคซึมเศร้า 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 มารักษาภายในระยะเวลา 10 ปีหลังเริ่มมีอาการ กลุ่มที่ 2 มารักษาภายในระยะเวลามากกว่า 10 ปีหลังเริ่มมีอาการ  และกลุ่มที่ 3 เมื่อมีอาการ 30 ปีโดยไม่เคยได้รับการรักษาเลย พบว่าปริมาณทรานสโลเคเตอร์โปรตีนที่สูงขึ้นในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ไม่รักษาหรือรักษาช้านี้มีมากกว่าประชากรปกติถึงร้อยละ
20-30

ปริมาณโปรตีนที่สูงขึ้นชนิดนี้เป็นตัวบ่งชี้ภาวะการอักเสบของเซลล์ประสาทในระบบประสาทส่วนกลาง เรียกสั้น ๆ ว่า brain inflammation อันเป็นลักษณะที่คล้ายคลึงกันกับที่พบในการเสื่อมลงของระบบประสาทส่วนกลางที่เรียกว่า neurodegenerative generation ดังเช่นที่พบในผู้ป่วยอัลไซเมอร์หรือพาร์คินสัน

โปรตีนชนิดนี้เป็นโปรตีนที่ผนังของไมโตคอนเดรีย (mitochondria) ซึ่งทำหน้าที่หลายประการ ประการหนึ่งคือเป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกัน  และดังที่ทราบว่าไมโตคอนเดรียเป็นส่วนสำคัญของระบบพลังงานของเซลล์  เราจึงเห็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักมีอาการอ่อนเพลียเหนื่อยง่ายโดยหาสาเหตุมิได้

เซลล์ประสาทที่เรียกว่าไมโครเกลียเป็นเซลล์ประสาทชนิดหนึ่งที่กระจายอยู่ทั่ว ๆ ไปในระบบประสาทส่วนกลาง มีอยู่ประมาณร้อยละ 10-15 ของจำนวนเซลล์ประสาททั้งหมด และทำหน้าที่เป็นส่วนสำคัญของระบบ เมื่อเกิดการสะสมของโปรตีนจำนวนมากจนกระทั่งขัดขวางการทำงานปกติ ทำให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักมีอาการอ่อนไหวต่อทุกสิ่งเร้า แล้วมีอาการกระจัดกระจายหลาย ๆ ระบบพร้อมกันจนยากแก่การแยกแยะ การตรวจวินิจฉัยที่ดีจึงยังคงเป็นการตรวจสภาพจิตเพื่อระบุลักษณะเฉพาะทางจิต แม้ว่าความก้าวหน้าทางชีววิทยาจะรุดหน้าไปเรื่อย ๆ

งานวิจัยใหม่ ๆ เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าที่น่าตื่นตะลึงยังมีอีก เช่นในนิตยสารการแพทย์ Molecular Psychiatry กรกฎาคม 2011 ที่ได้แสดงให้เห็นเบื้องต้นในหนูทดลองว่า ยาต้านอารมณ์เศร้า sertraline สามารถสร้างเซลล์สมองใหม่ให้แก่เนื้อสมองส่วน hippocampus ดังที่เรียกว่า hippocampal neurogenesis และแม้ว่าจะเป็นเพียงแค่การพบในหนูทดลองแต่สร้างความน่าตื่นเต้นอย่างยิ่ง ไม่บ่อยที่เราจะมีความหวังว่าเรามียาที่ทำให้เซลล์งอกได้

ดังที่รู้กันว่าสมองส่วนฮิปโปแคมปัสนี้ทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบความจำ ความเสียหายที่รอยต่อของระบบความจำในการลำเลียงความจำระยะสั้น (recent memory) ออกมาเป็นความจำใช้งาน (working memory) เป็นส่วนหนึ่งของความยืดหยุ่นในการคิดวิเคราะห์ (cognitive flexibility) ซึ่งพบว่ามีความเสียหายในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักมีความจำที่สูญหาย ไม่สามารถใช้ความจำเต็มประสิทธิภาพ จึงทำให้ชีวิตขาดความยืดหยุ่น
คิดซ้ำ คิดอย่างเก่า เฝ้าคิดเรื่องเดิม และทำซ้ำเดิม ทำผิดซ้ำ ๆ แล้วซึมเศร้ามากลงไปอีก การสร้างเซลล์ใหม่ที่ระบบความจำจึงเป็นความหวังที่น่าสนใจยิ่ง

ในด้านหนึ่ง การมารักษาช้าทำให้เซลล์ประสาทสะสมโปรตีนของเสียเอาไว้มาก  ในอีกด้านหนึ่ง การรักษาเร็วเผลอ ๆ จะสร้างเซลล์ใหม่ ๆ ให้ได้ด้วย ดูเหมือนความก้าวหน้าของงานวิจัยด้านชีววิทยาจะรุกไล่จนงานด้านจิตวิทยาไม่มีที่ยืน แต่ในเวชปฏิบัติเราพบว่าไม่จริง การกินยาเป็นวิธีที่ง่ายและได้ผลเร็ว แต่มิใช่คำตอบทั้งหมด

 

Resource: HealthToday Magazine, No.207 July 2018