อาการคันที่ผิวหนังเกิดได้จากหลายสาเหตุ ที่พบบ่อย คือ “โรคเชื้อราที่ผิวหนัง” แต่จะรู้ได้อย่างไรว่าอาการคันที่
เกิดขึ้นมีสาเหตุจากเชื้อรา และถ้าใช่…เราจะมีวิธีการดูแลรักษาอย่างไร เรามีคำตอบจากงานบรรยายวิชาการเรื่องโรคเชื้อราที่ผิวหนัง จัดโดย บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด ร่วมกับ ชมรมร้านขายยาจังหวัดเชียงใหม่ ณ โรงแรมดวงตะวัน ซึ่งได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ผศ.พญ.มาริษา พงศ์พฤฒิพันธ์ สาขาวิชาตจวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาบรรยายเพื่อให้ความรู้แก่เภสัชกรร้านขายยาในจังหวัดเชียงใหม่
โรคเชื้อราที่ผิวหนังที่พบได้บ่อย
เกลื้อน ลักษณะเป็นผื่นราบ วงกลมหรือวงรี สีขาว น้ำตาล หรือแดง มีขอบเขตชัดเจน มีขุยเล็ก ๆ สีขาวยึดติดกับผิว มักพบบริเวณลำตัว ต้นแขน และขา กระจายตัวอยู่ในบริเวณที่มีต่อมไขมันมาก มักจะไม่มีอาการคัน และไม่เป็นที่เล็บ สามารถกลับเป็นซ้ำได้ จึงควรให้ความสำคัญกับการป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นอีก ด้วยการสวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี อาบน้ำหลังออกกำลังกายทุกครั้ง และดูแลร่างกายไม่ให้ชื้นเหงื่อ ในกรณีที่ใช้แชมพูขจัดเชื้อรา แนะนำให้ฟอกแชมพูตรงบริเวณที่เป็นเกลื้อนทิ้งไว้ 15 นาทีแล้วล้างออก วันละ 1 ครั้ง ไม่ควรใช้เกินกว่านี้เพราะแชมพูจะทำให้ผิวแห้งได้
กลาก พบมากเป็นอันดับ 7 ของโรคผิวหนังทั้งหมด สามารถเป็นได้ทั่วตัวตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้ารวมทั้งเล็บ หากเกิดบริเวณลำตัวจะมีลักษณะเป็นผื่นแดงรูปวงแหวน ขอบยก มีขุยโดยรอบ ตรงกลางผื่นอาจปกติ มีรอยดำ หรือเกิดการอักเสบได้ มักมีอาการคัน และมักเกิดเฉพาะบริเวณใดบริเวณหนึ่ง ไม่เกิดหลายที่พร้อมกัน ส่วนอีกสองตำแหน่งที่พบบ่อย คือ กลากที่เท้าและหนังศีรษะ การรักษากลากบริเวณลำตัวจะใช้เวลา 2 – 4 สัปดาห์ หากเป็นบริเวณมือและเท้าจะใช้เวลา 6 – 8 สัปดาห์ เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีความหนา เชื้อราฝังลงลึก จึงต้องใช้เวลานานขึ้น สิ่งสำคัญคือ ควรทายาให้เลยขอบผื่นประมาณ 1 นิ้ว เพื่อป้องกันการกระจายของโรค
การติดเชื้อแคนดิดา มักพบในผู้ที่ภูมิคุ้มกันต่ำ การติดเชื้อมักเกิดที่บริเวณซอกพับต่าง ๆ เยื่อบุภายในปาก และอวัยวะเพศ โดยเริ่มจากตุ่มแดง เปลี่ยนเป็นผื่นราบ รูปกลม ขอบเป็นขุย ผื่นรวมกันเป็นปื้นในซอกพับ และเกิดผื่นใหม่เป็นตุ่มแดงกระจัดกระจายไปโดยรอบ
ยาทารักษาโรคเชื้อราบางชนิดมีฤทธิ์ต้านการอักเสบหรือต้านเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย ซึ่งเป็นข้อดีทำให้
การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ต้องใช้อย่างถูกต้อง ทายาให้ครบตามระยะเวลาที่กำหนด และอยู่ภายใต้คำแนะนำของเภสัชกรหรือแพทย์