ฤดูไข้หวัดใหญ่มาอีกแล้ว

นพ.นริศ เจนวิริยะ ศัลยแพทย์

0
1252

จากเดือนตุลาคมถึงพฤษภาคมเป็นช่วงเวลาที่ไข้หวัดใหญ่มักจะระบาด จึงถึงเวลาที่ท่านทั้งหลายควรจะได้รับการทบทวนความรู้เรื่องไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ และปอดอักเสบ ซึ่งมีอาการ อาการแสดง การดำเนินโรค และความร้ายแรงแตกต่างกัน

ไข้หวัด (Common cold) เป็นโรคของทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสหลายชนิด มีอาการไม่สบายตัว ปวดหัว
ตัวร้อน เจ็บคอเล็กน้อย มีน้ำมูกไหล มักจะเป็นได้ตลอดปี

ไข้หวัดใหญ่ (Influenza หรือเรียกย่อ ๆ ว่า Flu) เป็นโรคทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส มีอาการมากกว่า
ไข้หวัด คือมีครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนแรง เบื่ออาหาร เป็นไข้ เจ็บคอ น้ำมูกไหล (มีน้อยกว่าไข้หวัดธรรมดา) ไอแห้ง ๆ ตอนแรกอาจจะมีอาการรุนแรงแล้วค่อย ๆ น้อยลง อาจจะเป็นอยู่นานนับสัปดาห์ ถ้าเป็นมากอาจพัฒนาไปเป็นโรคแทรกซ้อนคือ
ปอดอักเสบ ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย โรคนี้อาจทำให้ถึงตายได้

อาการโรคไข้หวัดใหญ่อาจมีหลายแบบแตกต่างกันออกไปเล็กน้อย โดยเฉพาะในคนสูงอายุ (มากกว่า 65 ปี) อาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อนคือปอดอักเสบได้ ขณะเริ่มฤดูหนาวนี้ ถ้าเริ่มไม่สบายตัว มีไข้ เจ็บคอ คุณอาจจะสงสัยหรือกังวลใจว่าเป็นโรคอะไรใน 3 โรคที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งวิธีการแยกโรคคร่าว ๆ มีในตารางต่อไปนี้

ไข้หวัดใหญ่

การเผชิญหน้ากับไข้หวัดใหญ่ทำได้หลายอย่างดังนี้

  • ควรฉีดวัคซีนป้องกันทุกปีเพื่อป้องกันการเป็นโรค แต่ถ้าป้องกันไม่ได้ วัคซีนจะช่วยลดอาการของไข้หวัดใหญ่ได้ ประสิทธิภาพของวัคซีนจะแปรเปลี่ยนไปในแต่ละปี (ตามชนิดของเชื้อไวรัสที่แปรเปลี่ยนไป) และเป็นสิ่งเดียวที่ช่วยป้องกันโรคได้
  • ล้างมือให้เป็นนิสัย ไม่ว่าจะเป็นแอลกอฮอล์ล้างมือหรือใช้น้ำกับสบู่ล้างมือ รวมทั้งพยายามหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนแออัด (โดยใช้หน้ากากอนามัย) และหลีกเลี่ยงคนเป็นหวัด
  • ไปหาหมอเมื่อคิดว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ หมอสามารถตรวจได้อย่างรวดเร็วและง่าย ๆ เช่น ตรวจเชื้อจากการป้ายจมูกว่าเป็นอะไรแน่ ถ้าเป็นไข้หวัดใหญ่หมอจะได้จ่ายยาต้านไวรัส โดยเฉพาะในคนที่อ่อนแอ มีความโน้มเอียงที่อาจจะกลายไปเป็นปอดอักเสบ ยาที่ใช้คือ Oseltamivir, Zanamivir

ยาต้านไวรัสอาจลดความรุนแรง ระยะเวลาเป็นโรค และความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ถ้าจะให้ดีควรกินยาต้านไวรัสภายใน 24 ชั่วโมงของการเริ่มเป็น อย่างไรก็ตามแม้หลัง 24 ชั่วโมงแล้วก็ยังมีประโยชน์ โดยเฉพาะในคนที่มีความเสี่ยงสูง

เราควรมีความรู้และตื่นตัวในเรื่องภาวะแทรกซ้อน ควรไปหาหมอเมื่อคิดว่าจะมีภาวะแทรกซ้อน มีอาการ
มากขึ้น รุนแรงขึ้น อาการดีขึ้นแล้วแต่ทรุดลงอีก หรือถ้ามีอาการแปลก ๆ เช่น เจ็บคอมาก เจ็บหน้าอก
เวียนหัว สับสน หายใจลำบาก อย่ามัวโอ้เอ้ทำเป็นเล่นกับไข้หวัดใหญ่ เป็นไข้หวัดใหญ่อาจถึงตายได้

Resource: HealthToday Magazine, No.211 November 2018