ไข้เลือดออก ถึงตาย!! แต่ป้องกันได้

พญ.พลอย ลักขณะวิสิฏฐ์ แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป

0
1739
ไข้เลือดออก

สายฝนที่โปรยปรายบ่งบอกว่าประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ นอกจากความชุ่มฉ่ำและอากาศที่สดชื่นหลังฝนตกใหม่ ๆ แล้ว ในช่วงนี้เราพบผู้ป่วยที่เป็น “โรคไข้เลือดออก” เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และน่าเสียดายที่ยังมีผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคนี้ปีละหลายร้อยคนทั้ง ๆ ที่เป็นโรคที่เราสามารถป้องกันได้

โรคไข้เลือดออกเป็นโรคติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งซึ่งมียุงลายเป็นพาหะนำโรค มีช่วงระยะฟักตัวของโรค (ระยะเวลาตั้งแต่ยุงกัดจนกระทั่งเกิดอาการ) ประมาณ 3-4 วัน อาการเริ่มแรกคือ มีไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว ปวดข้อ ปวดรอบกระบอกตา ปวดศีรษะ อาจมีคลื่นไส้อาเจียน หรือถ่ายเหลวได้ อาการจะไม่จำเพาะเจาะจง เนื่องจากอาการดังกล่าวสามารถเกิดจากการติดเชื้อไวรัสอื่น ๆ ได้เช่นกัน แต่โดยส่วนใหญ่แล้วไข้เลือดออกจะมีไข้สูงลอย 2-7 วัน การกินยาพาราเซตามอล (paracetamol) หรือเช็ดตัวจะช่วยลดไข้ได้บ้าง แต่สักพักไข้ก็จะกลับขึ้นมาใหม่ รวมถึงอาการปวดเมื่อยเนื้อตัวอย่างมากก็จะช่วยให้คิดถึงโรคนี้ได้มากขึ้น เพราะอีกชื่อหนึ่งของโรคไข้เลือดออกก็คือ ไข้ปวดกระดูก หรือ Break-bone fever

สาเหตุที่เรียกโรคนี้ว่า “ไข้เลือดออก” เนื่องจากเมื่อติดตามอาการในช่วงที่ไข้ลง เกล็ดเลือดจะลดลงอย่างมากจนอาจจะพบเลือดออกในผู้ป่วยบางรายได้ เช่น เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล ปัสสาวะเป็นเลือด หากร้ายแรงกว่านั้นอาจพบเลือดออกในปอด ช่องท้อง หรือในสมองได้ รวมไปถึงสารน้ำที่ปกติอยู่ในหลอดเลือดจะรั่วออกมา ทำให้ความเข้มข้นของเลือดสูงขึ้น ความดันโลหิตอาจต่ำลงจนอวัยวะภายในต่าง ๆ ขาดเลือดไปเลี้ยง และทำให้อวัยวะภายใน
ล้มเหลวจนกระทั่งนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ส่วนใหญ่มักพบการระบาดในฤดูฝนในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย และมักพบการระบาดในผู้ป่วยที่มีบ้านหรือชุมชนอยู่ใกล้เคียงกัน

โรคนี้วินิจฉัยอย่างไร

ในช่วงวันแรก ๆ ของไข้ การวินิจฉัยแยกจากโรคอื่น ๆ อาจทำได้ยาก จะต้องมีการติดตามเจาะเลือดเพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของเม็ดเลือดขาว ความเข้มข้นของเม็ดเลือด และเกล็ดเลือดอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีการเจาะหาโปรตีนของเชื้อไข้เลือดออก (Dengue NS1Ag) ซึ่งจะพบในผู้ป่วยไข้เลือดออกประมาณ 1-4 วันแรก หลังจากนั้นค่าจะลดลงจนตรวจไม่พบ แต่ก็ยังสามารถตรวจหาค่า Antibody (Dengue IgM and IgG) ได้ ซึ่งเมื่อมีการ
ติดเชื้อไข้เลือดออก ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา แต่การตรวจ Antibody นี้อาจจะพบในการติดเชื้อตัวอื่นที่อยู่ในตระกูลเดียวกันกับไข้เลือดออกได้ เช่น ถ้าเป็นโรคติดเชื้อไวรัสซิกา แต่ไปตรวจ Antibody ต่อไข้เลือดออก ผลก็อาจจะเป็นบวกได้ จึงอาจจะวินิจฉัยผิดไปว่าเป็นไข้เลือดออกได้ ทั้งที่ความจริงแล้วเป็นโรคติดเชื้อไวรัสซิกาต่างหาก แต่แพทย์ก็จะอาศัยการซักประวัติและตรวจร่างกายเป็นข้อมูลสำคัญที่จะช่วยในการแยกโรคเหล่านี้ออกจากกัน

ไข้เลือดออกรักษาอย่างไร

การรักษาโรคไข้เลือดออกเป็นการประคับประคองตามอาการเท่านั้น เนื่องจากโรคนี้ไม่มียาฆ่าเชื้อที่จำเพาะต่อโรค เช่น ถ้ากินอาหารไม่ได้หรือกินได้น้อยก็ให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำช่วยได้บ้าง แต่ถ้าหากยังพอกินได้ ควรจะกินด้วยตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก เพราะการกินทางปาก ร่างกายจะดูดซึมน้ำในปริมาณที่เหมาะสมมากกว่าการให้ทาง
หลอดเลือดดำ ดังนั้นเวลาที่เราไปพบแพทย์ก็มักจะได้ยาลดไข้พาราเซตามอล ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน และน้ำเกลือแร่เป็นหลัก หลักการคือ เน้นให้ร่างกายไม่ขาดน้ำ ดังนั้นแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยพยายามจิบน้ำเกลือแร่ตลอดทั้งวัน สามารถสังเกตด้วยตนเองว่าเราดื่มน้ำได้เพียงพอหรือไม่โดยดูจากริมฝีปากและลิ้นต้องมีความชุ่มชื้น สีของปัสสาวะเป็นสีเหลืองจาง ๆ ถ้าหากสีปัสสาวะเป็นสีเหลืองเข้ม แสดงว่าร่างกายยังขาดน้ำอยู่

ถ้าหากมีเลือดออกให้พยายามห้ามเลือดด้วยตนเองก่อน เช่น ถ้าเลือดกำเดาไหลก็ต้องก้มหน้า บีบจมูก แล้วหายใจทางปากแทน แล้วใช้น้ำแข็งช่วยประคบบริเวณระหว่างหัวคิ้วและจมูก ถ้ามีเลือดออกตามไรฟัน ให้งดแปรงฟัน แล้วใช้น้ำเกลือบ้วนปากแทน อาจใช้การอมน้ำแข็งเพื่อช่วยให้เลือดหยุดไหลได้ แต่ถ้ามีเลือดออกปริมาณมากและไม่สามารถหยุดได้ด้วยวิธีการข้างต้น แนะนำให้ไปพบแพทย์ในทันที

แล้วจะป้องกันไม่ให้เป็นไข้เลือดออกได้อย่างไร

คนทั่วไปมักจะระวังยุงกัดในเวลากลางคืนมากกว่ากลางวัน แต่แท้ที่จริงแล้ว ยุงลายซึ่งเป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออกนั้นออกหากินเวลากลางวันจนถึงเวลาใกล้พลบค่ำ ดังนั้นควรทายากันยุงทั้งกลางวันและกลางคืน นอกจากยุงลายจะเป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออกแล้ว ยังสามารถนำโรคติดเชื้อไวรัสซิกาและโรคชิคุนกุนย่าได้อีกด้วย ดังนั้นการป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัดจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด โดยเริ่มจากอันดับแรกคือ การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง โดยป้องกันไม่ให้ยุงเข้าไปวางไข่บริเวณที่มีน้ำขัง เช่น คว่ำขันหรือภาชนะต่าง ๆ ที่มีน้ำขัง ปิดฝาแหล่งเก็บน้ำให้สนิท หากภาชนะไม่สามารถ
ปิดฝาได้ ให้ปล่อยปลาหางนกยูงเพื่อกำจัดลูกน้ำยุงลาย หรือใส่ทรายอะเบท รวมถึงในช่วงที่มีการระบาดของโรค ควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขพ่นเคมีกำจัดยุงในระยะตัวเต็มวัยด้วย

อย่างไรก็ตามเราควรป้องกันยุงมากัดที่ตัวเราเองด้วย โดยการสวมเสื้อและกางเกงแขนขายาว ควรเลือกเสื้อผ้าสีอ่อนจะดีกว่าสีเข้ม เพราะสีเข้มจะดึงดูดยุงมากกว่า รวมไปถึงการใช้ยากันยุงทาที่ผิวหนัง โดยหลักการเลือกยากันยุงนั้นไม่ใช่ว่าจะซื้อแบบไหนก็ได้ แต่ควรเลือกยากันยุงที่มีส่วนผสมของ DEET (N,N diethyl-meta-toluamide) มีความเข้มข้นอยู่ในระดับ 20-50%  ยากันยุงที่โฆษณาขายกันโดยทั่วไปอาจจะมีเปอร์เซ็นต์ของ DEET ไม่เพียงพอ ดังนั้นอย่าลืมพลิกดูฉลากด้านหลังก่อนซื้อยากันยุงทุกครั้ง

การป้องกันไม่ให้ยุงมากัดเป็นวิธีที่ดีที่สุด ดังนั้นอย่าลืมทายากันยุงทุกครั้ง และถ้าหากมีไข้สูงก็อย่าลืมมาพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยอย่างถูกต้องด้วยนะคะ…ด้วยความปรารถนาดีจาก “หมอพลอย”

 

Resource: HealthToday Magazine, No.207 July 2018