ทำไม…ไมเกรน

ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช อายุรแพทย์ระบบประสาทและสมอง

0
1920

จากการสำรวจขององค์การอนามัยโลกเกี่ยวกับผลกระทบของโรคต่าง ๆ ต่อคุณภาพชีวิต ผลปรากฏว่า ‘ไมเกรน’ เป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของกลุ่มคนวัยทำงานที่อายุน้อยกว่า 50 ปีมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง เนื่องจากระดับความรุนแรงของอาการปวดในไมเกรนจะมีระดับสูงจนทำให้ผู้ป่วยต้องนอนพัก ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวัน
ต่าง ๆ ได้ตามปกติ ซึ่งหากผู้ป่วยรับประทานแต่ยาแก้ปวดรักษาเป็นครั้ง ๆ และละเลยปล่อยให้อาการปวดศีรษะเป็นบ่อยขึ้น อาจส่งผลให้ไมเกรนกลายเป็นโรคปวดศีรษะที่รุนแรง หรือเรียกว่า ‘ไมเกรนเรื้อรัง’ ได้

ปัจจัยกระตุ้นไมเกรน

ไมเกรนเป็นโรคที่พบได้ในคนทุกกลุ่ม ตั้งแต่เด็กอายุ 4-5 ขวบไปจนถึงผู้สูงอายุ แต่ส่วนใหญ่มักพบในกลุ่มวัยรุ่นและวัยกลางคน หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 60-70 ของผู้ป่วยไมเกรนทั้งหมด เนื่องจากเป็นวัยที่มีโอกาสเจอกับปัจจัยกระตุ้นได้มากกว่าวัยอื่น ๆ ซึ่งปัจจัยกระตุ้นดังกล่าวแบ่งได้เป็น 2 ปัจจัยหลัก คือ

  1. ปัจจัยภายนอก ได้แก่
  • สภาพอากาศ เช่น อากาศที่ร้อนหรือหนาวเกินไป อากาศที่อบอ้าวคล้ายฝนจะตก
  • กลิ่น เช่น กลิ่นฉุน กลิ่นเหม็น อย่างกลิ่นน้ำหอม กลิ่นสีทาบ้าน กลิ่นปิ้งย่าง เป็นต้น
  • แสง เสียง ได้แก่ แสงที่จ้าเกินไป เช่น แสงแดดกลางแจ้ง แสงจากโทรทัศน์หรือมือถือ
    แสงจากอุปกรณ์ไฟสตูดิโอ และเสียงที่ดังเกินไป เช่น เสียงร้องของเด็ก

สำหรับอาหาร แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ อาหารหมักดอง รวมทั้งชีส และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สำหรับกาแฟนั้นขึ้นอยู่กับการตอบสนองของแต่ละบุคคล คือ เป็นได้ทั้งปัจจัยกระตุ้นไมเกรนสำหรับบางคน ในขณะที่บางคนการดื่มกาแฟจะช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะเฉียบพลันได้

  1. ปัจจัยภายใน ได้แก่ พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ ‘ไม่ปกติ’ เช่น กินอาหารไม่ตรงเวลา อดหลับอดนอน เครียด คิดมาก เหล่านี้เป็นปัจจัยภายในหลัก ๆ ที่กระตุ้นไมเกรน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยภายในบางอย่างที่เราไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ฮอร์โมน โดยจะสังเกตได้ว่าผู้ป่วยไมเกรนบางรายมักมีอาการปวดศีรษะในช่วงก่อน ระหว่าง หรือหลังมี
    ประจำเดือน ซึ่งเกิดจากการแกว่งของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกาย

ปวดแบบไหนต้องสงสัยไมเกรน

โดยปกติอาการปวดศีรษะจากไมเกรนจะมีลักษณะจำเพาะ โดยกลุ่มอาการที่บ่งชี้ว่าคุณอาจจะกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาไมเกรน ได้แก่

  • ปวดศีรษะข้างเดียว หากมีอาการปวดในลักษณะนี้ให้ต้องสงสัยไว้ก่อน โดยเฉพาะถ้ามีอาการปวดศีรษะข้างเดียวที่สลับข้างไปมาในแต่ละครั้ง เช่น ครั้งนี้ปวดศีรษะด้านซ้าย ครั้งต่อมาปวดศีรษะด้านขวา อย่างนี้เป็นต้น เนื่องจากอาการปวดศีรษะที่มีสาเหตุจากโรคอื่น ๆ มักไม่ค่อยเปลี่ยนข้างไปมา แต่พบได้ในไมเกรน
  • ลักษณะอาการปวดเป็นแบบ ‘ปวดตุบ ๆ’ โดยทั่วไปเส้นเลือดของคนเราจะเต้นตุบ ๆ อยู่แล้ว แต่เราไม่รู้สึกเนื่องจากเส้นประสาทของเรารับความรู้สึกในระดับปกติ ตรงกันข้ามกับผู้ป่วยไมเกรนที่เส้นประสาทจะมีความไวในการรับความรู้สึกมากเกินไป เพราะฉะนั้นเพียงแค่เส้นเลือดเต้นก็ทำให้รู้สึกถึงอาการปวดตุบ ๆ ได้
  • การเคลื่อนไหวร่างกายทำให้อาการแย่ลง ผู้ป่วยไมเกรนมักมีอาการอักเสบของเส้นประสาทร่วมด้วย เมื่อมีการเคลื่อนไหว อาการไมเกรนจะแย่ลง ดังนั้นผู้ป่วยไมเกรนจึงต้องนอนพักหรือนั่งนิ่ง ๆ
  • อาการปวดศีรษะที่เกิดขึ้นทำให้ผู้ป่วยต้องหยุดพัก เพราะผู้ป่วยจะปวดศีรษะมากในระดับหนึ่ง หากปวดแบบสบาย ๆ ไปเดินจ่ายตลาดได้ โอกาสที่จะเป็นอาการปวดจากไมเกรนก็อาจจะไม่มากนัก

ทั้งหมดนี้คือกลุ่มอาการต้องสงสัยถึงไมเกรน นอกจากนี้ยังมีอีก 2 อาการสำคัญที่บ่งชี้ถึงไมเกรนมากยิ่งขึ้น คือ ปวดศีรษะร่วมกับมีอาการคลื่นไส้อาเจียน หรือ มีอาการทางตาร่วมด้วย เช่น ตาสู้แสงไม่ได้ หรือมีการมองเห็นที่
ผิดปกติ เห็นแสงระยิบระยับ เห็นแสงเหมือนฟ้าผ่า มองเห็นภาพบิดเบี้ยวไป โดยอาการทางตานี้มักเกิดขึ้นก่อนอาการปวดศีรษะไมเกรน เรียกว่า ‘อาการเตือนในไมเกรน’ ซึ่งเป็นอาการที่จำเพาะมากในผู้ป่วยไมเกรน

อย่างไรก็ตามการจะมั่นใจได้ว่าอาการที่เกิดขึ้นนี้มีสาเหตุจากไมเกรนก็ต่อเมื่อ เป็นอาการปวดศีรษะที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ในรูปแบบเดิม อย่างน้อย 5 ครั้ง ไม่จำกัดเวลา เช่น ในระยะเวลา 1 ปี คุณปวดศีรษะมาแล้ว 5 ครั้ง และเป็นรูปแบบการปวดที่เหมือนกันทุกครั้ง อย่างนี้ถือว่าเข้าข่ายไมเกรน แต่ถ้ามีอาการผิดปกติทางตาหรือการมองเห็นร่วมกับอาการปวดศีรษะดังที่กล่าวมา ในกรณีนี้หากเกิดขึ้นซ้ำเดิม 2 ครั้งถือว่าเข้าข่ายเป็นไมเกรนแล้ว ไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดขึ้นซ้ำเดิมถึง 5 ครั้ง เนื่องจากอาการทางตาเป็นอาการจำเพาะของไมเกรน

ยิ้มได้กับไมเกรน

ผู้ป่วยไมเกรนหลายคนอาจรู้สึกกังวลและท้อแท้เมื่อรู้ว่าไมเกรนเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด แต่อย่าลืมว่ามีหลายโรค
ที่รักษาไม่หายขาดเช่นเดียวกัน เช่น โรคภูมิแพ้ ซึ่งหากผู้ป่วยสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ อาการก็จะกำเริบขึ้นมาใหม่ ไมเกรนก็เช่นกัน ถ้าผู้ป่วยสามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นได้ อาการปวดศีรษะก็จะไม่เกิดขึ้น ทำให้ผู้ป่วยทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพ ส่งผลดีทั้งต่อตนเอง องค์กรที่ทำงาน และประเทศชาติที่จะมีประชากรที่มีคุณภาพมาช่วยกันพัฒนาประเทศ ทั้งยังเป็นการประหยัดงบประมาณในการจัดซื้อยารักษาอีกด้วย จะเห็นได้ว่าถ้าเราสามารถจัดการกับไมเกรนได้อย่างมีประสิทธิภาพก็จะเกิดผลดีตามมาอีกมากมายในวงกว้าง

ไมเกรน

ดังนั้นเพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ป่วยไมเกรนซึ่งมีอยู่ประมาณร้อยละ 15-20 ของประชากรไทย จึงได้มีการจัดทำแอพลิเคชั่น ‘Smile Migraine’ ขึ้นมา เพื่อเป็นเครื่องมือในการติดตาม ประมวลผล และให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยถึงวิธีการจัดการกับไมเกรนด้วยตนเองอย่างเหมาะสมและได้ผล โดยสามารถดาวน์โหลดมาใช้งานได้แล้วทั้งระบบ iOS และ Android เพียงค้นคำว่า Smile Migraine หลังจากติดตั้งแอพลิเคชั่นบนมือถือเรียบร้อยแล้ว ให้กรอกข้อมูลส่วนตัวทั่วไป และตอบคำถามเกี่ยวกับไมเกรน เช่น ชนิดของไมเกรน อายุที่เป็นไมเกรน ยาที่ใช้ในการรักษา พฤติกรรมในชีวิตประจำวัน รวมทั้งบันทึกข้อมูลอาการปวดที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้ง ซึ่งแอพลิเคชั่นจะเก็บข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์ สรุปผล ช่วยให้เรารู้ว่าในแต่ละเดือนเราปวดศีรษะไมเกรนกี่ครั้ง เป็นนานกี่วัน มีระดับความปวดอยู่ที่เท่าไร และรับประทานยาอะไรบ้าง รวมทั้งช่วยให้ประเมินได้ว่าอะไรคือปัจจัยกระตุ้นไมเกรนที่เราควรหลีกเลี่ยง และคำแนะนำอื่น ๆ ในการรับมือกับอาการไมเกรน นับเป็นแอลพิเคชั่นที่มีประโยชน์ ซึ่งจะได้มีการพัฒนาต่อยอดต่อไป

หากมองในแง่ดี การเป็นไมเกรน ธรรมชาติของร่างกายจะบังคับให้เราใช้ชีวิตให้ดี เมื่อใดก็ตามที่เราใช้ชีวิต
ไม่เหมาะสม เช่น อดหลับอดนอน กินข้าวไม่เป็นเวลา เครียด ไมเกรนก็จะกลับมา เตือนให้เรารู้ว่าต้องปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตแล้ว ในขณะที่คนทั่วไปไม่มีอะไรมาคอยเตือน จึงใช้ชีวิตด้วยความประมาท และอาจลงท้ายด้วยการป่วยเป็นโรคใดโรคหนึ่งก็เป็นไปได้ และนี่คือหนึ่งในข้อดีของไมเกรน และจะดียิ่งขึ้นถ้าเราสามารถดูแลตนเองได้อย่างเหมาะสมจนสามารถยิ้มได้กับไมเกรน

Resource: HealthToday Magazine, No.209 September 2018