มีคำกล่าวว่าโลกทุกวันนี้อยู่ยากขึ้น อาจจะมีส่วนจริงหากมองถึงสภาพแวดล้อมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบในชีวิต การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิที่ทำให้เกิดภัยพิบัติที่รุนแรงทั่วโลก สภาพการใช้ชีวิตที่ต้องแข็งขันต่อสู้ หรือแม้แต่การใช้ชีวิตตามปกติก็มีเหตุการณ์ที่ต้องเดินหน้า ไม่ยอมแพ้ต่อความสูญเสีย ความผิดหวังที่เข้ามากระทบ เด็กหลายคน หรือแม้แต่ผู้ใหญ่ อาจมีชีวิตที่ดี ดูเหมือนเดินหน้าไปได้ด้วยดี แต่เมื่อมีเหตุการณ์บางอย่างในชีวิต กลับเปลี่ยนความเป็นไปของชีวิตทั้งชีวิตที่เหลือ เหตุการณ์ที่สร้างความสูญเสีย เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกเจ็บปวด ท่วมท้นด้วยอารมณ์ที่ผิดหวังต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนเอง สร้างความหวั่นไหวในใจ จะผ่านไปด้วยไม่ยอมแพ้ หรือไม่ยอมสู้ ขึ้นกับความเข้มแข็งทางใจของคนคนหนึ่ง
ความเข็มแข็งทางใจเป็นความสามารถในการปรับตัวต่อเรื่องเลวร้าย ผิดหวัง คุกคาม สร้างความกดดัน คนเรามีความเข็มแข็งทางใจเป็นปกติเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่กดดันขึ้นในชีวิต แต่ความสามารถที่จะเผชิญกับสถานการณ์อาจไม่เท่ากันในแต่ละคน คนที่เข้มแข็งไม่ใช่คนที่ไม่เคยมีปัญหาในชีวิต แต่เป็นคนที่เรียนรู้พัฒนาตนเองให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้หลังเหตุการณ์ที่ไม่สมหวังเกิดขึ้น พื้นฐานที่ช่วยให้คนคนหนึ่งเรียนรู้และสร้างความเข็มแข็งทางใจได้ มาจากคนใกล้ชิดแวดล้อมที่ใส่ใจ สนับสนุนด้วยความรัก ความเชื่อมั่นไว้วางใจ ซึ่งในเด็กครอบครัวเป็นสิ่งแวดล้อมสำคัญที่ช่วยสร้างการเรียนรู้ ทั้งการเอาใจใส่ เข้าใจ ให้ความรัก ความไว้วางใจ สนับสนุนให้กล้าที่จะผ่านความเจ็บปวด และเป็นต้นแบบในการปรับตัวต่อสถานการณ์ที่กดดันทางอารมณ์
ปัจจัยที่เอื้อต่อความเข้มแข็งทางใจมาจากการได้รับการยอมรับให้เชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง มีความภาคภูมิใจในตัวเอง สามารถจัดการกับอารมณ์ที่ก่อให้เกิดความกดดัน เจ็บปวด สามารถสื่อสารเพื่อนำไปสู่การหาทางออกของปัญหา วางแผนแก้ปัญหาแบบเป็นขั้นตอนทีละขั้น อดทนที่จะผ่านช่วงเวลาที่รู้สึกแย่ ความสามารถเหล่านี้สะสมผ่านการเผชิญเหตุการณ์ในชีวิต ได้พ่อแม่ช่วยสนับสนุนให้ปรับตัวต่อเหตุการณ์อย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช้ความรุนแรงทั้งกับตนเองหรือผู้อื่น เป็นการเรียนรู้ที่เติบโตไปตามวัยพร้อมกับความเข้มแข็งทางใจ
ความยากของพ่อแม่อยู่ที่การสนับสนุนลูก พ่อแม่มีแนวโน้มต่อว่าหรือซ้ำเติมเวลาที่เด็กมีเรื่องผิดหวัง หรือละเลยไม่ให้เวลาที่จะฟังเวลาลูกมีเรื่องผิดหวัง หรือเด็กที่เติบโตโดยไม่มีใครทำหน้าที่พ่อแม่ให้เขาสามารถเรียนรู้การผ่านความเจ็บปวดของการสูญเสียไปได้ เด็กกลุ่มที่ไม่มีพ่อแม่เป็นหน้าที่ของการจัดบริการทางสังคมให้มั่นใจว่าไม่มีเด็กถูกละเลยทอดทิ้งจนโตมาด้วยสภาพจิตใจที่ไม่เข้มแข็งพอที่จะปรับตัว สิ่งที่ช่วยสร้างความเข้มแข็งทางใจมาจาก
- การมีสัมพันธภาพแบบผูกพัน อย่างความสัมพันธ์ของพ่อแม่ลูก ความเป็นพี่น้อง การมีเพื่อนที่ใกล้ชิด ผู้ใหญ่ที่ไว้วางใจอย่างครอบครัวอุปถัมภ์ ญาติผู้ใหญ่ ครู เป็นต้น หรือแม้แต่ความสามารถในการรวมกลุ่มกันในชุมชนก็เป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนเสริมกันทั้งตัวบุคคลและความเข้มแข็งของทั้งกลุ่มเมื่อเผชิญเหตุการณ์กดดันร่วมกัน
- การมีมุมมองต่อเหตุการณ์ตามความเป็นจริง การเกิดเหตุการณ์ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้แล้ว แต่การเปลี่ยนตนเองหลังเหตุการณ์เกิดแล้วมีความเป็นจริงมากกว่า และมองให้เลยไปข้างหน้า เพื่อเห็นว่ายังมีสิ่งที่ควรจะผ่านไปในวันนี้เพื่อเป้าหมายที่กำลังจะเกิดขึ้น
- ยอมรับชีวิต การเผชิญเหตุการณ์เป็นประสบการณ์ของชีวิต พ่อแม่ไม่ควรปกป้องลูกจนขาดโอกาสเจอบทเรียนที่เขาต้องหัดเผชิญด้วยตัวเอง โดยมีพ่อแม่เป็นผู้สนับสนุนการเรียนรู้ ปัญหาเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิต
- สร้างเป้าหมาย ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น การมีเป้าหมายช่วยให้เดินหน้าต่อได้ แม้อาจต้องปรับเปลี่ยนหรือขยับเวลาที่จะไปสู่เป้าหมาย แต่เป้าหมายยังคงอยู่
- ลงมือทำเท่าที่ทำได้ การเดินหน้าไปสู่เป้าหมายต้องเริ่มด้วยการตัดสินใจทำ การลงมือทำในแต่ละวัน ยังช่วยให้สภาพจิตใจได้รับการเยียวยาจากการได้ทำอะไรในแต่ละวัน และยังทำให้รู้สึกว่ายังสามารถเดินหน้าไปได้แม้จะช้าลง
- มองหาโอกาสใหม่ บางอย่างที่เสียไปแล้ว อาจเพื่อการมองหาโอกาสใหม่ๆ ให้กับชีวิต
- มองตัวเอง เอาใจใส่ การเผชิญเหตุการณ์เป็นโอกาสของการเรียนรู้ การได้เจอกับประสบการณ์แม้ทำให้กดดัน เจ็บปวด เมื่อเวลาผ่านไป การหันกลับมาเรียนรู้มักเป็นประโยชน์ หาทางออกสำหรับตัวเองที่จะดูแลอารมณ์ความรู้สึก รวมทั้งเอาใจใส่ตัวเอง บางคนเลือกจะเขียน เลือกจะพูด เลือกจะหากิจกรรมที่สร้างความสงบ ผ่อนคลายในแบบของตัวเอง
เหตุการณ์ที่สูญเสียผิดหวังทำให้รู้สึกว่าอารมณ์ท่วมท้นจนรู้สึกจะทนไม่ไหว แต่ในที่สุดจะกลายเป็นอดีตที่ให้เรียนรู้ เรียนรู้ที่จะยืดหยุ่น ก้าวข้าม เดินผ่านอย่างไม่ยอมแพ้ ถ้าหนักเหนื่อยมากเกินกำลัง ควรหาตัวช่วยที่ไว้วางใจ และเดินหน้าต่อไปในทุกวัน ในที่สุดสิ่งที่เคยคิดว่ายากที่จะทำใจรับได้ จะผ่านไปด้วยความเข้มแข็งในใจ
ภาพประกอบโดย วาดสุข
Resource: HealthToday Magazine, No.183 July 2016