มีคุณพยาบาลวัยประมาณ 40 ปีคนหนึ่ง ชื่อพี่หลี ทำงานในโรงพยาบาลเดียวกับผม ก่อนหน้านี้เมื่อหลายปีก่อนหัวหน้างานการพยาบาล ส่งพี่หลีมาหาผม บอกว่าแกมีความกังวลสูง เครียดง่าย ให้มารักษากับผม ตอนนั้นถ้าจะพูดตามตรงจริงๆ ต้นเหตุของความกังวลทั้งหลายของพี่หลีก็คือ…หัวหน้าคนที่ส่งแกมานั้นแหละ
ผมก็คุยกับพี่หลีมาอยู่เรื่อย ๆ ทำจิตบำบัดให้คำปรึกษาอะไรไปเรื่อย พี่หลีคงรู้สึกอยู่บ้างว่าการคุยกับผมช่วยอะไรได้ เพราะมีอะไรก็แวะมาปรึกษาผม ผมก็คุยอย่างคนรู้จัก ไม่ได้ตั้งตัวเป็นจะหมอรักษาอะไรแกนัก วันนี้ผมเดินสวนกับพี่หลีโดยบังเอิญ พี่หลีก็ยิ้มให้และเดินผ่านไป สักพักแกเดินย้อนกลับมา ถามผมว่าวันนี้พอมีเวลาไหม มีเรื่องติดค้างในใจอยากปรึกษา ผมบอกว่าเดี๋ยวเลิกงานตอนเย็นแวะมาก็ได้ ผมจะอยู่รอคุยด้วย …เย็นวันเดียวกันนั้นพี่หลีลงเวรก็มาคุยกับผมที่ห้อง ท่าทางเหนื่อย ๆ ผมเลยต้อนรับหาน้ำหาท่าช่วยให้หายเหนื่อยก่อนเริ่มสนทนา
“เรื่องที่อยากปรึกษานี่…มันก็เล็กน้อยไม่ค่อยเป็นเรื่องละนะ แต่มันคิดวน ๆ มาสองสามวันแล้ว พอเดินผ่านอาจารย์แล้วเลยคิดว่าอาจารย์อาจจะช่วยได้ เลยมาปรึกษาอาจารย์ดีกว่า”
“ครับพี่ ผมว่าจริง ๆ มันคงไม่ได้เล็กน้อยละครับ ถ้าเราคิดวน ๆ เกี่ยวกับมันได้แสดงว่ามันคงสำคัญไม่เบา”
“เรื่องที่ว่าก็คือ…เรื่องเช็งเม้ง อาจารย์ก็เป็นคนจีนใช่ไหม อาจารย์ต้องไปเช็งเม้งหรือเปล่า”
“ครับ ผมก็เป็นคนจีน แต่ดูไม่ออกว่าพี่มีเชื้อจีน ดูเหมือนคนไทยมาก”
“พี่เป็นจีนแคะไง จีนแคะนี่ไม่ค่อยขาว ตาโตกว่าคนจีนทั่วไป และคงมีเชื้อไทยปน ๆ มา แต่ที่บ้านก็ยังทำตามประเพณีจีนตลอด ไหว้เจ้าทุกรอบ ตรุษจีน สารทจีน เช็งเม้ง ทำตามแบบเดิมตลอดไม่เคยเปลี่ยนแปลง แต่ที่มันกลายเป็นเรื่องก็คือ…อาจารย์ก็ได้ข่าวใช่ไหมที่ช่วงนี้พยาบาลขาดแคลน ที่วอร์ดก็มีน้องลาออกไป หัวหน้าฝ่ายเขาก็ขอร้องว่าช่วงนี้อยู่เวรกันเยอะหน่อย กำลังจะหาน้องใหม่มาเพิ่ม ตอนนี้เลยหนัก อยู่เวรเยอะมาก เช้าต่อบ่าย บ่ายต่อดึก กลับบ้านนอนทีนี่แทบไม่มีแรง ก็งานหนักมาจะเป็นปีแล้ว แต่ไม่ได้เครียดนะ หัวหน้าเขารู้ว่าคนน้อยเขาก็ทำดีด้วย ทีนี้พี่ก็เหนื่อยมากไง วันหยุดก็อยากจะพัก เสาร์อาทิตย์นี่ไม่อยากไปไหนเลย บางทีก็ต้องทำงานทั้งเสาร์ทั้งอาทิตย์ ปัญหามันก็มาเกิดตรงที่วันอาทิตย์นี้ที่บ้านพี่เขาจะไปเช็งเม้งกัน พี่เองไม่ได้ขึ้นเวรแต่พี่เหนื่อย พี่อยากใช้วันหยุดเพื่อหยุดจริง ๆ ไม่อยากตื่นเช้า ๆ ไปเช็งเม้งถึงสระบุรี มันรู้สึกขึ้นมาเลยว่าฉันไม่อยากไป พี่ก็บอกที่บ้านว่าจะไม่ไป ทางบ้านเขาก็ดูไม่พอใจกัน พี่เลยกลุ้มใจ เหมือนเราไม่ดีกับที่บ้าน พอบอกว่าปีนี้ไม่ไปนะ เขาก็น้อยใจ บอกว่าน่าจะให้ความสำคัญกับทางบ้านบ้าง ตั้งแต่แต่งงานออกไปนี่ไม่เห็นความสำคัญของพ่อแม่บ้างเลย ไม่ว่างมา ไม่เอาหลานไปไหว้เขา ขุดเรื่องอะไรมายืดยาว น้องสาวก็บอกจะปล่อยคนแก่สองคนหอบหมูหอบไก่ไปไหว้เจ้าไกล ๆ กันได้ยังไง ไม่คิดว่าพ่อแม่ลำบากบ้างเหรอ ทำไมไม่รักพ่อรักแม่ ทำไมไม่มาเจอญาติพี่น้องบ้าง เฮ้อ…ยิ่งคิดยิ่งวุ่น” พี่หลีเล่าคล้ายบ่นแล้วเอามือจับหัวเหมือนพูดไปก็ปวดหัว
“แล้วพอเขาตอบสนองกลับแบบนี้ พี่หลีเป็นยังไงบ้าง”
“แย่…ถ้าเป็นเมื่อก่อนก็คงยอม แต่เรามาคิดดูแล้วว่าเราไม่ได้มีความสุขที่จะไป จำได้ที่ตอนนั้นมาคุยกับอาจารย์เรื่องงาน อาจารย์เคยบอกว่าทำเพราะอยากทำ กับทำเพราะต้องทำ มันคนละเรื่อง เลยไม่รู้จะเอายังไงดี คือใจมันบอกว่าเราควรพัก เราหนักมาหลายวันแล้ว เราไม่มีวันหยุดเลย ไม่มีเวลาผ่อนคลาย แล้วถ้าต้องเอาเวลาไปอยู่บนรถติด ๆ ตากแดดร้อน ๆ เพื่อไปเช็งเม้ง มันเหมือนเราต้องไปทรมานตัวเองเพื่อแสดงความรักกับครอบครัว แล้วก็เลยเป็นโจทย์ว่าเธอรักที่บ้านมากพอจะเสียสละไหม ใจมันบอกว่ารัก แต่ฉันขอพักได้ไหม”
“ขอจากใครครับ”
“ขอจากทุกคน…ทุกคนในบ้าน”
ผมเองก็อยากแนะนำไปตรง ๆ ว่าที่จริงแล้วความสุขของเราไม่เห็นจะต้องไปขออนุญาตใคร เราเป็นนายของใจเรานี่นา แต่ผมคิดว่านั่นก็คงเป็นการคิดอะไรแทนเจ้าตัว ผมน่าจะลองทำอะไรที่ทำให้เขามีคำตอบของปัญหาด้วยตัวเองดีกว่า ผมนึกอะไรสนุก ๆ ออกเลยจะลองชวนพี่หลีทำ
“สมมติว่าทุกคนที่บ้านมาอยู่ตรงนี้กันหมด เอาบรรพบุรุษในฮวงซุ้ยมาด้วยเลย สมมติมากันทุกคน อยู่ตรงนี้” ผมชวนพี่หลีจินตนาการ ซึ่งเธอก็มโนตามคำชักชวนของผมได้ดี เพราะเราเคยใช้วิธีนี้มาก่อนแล้ว และดูเหมือนจะเข้าถึงพอสมควร เพราะพี่หลีเริ่มน้ำตาคลอ ๆ
“เกิดอะไรขึ้นครับ”
“พออาจารย์บอกให้นึกถึงคนในฮวงซุ้ย เลยคิดถึงปู่กับย่า ภาษาจีนแคะเรียกว่า อากุง อาโผว่ พอเห็นสองคนนี้ก็จี๊ดในใจมาก นึกถึงตอนเด็ก ๆ เรารู้สึกได้ว่าเราเป็นหลานรักของเขา เราเป็นหลานคนแรก เราใช้เวลากับเขาทั้งสองคน และรู้สึกได้ว่าเขารักเรามากเลย”
“งั้น…ลองหลับตาแล้วส่งกระแสจิตไปถามพวกเขาดูสิครับว่าไม่ไปเช็งเม้งได้ไหม”
พี่หลีหลับตา สักพักก็ยิ้มออกมา ตอบผมว่า “เขาบอกว่าไหว้เขาที่ตรงไหนก็ได้ คิดถึงเขาบ้างเขาก็ดีใจแล้ว”
“แล้วถ้าอย่างนั้นตกลงว่าไม่ไปเช็งเม้งได้ไหม”
“อืม…ไหว้ที่ไหนก็ได้จริง ๆ เหรอ” พี่หลียังคงสงสัย แต่น้ำเสียงไม่ได้เครียดเท่าตอนแรก “คนอื่นคงหาว่าพี่เข้าข้างตัวเอง”
“เอาอย่างนี้นะครับ เคยไหว้บรรพบุรุษที่อื่นไหมครับ เช่น ไหว้อยู่ที่บ้าน”
“ก็ถ้าเทศกาลอื่นก็ไหว้ที่บ้าน สารทจีนไหว้ที่บ้าน ตอนครบรอบวันตายเขาก็ไหว้ที่บ้าน”
“ครับ ถ้าไหว้ที่บ้านได้แสดงว่าบรรพบุรุษอยู่บ้าน แล้วค่อยลอยกลับฮวงซุ้ยที่สระบุรี ไปรอลูกหลานตอนเช็งเม้ง แล้วลอยกลับมากรุงเทพฯ ตอนสารทจีนอย่างนั้นเหรอครับ”
พี่หลีหัวเราะ “ก็ประเพณีเขาว่าอย่างนั้น เราจะไปเปลี่ยนมันก็ไม่ได้”
“พี่รู้ไหมครับว่าจริง ๆ เช็งเม้งแปลว่าอะไร”
“ไม่รู้ค่ะ อาจารย์รู้เหรอคะ”
“ครับ ผมอ่านนิยายจีนกำลังภายในมาเยอะ จริง ๆ คำว่า เช็งเม้ง มันเป็นชื่อฤดูกาลย่อยอันหนึ่งของจีนครับ ปฏิทินจีนโบราณมีการแบ่งฤดูกาลย่อย ๆ เป็น 24 ช่วง เช็งเม้งนี่ประมาณต้นเมษายน เป็นช่วงฤดูใบไม้ผลิ ที่จีนอากาศจะหายหนาว ต้นไม้แตกกิ่งออกดอก บรรยากาศกำลังสบาย ๆ คนจีนสมัยก่อนเขาก็ออกเดินทางชิล ๆ ไปฮวงซุ้ยบรรพบุรุษซึ่งเขาก็ฝังกันไม่ได้ไกลมาก นัดรวมญาติชมวิวทิวทัศน์กันไป แต่พอเวลาเดียวกันมาเมืองไทยกลายเป็นฤดูร้อนแดดเปรี้ยง แถมคนจีนหาฮวงซุ้ยทำหลุมศพในไทยก็ดันไปเจอว่าแถวสระบุรีหรือชลบุรีนี่ฮวงซุ้ยดีตามหลัก ลูกจีนที่ส่วนใหญ่อยู่กรุงเทพก็เลยต้องนัดกันฝ่ารถติดช่วงเทศกาลต้องถ่อไปไกล ๆ ในฤดูแดดเปรี้ยง ๆ และพยายามไหว้ให้เสร็จก่อนเที่ยงด้วย ไม่ได้สบายเหมือนประเพณีจีนแบบที่เขาทำกันมา”
“ที่บ้านเขาเลยพยายามไปเร็วกว่าวันจริงหนึ่งหรือสองสัปดาห์ เพราะรู้ว่าวันจริงคนจะเยอะ”
“ผมก็เคยได้ยินว่าอย่างนั้น แต่ก็ไม่รู้ใครประกาศว่าได้ เห็นไหมครับ เราทำตามข้อกำหนดของใครก็ไม่รู้ที่เรียกว่าประเพณี หมอสงสัยมาแต่เด็ก ๆ แล้วครับว่าต้นฉบับคืออะไรล่ะ ก็ประเภทเขาว่ากันมาทั้งนั้น มันมีหนังสือหรือจารึกอะไรที่ชัดเจนไหม อย่างไหว้ต้องก่อนเที่ยงเนี่ย ถ้าประเพณีจีนต้องยึดถือแบบจีนแท้ ๆ จะเอาตามเวลาที่จีนที่เร็วกว่าเราชั่วโมงหนึ่งไหม ต้องไหว้ให้เสร็จตั้งแต่สิบเอ็ดโมง”
“ก็คนแก่เขาทำกันมาก่อนแบบนี้ ต้องไหว้อย่างนี้ ต้องมีพิธีอย่างนี้”
“นั่นแหละครับ แล้วคนแก่ที่เราพูดถึงเขาไปฟังไปเชื่อใครมา แล้วทำไมต้องกำหนดให้มันลำบากลูกหลาน ถ้าพี่สังเกตของไหว้เนี่ยก็คืออาหารสมัยก่อน สมัยก่อนเขากินกันอย่างนี้ พอประเพณีเป็นของที่เปลี่ยนไม่ได้ อาหารที่ไหว้ก็เปลี่ยนไม่ได้ มันก็เลยต้องไหว้ของโบราณที่ยุคนี้ไม่ค่อยมีใครกิน ไหว้เป็ดหนึ่งตัว ไก่หนึ่งตัว หมูสามชั้น ปลาหมึกแห้ง ผลไม้ก็ต้องอ่านชื่อจีนอันไหนมงคล โอย…เตรียมกันวุ่นมาก”
“บ้านพี่เมื่อก่อนก็เคร่ง ไก่ต้องเชือดเอง เก็บทั้งตัวทั้งเครื่องใน เขาบอกว่าไหว้ไม่ครบตัวไม่ได้ จนตอนหลังทำเองไม่ไหวก็เลิก ซื้อของสำเร็จรูปแทน ขนมเมื่อก่อนก็เอาสาลี่ตลาดเก่า เดี๋ยวนี้ก็ไม่ได้ไปซื้อแล้ว”
“เห็นไหมครับ เราก็ปรับเปลี่ยนอะไรไปเรื่อยแหละ จะมาอ้างว่าประเพณีใครแท้กว่าใครได้ยังไง”
“พี่ก็คิดคล้าย ๆ หมอ แต่ไปพูดแบบนี้กับพ่อแม่ที่บ้านคงไม่ได้”
“ครับ พ่อแม่หมอเองก็คงไม่สามารถยอมรับได้เหมือนกัน เขาคงรู้สึกผิดต่อบรรพบุรุษ แต่ผมมองว่าถ้าเรารักบรรพบุรุษไม่เห็นจะต้องทำตัวลำบากเพื่อพิสูจน์ก็ได้นี่ครับ มีวิธีอื่นที่แสดงความรักมากมาย ไม่ยอมไหว้เจ้า ไม่ไปเช็งเม้ง แล้วจะแปลว่าไม่รักบรรพบุรุษนี่ มันด่วนตัดสินกันไปหน่อยไหม”
“จริง ๆ พี่ดูที่บ้านเขาก็เหนื่อย พี่ว่าจริง ๆ เขาก็ไม่อยากไป เขาก็เคยเอ่ยปาก แต่เขาคงรู้สึกว่าไม่ไปไม่ได้ พี่เคยพูดเล่น ๆ ว่าอีกหน่อยคงไม่ได้ไหว้ เขาก็พูดอย่างน้อยใจว่าก็แล้วแต่เรา แต่ถ้าเขายังไม่ตายเขาก็จะไปทุกปีให้ได้ เพราะเขารักพ่อแม่ของเขา”
“ใช่ครับ ถ้าเขาทำแล้วให้ความสุขก็ทำไป เพราะมันทำแล้วได้ความสุข แต่ถ้าทำเพราะไม่ทำแล้วทุกข์ ก็ต้องสงสัยว่าทำเพื่ออะไร จำเป็นจริงเหรอ”
“จำเป็นถ้าอยากให้ที่บ้านรัก”
“อ้าว เขาจะรักเราไหมตกลงขึ้นกับเช็งเม้งเรื่องเดียวเลยเหรอครับ”
“ก็คงไม่ แต่เขาขี้น้อยใจ”
“โอเค งั้นผมอยากชวนพี่ดูมุมอื่น พี่เคยทำอะไรที่แสดงความรักหรือเป็นประโยชน์กับพ่อแม่พี่น้องไหม”
“ก็…ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องสุขภาพ เช่น ใช้สิทธิ์เบิกยาให้เขา แวะเอายาไปให้เขา ตอนพ่อไม่สบายก็หาหมอหาเตียงให้ มาเฝ้า”
“โอเค พี่อยู่กับความทรงจำนี้สักแป๊บนึง รับรู้ถึงความรู้สึกเวลาคิดถึงเรื่องพวกนี้” ผมให้โอกาสพี่หลีได้ ‘รับรู้’ สิ่งดี ๆ ที่เคยทำให้ทางบ้าน “เรื่องดี ๆ ที่เคยทำให้ทางบ้านเนี่ยสำคัญกว่าพิธีกรรมลำบาก ๆ ไหมครับ”
“พ่อเขาคงก็อยากไปเจอกับญาติ ๆ บ้าง เขามองว่าเราแต่งเข้าบ้านสามี เหมือนพี่กับลูกกลายเป็นคนของบ้านโน้นไปแล้ว เขาอยากให้เรามาอยู่กับบ้านเขาบ้าง เขารู้สึกว่าลูกเราไม่รักเขา แต่พี่ไม่ได้คิดว่าพี่กลายเป็นคนของอีกครอบครัว พี่มองว่าพี่มาสร้างครอบครัวใหม่ต่างหาก ส่วนลูกก็ญาติทางนี้เขามีเด็กเยอะ เขาไปรับไปส่ง เขาเลยสนิทกว่า กับตายายเขาไม่ค่อยได้เจอ แถมทั้งตาทั้งยายก็เป็นพวกเล่นกับเด็กไม่เป็น ลูกของพี่เลยไม่มีอะไรจะคุยกับเขา”
“แต่ก็ไม่ได้แปลว่าไม่รัก ใช่ไหมครับ”
“ใช่”
“อยากเจอญาติก็นัดกินข้าวกันธรรมดาก็ได้ ไม่ต้องตื่นแต่ตีสี่ ฝ่ารถติดถ่อไปกินอาหารจีนโบราณปนลมร้อนที่มีฝุ่นตลบ ฟังเสียงประทัดปังๆๆ ไม่จำเป็นต้องทำอย่างนั้นก็รักกันได้ไหมครับ”
“แหม อาจารย์บรรยายเสียเห็นภาพ สงสัยไปทุกปี”
“ไม่หรอกครับ หลัง ๆ ก็ไม่ไปแล้ว”
“อ้าว แล้วพ่อแม่อาจารย์ไม่น้อยใจเหรอคะ”
“ก็อาจจะมีบ้าง แต่ผมคงต้องชัดเจนกับทางเลือกตัวเอง ไว้วันไหนอยากไปผมก็จะไป ไปถ้ามันให้ความสุข ไม่ใช่ฝืนไปเพราะจะได้ไม่รู้สึกผิด ผมจำได้ว่าบรรพบุรุษของผมฉลาดครับ ท่านไม่ได้อยากให้ผมลำบากเพื่อโชว์ความกตัญญูครับ ผมก็ทำตัวเป็นคนดี ทำความดี เลี้ยงลูกดี ๆ ให้มันอบอุ่น สงเคราะห์ญาติบ้าง ทำประโยชน์ให้สังคม ไม่ทำวงศ์ตระกูลเสียชื่อเสียง นี่ครับวิธีแสดงความกตัญญูของผม ไม่ได้ใช้เป็ด ใช้ไก่ ใช้ธูป หรือประทัด”
…..จบ…...
ภาพประกอบโดย วาดสุข
Resource: HealthToday Magazine, No.193 May 2017