ฉายรังสี รักษามะเร็ง

พญ.ชนม์นิภา นันทวิทยา

0
15495

รังสีรักษา เป็นวิธีการรักษาที่มีความสำคัญอีกแบบหนึ่งสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งทั้งในระยะเริ่มต้นและระยะแพร่กระจาย อย่างไรก็ตามมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่รู้สึกวิตกกังวลมากเมื่อรู้ว่าต้องรักษาด้วยการฉายรังสี หวาดกลัวถึงผลข้างเคียงที่จะตามมา พญ.ชนม์นิภา นันทวิทยา ผู้เชี่ยวชาญสาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ในระหว่างการสัมภาษณ์ว่า “เทคโนโลยีและองค์ความรู้ใหม่ๆ ในปัจจุบันทำให้การรักษาด้วยวิธีนี้พัฒนาก้าวหน้าไปอย่างมาก มีรูปแบบการรักษาที่หลากหลายและแม่นยำ โดยแพทย์จะพิจารณาถึงภาวะของผู้ป่วยแต่ละรายว่าเหมาะสมกับการรักษาหรือไม่ หรือเหมาะกับการรักษารูปแบบใด เพราะฉะนั้นอย่ากังวล รังสีรักษาไม่ได้น่ากลัวอย่างที่หลายคนคิด แต่เป็นการรักษาที่ดีอีกวิธีหนึ่งสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง” สำหรับใครที่ยังไม่แน่ใจ หรือไม่รู้จักรังสีรักษามาก่อน ข้อมูลที่ได้จาก พญ.ชนม์นิภาพ นันทวิทยา น่าจะช่วยให้ท่านเข้าใจเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น โดยในครั้งนี้จะเน้นประเด็น “รังสีรักษาในมะเร็งเต้านม”

การรักษาโรคมะเร็งมีด้วยกันหลายวิธี ตั้งแต่การผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด “รังสีรักษา” หรือ “การฉายรังสี” เป็นอีกวิธีหรือขั้นตอนหนึ่งในการรักษาโรคมะเร็ง เป็นการรักษาเฉพาะตำแหน่ง เช่นเดียวกับการผ่าตัด เพราะแพทย์จะฉายรังสีเฉพาะบริเวณที่มีก้อนมะเร็งโดยให้เนื้อเยื่อข้างเคียงได้รับความเสียหายน้อยที่สุด การให้รังสีนอกจากเพื่อทำให้หายขาดจากโรคแล้ว ยังใช้เพื่อบรรเทาอาการจากโรคในกรณีที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ส่วนการรักษาอีกลักษณะหนึ่ง เช่น การให้เคมีบำบัด การรักษาลักษณะนี้เรียกว่า การรักษาแบบทั่วทั้งระบบ เป็นการรักษาที่ส่งผลทั่วทั้งร่างกาย

รังสีรักษาสามารถใช้ได้กับมะเร็งเกือบทุกชนิด แต่ไม่ได้หมายความว่าสามารถใช้ได้ในผู้ป่วยทุกคน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของมะเร็ง รวมทั้งลักษณะอาการของผู้ป่วยแต่ละราย มะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งอีกชนิดหนึ่งที่มีการใช้รังสีรักษาค่อนข้างมาก ยกตัวอย่างกรณีที่ต้องมีการใช้รังสีรักษาร่วมด้วย เช่น ก้อนมะเร็งก่อนการผ่าตัดมีขนาดใหญ่กว่า 5 เซนติเมตร ก้อนมะเร็งลุกลามไปที่บริเวณผิวหนังด้านนอกหรือบริเวณผนังปอดด้านใน อีกกรณีหนึ่งคือ การผ่าตัดแบบสงวนเต้านม ซึ่งนิยมกันมากในปัจจุบัน เนื่องจากมีการศึกษาแล้วว่าผู้ป่วยที่รักษาด้วยวิธีผ่าตัดแบบสงวนเต้านมร่วมกับการฉายรังสี มีอัตราการรอดชีวิตไม่แตกต่างกับการผ่าตัดแบบตัดเต้านมออกทั้งหมด ดังนั้นผู้ป่วยที่เลือกการผ่าตัดแบบสงวนเต้านมจึงควรได้รับการฉายรังสีร่วมด้วยเสมอ

ความก้าวหน้าด้านรังสีรักษา

ในช่วงแรกที่เริ่มมีการรักษาด้วยวิธีการฉายรังสี มีการนำเทคนิคการฉายรังสีแบบ 2 มิติมาใช้ และยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาเทคนิคการรักษาแบบใหม่เกิดขึ้นเรื่อยๆ เช่น เทคนิคการฉายแสงแบบ 3 มิติ ซึ่งช่วยให้แพทย์เห็นรายละเอียดอวัยวะและก้อนมะเร็งที่อยู่ภายในตัวผู้ป่วยได้ชัดเจนกว่าภาพที่ได้แบบ 2 มิติ ซึ่งเป็นประโยชน์ในการเลือกทิศทางการเข้าของรังสี ช่วยให้หลีกเลี่ยงทิศทางการเข้าของรังสีที่ผ่านอวัยวะปกติที่สำคัญและอยู่ใกล้เคียงกับก้อนมะเร็ง และสามารถปรับความเข้มของรังสีในแต่ละทิศทางให้เหมาะสมและครอบคลุมอยู่เฉพาะที่ก้อนมะเร็ง โดยอวัยวะปกติที่อยู่ข้างเคียงได้รับปริมาณรังสีน้อยที่สุด

เตรียมตัวก่อนฉายรังสี

การเตรียมตัวโดยทั่วไปก่อนเข้ารับการฉายรังสีที่ผู้ป่วยควรปฏิบัติ คือ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ รักษาสภาพร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรงเพื่อพร้อมรับกับปริมาณรังสีที่ใช้ในการรักษา และดูแลรักษาความสะอาดทั่วไปของร่างกาย ส่วนการเตรียมตัวด้านอื่นๆ จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง สำหรับมะเร็งเต้านมแล้วแทบไม่ต้องเตรียมตัวอะไรเป็นพิเศษเลย มีเพียงแค่ อย่าทาครีมหรือสารอะไรก็ตามที่เต้านม เพราะจะทำให้ปริมาณรังสีที่ได้รับคลาดเคลื่อนไปจากที่วางแผนการรักษาไว้ในตอนแรก

การฉายรังสีในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมส่วนใหญ่จะฉายประมาณ 25 ครั้ง (ผู้ป่วยแต่ละคนอาจใช้เวลาในการรักษาไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับตำแหน่ง ขนาด และระยของโรค) โดยฉายต่อเนื่องทุกวัน แต่จะมีช่วงหยุดพักสัปดาห์ละ 1-2 วัน การฉายแต่ละครั้งจะใช้รังสีปริมาณไม่มาก เนื่องจากการฉายรังสีแม้จะพยายามหลบเลี่ยงไม่ให้รังสีถูกอวัยวะข้างเคียง แต่ก็อาจมีบางส่วนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งอวัยวะเหล่านั้นสามารถซ่อมแซมตัวเองได้ถ้าได้รับรังสีปริมาณน้อย ในขณะที่เซลล์มะเร็งจะซ่อมแซมตัวเองได้ไม่ดี เมื่อโดนซ้ำหลายๆ ครั้งก็จะตายลงในที่สุด แต่ถ้าใช้ปริมาณรังสีครั้งละมากๆ ถึงในระดับหนึ่งเซลล์ปกติจะซ่อมแซมตัวเองไม่ได้อีกต่อไป กลายเป็นว่าตายทั้งเซลล์ปกติและเซลล์มะเร็ง ทำให้เกิดผลข้างเคียงตามมาได้มาก

การฉายรังสีแต่ละครั้งในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ส่วนใหญ่ใช้เวลาไม่เกิน 10 นาที ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล จากการสอบถาม ผู้ป่วยบอกว่าไม่รู้สึกอะไรเลย เหมือนขึ้นไปนอนเฉยๆ บนเตียงฉายแสง เห็นเครื่องหมุนไปหมุนมารอบตัวเองเท่านั้น ในช่วงเดือนแรกหลังจากฉายรังสี ไม่ควรขัดถูผิวบริเวณที่ฉายรังสี เพราะอาจยังมีการอักเสบอยู่ และผู้ป่วยควรมาตรวจติดตามผลการรักษาตามแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ

ผลข้างเคียงที่อาจพบได้

เนื่องจากเป็นการฉายรังสีบริเวณเล็กๆ ประกอบกับปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยี 3 มิติเข้ามาช่วยในการควบคุมรังสีไม่ให้กระทบปอดและหัวใจ ดังนั้นผลข้างเคียงที่จะเกิดกับปอดและหัวใจจึงพบได้น้อยมากในปัจจุบัน ผลข้างเคียงหลักจะเกี่ยวกับผิวหนัง คือผิวหนังบริเวณที่ได้รับรังสีอาจมีสีคล้ำได้ ซึ่งจะยังสังเกตไม่เห็นในการฉายรังสีช่วงแรกๆ จนกระทั่งใกล้ครบคอร์สการรักษา ผิวจะเริ่มแดงๆ คล้ำๆ กว่าเต้านมข้างปกติ แต่ส่วนมากหลังจากฉายรังสีเสร็จแล้วประมาณ 2-3 เดือนเป็นต้นไป สีแดงคล้ำจะค่อยๆ จางลงจนสีผิวใกล้เคียงกับอีกข้าง

คำถามที่พบบ่อย

  • ผลข้างเคียง ผู้ป่วยไม่ค่อยแน่ใจว่าผลข้างเคียงจะมีแค่ผิวแดงคล้ำ ส่วนใหญ่มักถามว่าจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือผมร่วงหรือเปล่า เพราะผู้ป่วยส่วนหนึ่งได้รับยาเคมีบำบัดมาก่อนเข้ารับการฉายรังสี ในประเด็นนี้ต้องขออธิบายว่าการฉายรังสีเป็นการรักษาเฉพาะจุด ดังนั้นผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจึงเกิดขึ้นเฉพาะจุดนั้นๆ ส่วนใดที่ไม่ได้รับรังสีจะไม่มีผลข้างเคียงใดทั้งสิ้น อย่างเช่น ผมร่วง อันนี้ไม่เกี่ยวกับการฉายรังสีแน่นอนเพราะว่าบริเวณศีรษะไม่ได้รับรังสี เรื่องคลื่นไส้อาเจียนก็ไม่เกี่ยวกันในกรณีของมะเร็งเต้านมเนื่องจากบริเวณท้องไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากรังสี
  • อาหารการกิน เป็นคำถามที่ถูกถามมากที่สุดประมาณ 60-70% ของผู้ป่วยที่มารับการฉายรังสี โดยผู้ป่วยมักจะถามว่าห้ามกินอะไรบ้างในช่วงที่ฉายรังสีหรือหลังจากฉายรังสีไปแล้ว คำตอบคือ ผู้ป่วยสามารถกินอาหารที่ถูกสุขลักษณะได้ทุกอย่าง เน้นที่สุกสะอาดเป็นสำคัญ งดเว้นอาหารหมักดองหรืออาหารปิ้งย่างที่มีรอยไหม้ดำๆ แพทย์มักจะเน้นให้ผู้ป่วยกินอาหารประเภทเนื้อ นม ไข่ โดยเฉพาะในช่วงที่รับการรักษา เพราะเป็นช่วงที่เนื้อเยื่อข้างเคียงที่ได้รับรังสีต้องการโปรตีนจำนวนมากกว่าคนปกติเพื่อนำไปซ่อมแซมตัวเอง และตามที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าโปรตีนมีมากในอาหารประเภทเนื้อ นม ไข่ โดยเฉพาะ ไข่ขาว ซึ่งเป็นโปรตีนล้วนๆ ผู้ป่วยโรคมะเร็งหลายรายเชื่อว่าต้องกินมังสวิรัติ บางคนกลัวว่าการกินเนื้อสัตว์จะทำให้ก้อนมะเร็งโตเร็วขึ้น แม้แต่ไข่ก็ไม่กิน กินแต่พืชผัก ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะการไม่รับประทานโปรตีนจากเนื้อสัตว์เลยทำให้เนื้อเยื่อที่ถูกทำลายไม่สามารถซ่อมแซมตัวเองได้อย่างเต็มที่ หรือในในกรณีที่ผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดร่วมกับการฉายรังสีอาจเกิดภาวะเม็ดเลือดต่ำได้ และถ้าเม็ดเลือดต่ำมากจนถึงในระดับหนึ่ง แพทย์จำเป็นต้องหยุดการรักษาด้วยการฉายรังสีหรือแม้แต่การให้ยาเคมีบำบัดทั้งที่ระยะของโรคยังอยู่ในระยะที่สามารถรักษาให้หายได้ แต่การที่ผู้ป่วยไม่กินโปรตีน ทำให้ปริมาณเม็ดเลือดไม่เพิ่มขึ้น จึงเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้อย่างรุนแรง บางรายปริมาณเม็ดเลือดต่ำมากจนต้องให้เลือด หรือเกล็ดเลือดต่ำมากจนถึงขั้นแค่เดินชนอะไรนิดหน่อยก็เลือดออกแล้ว วิธีเดียวที่แก้ได้คือต้องเสริมเรื่องโภชนาการ โดยเฉพาะเนื้อ นม ไข่

การรักษาโรคมะเร็งเต้านมในปัจจุบันนับว่าได้ผลดีเมื่อเทียบกับมะเร็งอีกหลายชนิด ผลของการรักษาส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับระยะของโรค โดยผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้นมีอัตราการรอดชีวิตหลังรับการรักษาและตรวจติดตามนาน 5 ปี ประมาณ 80-90% ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่าปัจจุบันผู้หญิงเริ่มตระหนักในเรื่องนี้มากขึ้น และมาตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอ จึงทำให้ได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มเป็นมะเร็งในระยะแรกๆ ผลการรักษาจึงออกมาดี มีโอกาสหายขาดสูง

 

Resource : HealthToday Magazine, No. 178 February 2016