ในประเทศไทยมีกุ่มทั้งหมด 4 ชนิด แต่ที่ใช้ในบัญชียาหลักแห่งชาติและยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณคือ กุ่มน้ำ และ กุ่มบก โดยในบัญชียาหลักฯ ใช้เปลือกเป็นยาแก้ลมอัมพฤษก์ บรรเทาอาการปวดตามเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ มือเท้าตึงหรือชา ยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณใช้เป็นตัวยาตรงสำหรับขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ บำรุงธาตุเป็นตัวยาช่วยสำหรับยาถ่ายหรือยาระบายกษัยเส้น บรรเทาอาการปวดเมื่อย และบรรเทาอาการริดสีดวงทวารหนัก
ยอดอ่อน ใบอ่อน และช่อดอกอ่อนของต้นกุ่มสามารถนำมาปรุงเป็นอาหารรับประทานได้ โดยทั่วไปคนไทยนิยมรับประทานใบอ่อนและดอกอ่อนของกุ่มบกและกุ่มน้ำ อย่างไรก็ตามพบว่า กิ่งและใบของผักกุ่มมีสารไฮโดรเจนไซยาไนด์ จึงไม่ควรรับประทานสดๆ ซึ่งชาวบ้านทุกภาคของไทยล้วนแต่รับประทานผักกุ่มด้วยวิธีเดียวกัน คือ นำใบอ่อนและดอกอ่อนมาดองก่อนแล้วจึงนำไปรับประทาน หรือนำไปทำเป็นอ่อมผักกุ่มคล้ายกับการทำแกงขี้เหล็ก โดยการนำดอกมาต้มคั้นน้ำทิ้งสัก 1-2 ครั้ง เพื่อลดรสขม ปรุงด้วยข่าอ่อน ตะไคร้ น้ำปลาร้า น้ำปลา เกลือ ข้าวสารเล็กน้อย ใบแมงลัก ผักชีฝรั่ง ชาวบ้านเล่าว่าถ้าใส่น้ำคั้นใบย่านางลงไปด้วยจะทำให้ผักกุ่มจืดเร็ว ชาวใต้นำผักกุ่มไปรับประทานกับขนมจีนน้ำยา ในขณะที่ชาวเหนือจะนำยอดกุ่มมาเผารับประทานแกล้มกับลาบปลา
กินกุ่มดองแล้วได้อะไร
ในช่วงหน้าหนาวเรามักพบกุ่มดองวางขายในตลาดสด ใบผักกุ่มดอง 100 กรัม ให้พลังงาน 88 กิโลแคลอรี ประกอบด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์แก่ร่างกาย คือ น้ำ 73.4 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 15.7 กรัม, โปรตีน 3.4 กรัม, ไขมัน 1.3 กรัม, ใยอาหาร 4.9 กรัม, แคลเซียม 124 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส 20 มิลลิกรัม, เหล็ก 5.3 มิลลิกรัม, วิตามินเอ 6083IU, วิตามินบีหนึ่ง 0.08 มิลลิกรัม, วิตามินบีสอง 0.25 มิลลิกรัม, ไนอาซีน 1.5 มิลลิกรัม และวิตามินซี 5 มิลลิกรัม
Resource : HealthToday Magazine, No.183 July 2016