ความเครียดของเด็กหญิง

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์

0
1371
ความเครียด

ข้อเขียนต่อไปนี้ได้แรงบันดาลใจ ความคิด และเนื้อหาบางส่วนจากบทความ 13 and Depressed : Why Young Teen Girls are at Risk เขียนโดย Laura Choate เผยแพร่ใน Psychology Today 25 เมษายน 2018
แปลบางตอนและเขียนเพิ่มเติม

บทความต้นฉบับบอกว่าอุบัติการณ์ของโรคซึมเศร้าในเด็กผู้หญิงอายุ 13 ของสหรัฐอเมริกาสูงกว่าเด็กผู้ชายสองเท่า ทั้งที่เท่า ๆ กันก่อนหน้านั้น ไม่ทราบว่าของประเทศไทยตัวเลขนี้เป็นอย่างไร

ผู้เขียนบทความข้างต้นให้เหตุผลไว้ดังนี้

ข้อแรก เด็กผู้หญิงมีแนวโน้มเผชิญปัญหาหลาย ๆ อย่างพร้อมกันมากกว่าเด็กผู้ชาย

ที่อายุเท่ากันคือ 13 ปี เป็นช่วงมัธยม 1 เด็กเกือบทุกคนเปลี่ยนโรงเรียนไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง แต่ดังที่ทราบว่าเด็กผู้หญิงพัฒนาเร็วกว่าในตอนแรก เด็กผู้หญิงจึงเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เร็วกว่า ในขณะที่เด็กผู้ชายเผชิญปัญหาอัตลักษณ์และการหาแก๊งเพื่อเข้าสังกัด เด็กผู้หญิงพบปัญหาอย่างเดียวกันแถมด้วยการเผชิญหน้าความสัมพันธ์เชิง
โรแมนติกที่ตัวเองไม่ทันระวังด้วย

หากไม่ลืมกัน ความสัมพันธ์เชิงโรแมนติกนี้สร้างปัญหามากในตอนแรก เขาคิดอย่างไรนะ เขาจะว่าอย่างไรนะ เขาพูดแบบนั้นแปลว่าอะไรนะ เขามึนตึงทำไม เขาทำท่าแบบนั้นเพราะอะไร เย็นนี้เขาจะโทรศัพท์มาหาหรือเปล่า เขาได้อ่านข้อความที่เราจงใจทิ้งไว้หรือยัง เป็นต้น

ความสัมพันธ์เชิงโรแมนติกมาพร้อมกับการเดาใจกันเสียมาก เหนื่อยใจ!

นอกจากนี้ยังมีเรื่องการรังแกและถูกรังแก พบว่าในตอนแรก ๆ การรังแกเกิดกับเด็กผู้หญิงมากกว่า ด้วยเด็กผู้หญิงมีความสามารถใช้ภาษาและวาจาได้ดีกว่าเด็กผู้ชาย  พูดง่าย ๆ ว่าโดยทั่วไปเด็กผู้หญิงฉลาดกว่าและมีอาวุธรอบด้านมากกว่า

ข้อสอง เด็กผู้หญิงมีแนวโน้มเก็บมากกว่าปล่อย

กล่าวคือเด็กผู้ชายแสดงออกมากกว่าเวลาขัดใจ กลุ้ม เครียด คับข้องใจ โกรธ แค้น พวกเขาแสดงออกและโยนออกไปข้างนอกมากกว่าคือ externalize ทั้งความคิด อารมณ์ และจิตใจด้วย หลายคนใช้พละกำลัง ชก ต่อย ไม่ว่าจะเป็นการชกหน้าคนหรือชกกำแพงก็คือการปลดปล่อยเหมือนกัน

ในทางตรงข้าม เด็กผู้หญิงเก็บเข้าด้านในมากกว่า มิได้หมายถึงคำว่าเก็บกด (repression) ทั้งสองเพศเก็บกดพอ ๆ กัน แต่ที่เด็กผู้หญิงทำมากกว่าคือ การนำเข้าด้านในเรียกว่า internalize ทั้งความคิด อารมณ์ และจิตใจเช่นกัน
อันเป็นพยาธิสภาพของโรคซึมเศร้า (Major Depression) ในทางจิตวิเคราะห์

ข้อสาม สมองของเด็กผู้หญิงมีความไวมากกว่าเด็กผู้ชาย

ข้อสรุปนี้ได้จากการศึกษาวิทยาศาสตร์การแพทย์ด้านสมอง  มิใช่เป็นเพียงคำพูดทั่วไปเกี่ยวกับจิตใจที่ว่าผู้หญิงอ่อนไหวกว่าผู้ชาย  สมองที่ว่องไวมากกว่ามีข้อดี แต่มีข้อเสียด้วย นั่นทำให้เด็กผู้หญิงได้รับข้อมูลข่าวสารมากกว่า นั่นทำให้มีข้อมูลที่ต้องกลั่นกรอง จัดการ หรือตีความมากกว่าด้วย  แต่ด้วยประสบการณ์ที่ยังไม่มีเอาเสียเลย  โอกาสที่จะตีความผิดพลาดหรือจัดการไม่ได้จึงมีอยู่สูง

ข้อสี่ เด็กผู้หญิงมีรูปแบบการสร้างความสัมพันธ์คนละแบบกับเด็กผู้ชาย

กล่าวคือเด็กผู้หญิงสร้างสัมพันธ์และสร้างความแข็งแกร่งของเซลฟ์เอสตีม (self-esteem) ไปพร้อม ๆ กัน ยิ่ง
สานสัมพันธ์มากเด็กผู้หญิงยิ่งเชื่อมั่นมาก เด็กผู้หญิงมักให้มากกว่ารับ รวมไปถึงการให้ข้อมูลส่วนบุคคล และให้
ทุกอย่าง ครั้นถึงวันที่ผิดหวัง ผิดคาด ถูกลอยแพ เด็กผู้หญิงมีแนวโน้มเจ็บสาหัสมากกว่า เพราะที่ถูกทำร้ายคือ
เซลฟ์เอสตีมตรง ๆ

บทความมิได้บอกว่าข้างเด็กผู้ชายสร้างความสัมพันธ์ด้วยการมุ่งเน้นที่จุดใดหากมิใช่เซลฟ์เอสตีม แต่มีคำกล่าวในวงการจิตวิทยาบ้านเรามานานโดยหาที่อ้างอิงไม่ได้คือ เด็กชายคิดถึงความสัมพันธ์เชิงอีโรติกมากกว่า ในขณะที่
เด็กผู้หญิงคิดถึงความสัมพันธ์เชิงโรแมนติกมากกว่า  พูดง่าย ๆ คือในขณะที่เด็กผู้หญิงคิดเรื่องให้และมีแต่ให้
เด็กผู้ชายคิดเรื่องเอาและมีแต่จะเอา  ยามผิดหวังจึงรุนแรงต่างกัน

ข้อห้า เด็กผู้หญิงมี empathy มากกว่า

ข้อนี้ก็เพิ่งเคยได้ยินเหมือนกันว่าเด็กผู้หญิงมีความสามารถที่จะเข้าใจความทุกข์ของผู้อื่นมากกว่า เรียกว่า empathy  และเรียกความสัมพันธ์ที่เกิดว่า empathic relationship  กล่าวคือเด็กผู้หญิงสัมผัสความทุกข์ของผู้อื่น และมี
แนวโน้มจะเห็นอกเห็นใจได้ง่าย แต่ถ้าเห็นอกเห็นใจมากเกินไปจนกระทั่งเสมือนหนึ่งหลอมรวมเป็นอีโก้เดียวกัน
ความสัมพันธ์นั้นจะกลายเป็น sympathic relationship พูดง่าย ๆ ว่าอินมาก

ทำให้บางครั้ง เด็กผู้หญิงสามารถเป็นได้ถึงระดับรู้สึกผิด (guilty feeling) ที่ตนเองมิได้ประสบเหตุหรือประสบภัยเหมือนคนโชคร้ายคนอื่น ๆ ว่าที่จริงข้อนี้เป็นข้อหนึ่งที่น่าตั้งคำถามสำหรับบทความนี้ ต้องการหลักฐานสนับสนุนมากกว่านี้

ข้อหก เด็กผู้หญิงมีแนวโน้มหมกมุ่น คิดวกวน ใคร่ครวญไม่หยุดยั้งมากกว่า

ข้อนี้เป็นที่น่าสงสัยเช่นกัน  ผู้เขียนบทความต้นฉบับใช้คำว่า rumination หมายถึง เด็กผู้หญิงมีแนวโน้มจะใคร่ครวญไม่หยุด  มองในแง่ดีคือใคร่ครวญอย่างลึกซึ้ง  มองในแง่ลบคือถอนตัวไม่ขึ้น นอกจากนี้ยังมีคำว่า
co-rumination กล่าวคือเด็กหญิงมีแนวโน้มจะหาเพื่อนคุยด้วยแล้วชวนกันใคร่ครวญวนไปเวียนมาไม่ยอมเลิก
แล้วมักนำไปสู่การคาดการณ์เชิงลบเสียมากกว่า

ข้อห้าและหกเป็นสองข้อที่ผู้เขียนบทความนี้ไม่เห็นด้วยเท่าไรนัก  และคงจะต้องหาหลักฐานพิสูจน์ต่อไปว่าเด็กผู้หญิงอายุ 13 ปีเป็นเช่นนี้มากกว่าเด็กผู้ชายจริงหรือเปล่า

Resource: HealthToday Magazine, No.209 September 2018