จำปี จำปา แก้วิงเวียน

ศ.ดร.ภก.วงศ์สถิตย์ ฉั่วกุล

0
1715

พรรณไม้ในวงศ์จำปาเป็นประเภทไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็กถึงไม้พุ่ม เปลือกไม้ค่อนข้างฉ่ำน้ำ มีกลิ่นฉุน เนื้อไม้มีกลิ่นค่อนข้างหอม ชนิดที่ใช้เป็นยาสมุนไพรมากที่สุด คือ “จำปา” โดยใช้เป็นส่วนประกอบของยาหอมในยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณและบัญชียาหลักแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2554

“จำปา” เป็นไม้ที่จัดอยู่ในวงศ์โบราณที่สุดคือ Magnoliaceae มีชื่ออื่นว่า จำปากอ จำปาเขา จำปาทอง และจำปาป่า เป็นไม้สูง 10-15 เมตร เป็นหนึ่งในดอกหรือเกสรทั้งเจ็ด ประกอบด้วยดอกมะลิ ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกสารภี เกสรบัวหลวง ดอกกระดังงานไทย และดอกจำปา ส่วนเกสรทั้งเก้านั้นเพิ่มมาอีก 2 ชนิดคือดอกลำดวนและดอกลำเจียก

จำปาเป็นไม้สมุนไพรไทยที่ใช้เป็นส่วนประกอบของยาหอมในยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณและบัญชียาหลักแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2554 คือ ยาหอมทิพโอสถแก้ลม วิงเวียน ละลายน้ำดอกไม้หรือน้ำสุก และยาหอมอินทจักร์แก้ลมบาดทะจิตใช้น้ำดอกมะลิ แก้คลื่นเหียนอาเจียนใช้น้ำลูกผักชี เทียนดำต้ม ถ้าไม่มีใช้น้ำสุก แก้ลมจุกเสียดใช้น้ำขิงต้ม ดอกจำปามีน้ำมันหอมระเหยใช้เข้ายาไทยเป็นยาบำรุงหัวใจ บำรุงระบบประสาท บำรุงโลหิต แก้คลื่นไส้ แก้ไข้ ขับปัสสาวะ ส่วนจำปีนั้นมีใช้เฉพาะในยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณเท่านั้นคือดอกจำปีและดอกจำปาเป็นตัวยาช่วยในยาแก้ลมวิงเวียน

พรรณไม้ในวงศ์จำปาเป็นพรรณไม้ที่มีความเก่าแก่ดึกดำบรรพ์ที่สุดในหมู่ไม้ประเภทไม้ดอกที่มีอยู่ในปัจจุบันเนื่องจากว่ามีวิวัฒนาการในการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดต่ำที่สุด ทำให้มีโอกาสที่จะสูญพันธุ์ในธรรมชาติได้ตลอดเวลา ดังเช่นที่มีการขุดค้นพบซากของไดโนเสาร์ที่มีอายุหลายล้านปีที่ชานกรุงปักกิ่งพบว่ามีซากดอกแมกโนเลียติดขึ้นมาด้วย และปรากฏว่ามีลักษณะใกล้เคียงกับในปัจจุบัน ซึ่งป็นการยืนยันได้ว่าแมกโนเลียมีวิวัฒนาการน้อยที่สุด พบว่าจากการสำรวจการกระจายพันธุ์ของพืชกลุ่มแมกโนเลียในประเทศไทยหลายชนิดมีการกระจายพันธุ์ต่ำมากเหลือจำนวนต้นที่สามารถขยายพันธุ์เหลืออยู่น้อยมาก กล่าวได้ว่าอยู่ในสภาวะที่ใกล้จะสูญพันธุ์ได้มากที่สุด ซึ่งอาจเนื่องจากว่าพื้นที่ป่าไม้ถูกทำลายและสภาพทางนิเวศวิทยาของถิ่นกำเนิดเปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งมีแมลงกัดกินทำลายอย่างรวดเร็ว จึงควรมีการศึกษ่าแนวทางในการพัฒนาการใช้ประโยชน์รวมกับการปลูกเลี้ยงให้แพร่หลายมากขึ้น

 

Resource : HealthToday Magazine, No.186 October 2016