ทางปฏิบัติเพื่อลดผลกระทบจาก PM2.5 – เรือนไฟ

ผศ. นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ อดีตหัวหน้าสาขาวิชาอายุรศาสตร์หัวใจและหลอดเลือด ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

0
1687
ซาวนา

สมัยพุทธกาล หมอชีวกโกมารภัจ (แพทย์ผู้ถวายงานพระพุทธเจ้า) เห็นภิกษุฉันอาหารประณีตแล้วมีโทษสั่งสมมาก อาพาธมาก (เจ็บป่วยมาก) จึงขออนุญาตที่จงกรมและเรือนไฟแก่ภิกษุ เมื่อภิกษุเดินจงกรมและนั่งอบความร้อนในเรือนไฟ ก็จะมีความเจ็บป่วยน้อย พระพุทธเจ้าตรัสว่า “เราอนุญาต ที่จงกรมและเรือนไฟ” (ฉบับหลวง ๗/๗๘-๗๙) และพระองค์ยังได้บัญญัติมารยาทในเรือนไฟ วินัยในเรือนไฟ อีกหลายพระสูตร

เรือนไฟในพุทธกาล ใกล้เคียงกับ ซาวนา ในปัจจุบัน ซึ่งมีงานวิจัยหลายการศึกษา โดยเฉพาะจากประเทศฟินแลนด์ที่มีวัฒนธรรม ซาวนา มาหลายชั่วอายุคน สนับสนุนว่า การอบความร้อนจากเตาไฟให้เหงื่อออก หรือซาวนา 20 นาที (ไม่เกิน 30 นาที) ต่อวัน อย่างน้อย 4 วันต่อสัปดาห์ ในระยะเวลา 10-20 ปี สัมพันธ์กับการลดการตายจากทุกสาเหตุ 17-40% ลดการตายเฉียบหลันจากโรคหัวใจ 52-63% ลดการตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือด
34-50% ลดโรคความดันฯสูง 46% ลดอัมพาต 62% ลดโรคอัลไซเมอร์ 65% ลดโรคทางเดินหายใจ 41% ปอดบวม 37%1 นอกจากนี้ โลหะหนักที่ปนเปื้อนอยู่ในมลพิษในอากาส และ  PM2.52 ซึ่งสัมพันธ์กับการเกิด
โรคเรื้อรัง เช่น อัลไซเมอร์ โรคมะเร็งบางชนิด สามารถจะถูกขับออกจากร่างกายได้ทางเหงื่อ เพราะในหงื่อมีสารตะกั่ว สารหนู แคดเมียม และ ปรอท รวมทั้งสาร Bisphenol A (BPA) ในพลาสติก3,4

ดังนั้น ซาวนา (แห้ง) หรือ เรือนไฟ เป็นวิธีการขับสารพิษที่มากับมลพิษในอากาศ PM2.5 ออกทางเหงื่อ (อาบเหงื่อต่างน้ำ อาบน้ำล้างเหงื่อ หรือ วิธีดีท็อกซ์ ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า) และยังลดการอักเสบ ลดความดันฯ ลดไขมันผิดปกติ (เพิ่มเอชดีแอล-โคเลสเตอรอล ลดแอลดีแอลขโคเลสเตอรอล) เพิ่มภูมิคุ้มกันในร่างกาย ต้านสารอนุมูลอิสระ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของปอดและหัวใจ รวมทั้งหลอดเลือด เป็นต้น

นักกีฬาที่ออกกำลังกาย ออกเหงื่อเป็นประจำ ไม่สามารถออกกำลังกายกลางแจ้งในวันที่มีมลพิษในอากาศสูง หรือ ภิกษุ นักบวชที่ไม่สามารถออกกำลังกายดังกล่าวได้ เดินจงกรมและเรือนไฟ นอกจากจะเป็นทางออก หรือ ทางเลือก ตามคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ยังมีกลไกช่วยลดภัยอันเกิดจากมลพิษดังกล่าวได้อีกด้วย

เพราะ จงกรม+เรือนไฟ = ออกกำลังกาย+ออกเหงื่อ

เรือนไฟในห้องน้ำ (Home Dry Sauna)

คำสอนของพระพุทธเจ้า มุ่งเน้นที่แก้ปัญหา เกิด แก่ ตาย (ฉบับหลวง ๒๔/๗๖) ซึ่งเป็นปัจจัยภายใน ส่วนปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติ ภัยที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น มลพิษในอากาศ PM2.5 จะเลวร้ายเพียงใด ก็ใช้แก้ปัญหาดังกล่าวได้เสมอ ไม่จำกัด เวลา (อกาลิโก) สถานที่ บุคคล

แต่คำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นหลักการใหญ่ ๆ บางครั้งพระองค์ไม่ได้ลงรายละเอียด เพราะบางอย่าง บางเรื่อง ไม่มี ไม่เกิดในครั้งพุทธกาล ไม่สามารถระบุรายละเอียดได้ และอาจเปลี่ยนไปตามเวลาที่เปลี่ยนไป เช่น เรื่อง บริโภคสิ่งที่ย่อยง่าย เป็นเหตุให้อายุยืน บริโภคสิ่งที่ย่อยยาก อายุสั้น ก็ไม่ได้บัญญัติเพิ่มเติมว่า สิ่งที่ย่อยง่าย ย่อยยาก คืออะไร (ค้นไม่พบในพระไตรปิฎก) ในสมัยก่อน สิ่งที่ย่อยง่ายที่ทำให้อายุสั้น อาจเป็นอาหารที่ดิบ ไม่สุกสะอาด เช่น
ลาบเลือด ก้อยปลา ซึ่งมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งบางอย่างได้ แต่ในปัจจุบัน ข้อมูลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ บอกให้รู้ว่า อาหารที่สัมพันธ์กับการป่วย พิการ และการตายของชาวโลก น่าจะเป็นอาหารอุตสาหกรรม (ปรุงแต่งสุด ๆ หรือ ultra-processed food ที่สหประชาชาติให้เป็น NOVA 4 classification) ดังนั้น คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นจริงเสมอ ไม่จำกัดเวลา (อกาลิโก) ส่วนรายละเอียดการปฏิบัติตามคำสอนก็อาศัยองค์ความรู้ที่ดีที่สุดในเวลานั้น ๆ ปรับตามคำสอนฯ เพื่อประโยชน์สุขของชาวโลกได้ตลอดไป

PM2.5

สองมื้อ หมื่นก้าว ซาวนา อานาฯ
คำสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อความมีโรคน้อย อาพาธน้อย

 

ข้อมูลอ้างอิง: 1. Mayo Clin Prac 2018;93:1111 2.Toxicol Pharmacol 2018;60:195-201 3. J Environ Public Health. 2012;2012:184745. 4. J Environ Public Health. 2012;2012:185731. 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง