ตีลูก

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

0
4341

ระยะนี้มีข่าวเรื่องความรุนแรงที่เด็กกระทำต่อพ่อแม่ นำไปสู่การถกเถียงว่าเป็นเพราะพ่อแม่สมัยใหม่เลิกตีลูก ทำให้ลูกไม่กลัวที่จะทำผิด และอาจถึงขั้นทำร้ายพ่อแม่ได้ บางคนเห็นด้วยเพราะตนเองเคยถูกพ่อแม่ตี บางคนไม่เห็นด้วย ไม่เคยตีลูก วันนี้ลูกก็เติบโตเป็นเด็กที่ดี วิถีการเลี้ยงดูเด็กหลายอย่างมีการเปลี่ยนแปลงไป การตีเป็นอีกหนึ่งวิธีที่มีแนวโน้มลดลง ด้วยความเข้าใจว่าพ่อแม่สามารถมีทางเลือกในการทำให้ลูกเรียนรู้พฤติกรรมที่เขาได้กระทำ ความสำคัญอยู่ตรงที่พ่อแม่ได้สอนให้ลูกเรียนรู้ที่จะหยุดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการแสดงความรุนแรงโดยไม่จำเป็นต้องลงโทษด้วยการตีได้อย่างไร

พ่อและแม่มีรูปร่างที่ใหญ่โตกว่าลูกตอนที่ลูกยังเป็นเด็ก นอกจากร่างกายที่ใหญ่โตกว่า พ่อแม่มีประสบการณ์ชีวิต มีความสามารถที่จะควบคุมตนเองได้ดีกว่าลูก พ่อแม่สามารถใช้ร่างกายของตนเองในการหยุดลูกได้หลากหลายวิธีโดยไม่จำเป็นต้องตีลูก ข้อเสียอย่างหนึ่งที่เป็นที่ยอมรับกัน คือ การตีลูกในเวลาที่ไม่พอใจหรือโกรธที่ลูกไม่เป็นอย่างที่คิด โอกาสที่พ่อแม่จะควบคุมตัวเองในการตีลูกในภาวะอารมณ์เช่นนั้นทำได้ยาก การควบคุมน้ำหนักมือที่จะตี การหยุดตัวเอง เป็นโจทย์ยาก ทางเลือกที่จะไม่ตี ทำให้พ่อแม่ต้องเลือกคิดว่าจะจัดการเรื่องพฤติกรรมลูกอย่างไรดี เริ่มคิดว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ก็เป็นจุดเริ่มที่จะต้องทำความเข้าใจที่มาของพฤติกรรมลูก และเป็นจุดเริ่มที่จะต้องควบคุมอารมณ์ตนเองให้ดี จะได้สามารถเลือกวิธีที่จะมาสอนให้ลูกเรียนรู้ที่จะหยุดและควบคุมตัวเองได้

การใช้การลงโทษด้วยการตียังเพิ่มโอกาสที่จะตีซ้ำ ๆ เพราะเมื่อเลือกการตีไปแล้ว มักจะเลือกการตีแทนการแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่น ๆ ที่ต้องใช้การพูดคุย การอธิบาย การติดตามให้ลูกทำตามที่บอก ต่างจากการตีที่ดูเหมือนยาแรงออกฤทธิ์เร็ว ใช้บ่อย ๆ เกิดภาวการณ์ติดการใช้การตีทันที ยิ่งเห็นผลเหมือนเด็กยอม ดูซึมลง เด็กมักเงียบ แต่ไม่แน่ว่าภายใต้อาการเงียบลง เขาเข้าใจสิ่งที่เขาถูกสอนหรือไม่ ยิ่งถ้าตีด้วยความรุนแรงบ่อย ๆ เด็กอาจหยุดพฤติกรรมต่อหน้า แต่กลายเป็นเด็กก่อปัญหาบ่อย ๆ โดยเฉพาะกับคนอื่น กับเด็กที่เล็กกว่า หรือเป็นเด็กที่ขาดความสามารถเรื่องการเรียน ถ้ารุนแรง เด็กอาจเริ่มขาดความสัมพันธ์กับพ่อแม่ ออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน นอกโรงเรียน เป็นเด็กที่มีความเสี่ยงเรื่องพฤติกรรมหลายรูปแบบ

ยาแรงตัวนี้มีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก โอกาสดื้อยาก็มาก ในขณะที่มีทางเลือกในการสอนลูกที่ได้ผล การถกเถียงกันของพ่อแม่ควรกลับมาที่เราจะดูแลลูกอย่างไร เมื่อไรที่ต้องหยุดพฤติกรรมลูก และถ้าต้องสอนเขาจะสอนอย่างไรให้เขาเรียนรู้ที่จะดูแลตัวเองสามารถควบคุมตัวเองได้ตามวัยของเขา ซึ่งพื้นฐานที่สำคัญเริ่มต้นจากความสัมพันธ์ของพ่อแม่ พ่อแม่ถ้ามีปัญหากันเองไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร จัดการปัญหาของตนเองแบบผู้ใหญ่ให้ได้  แล้วจะสามารถทำหน้าที่พ่อแม่ได้ดีขึ้น

พ่อแม่จัดการความสัมพันธ์ของตนเองได้ไม่ว่าจะอยู่ด้วยกันหรือไม่ก็ตาม ต้องรักษาความผูกพันกับลูกด้วยการดูแลลูก มีกิจกรรมด้วยกัน มีการพูดคุยกัน มีกติกาของบ้าน เมื่อต้องลงโทษลูกก็ต้องมีความมั่นคงที่จะเข้าไปจัดการ การไม่ควบคุมลูก ปล่อยลูกทำตามใจตัวเองเป็นการทำร้ายลูกวิธีหนึ่ง สูดลมหายใจให้ลึก ๆ เชื่อมั่นในตัวเอง เชื่อมั่นในตัวลูก เราสามารถสอนลูกได้ ดูแลอารมณ์ของเรา  อย่างให้ความกังวลใจ ความหงุดหงิดรบกวนความคิดที่จะสอนลูก

บอกอธิบายกับลูกว่าเกิดอะไรขึ้น ผลที่จะตามมาจะเป็นอย่างไร เลือกวิธีที่เขาจะต้องรับผิดชอบต่อผลของพฤติกรรมตนเอง  ติดตามข้อตกลงที่ได้ตกลงกัน ยืดหยุ่นได้บ้าง แต่อย่าปล่อยปละละเลย หรือตึงเครียดจนในที่สุดใช้อารมณ์ด้วยคำพูดรุนแรงซึ่งทำร้ายลูกเช่นเดียวกับการตี ความสม่ำเสมอของพ่อแม่จะเป็นเหมือนสิ่งที่ค่อย ๆ ดัด ปรับแต่งพฤติกรรมของลูกจนเขาเติบโตจากภายในที่จะดูแลควบคุมตัวเขาเอง เขาสามารถเลียนแบบการดูแลอารมณ์ของพ่อแม่ ดูความอดทนในการเผชิญสถานการณ์ ดูการแก้ปัญหาที่หาทางออกโดยไม่ใช้ความรุนแรง ที่สำคัญเรียนรู้ที่จะมีความมั่นคงทางอารมณ์ด้วยความผูกพันกับคนสำคัญที่ฟูมฟักอบรมสั่งสอนเขา

เวลาเห็นข่าวความรุนแรงของเด็ก อย่าเพิ่งกังวลใจ และคิดว่าเป็นเพราะทำอะไร หรือไม่ทำอะไร การสั่งสมพฤติกรรมจนรุนแรงถึงกับทำร้ายบุพการีมีเหตุปัจจัยหลายอย่าง การดูแลลูกไม่ได้มีสูตรสำเร็จตายตัว แต่มีแนวทางที่สามารถใช้เป็นหลักยึด ปรับให้พอเหมาะกับธรรมชาติของพ่อแม่และตัวลูกแต่ละคนด้วยความผูกพันทางอารมณ์ที่ดีต่อกันเสมอ

ภาพประกอบโดย  วาดสุข

 

Resource : HealthToday Magazine, No.185 September 2016