ปวดหัวเฉียบพลัน

นพ.ชวโรจน์ เกียรติกำพล อายุรแพทย์

0
7355

เชื่อว่าเกือบทุกคนคงเคยมีประสบการณ์ปวดหัวเฉียบพลันกันมาบ้างแล้ว ซึ่งอาการของแต่ละคนอาจมีความรุนแรงแตกต่างกันตามสาเหตุ แต่แทบทุกคนล้วนมีความกังวลใจกันอยู่ไม่น้อยเวลาเกิดอาการเช่นนี้ เช่น อะไรเป็นสาเหตุของอาการปวดหัวของเรากันแน่? มีอะไรเกิดกับสมองของเราหรือเปล่า? เราต้องไปหาหมอหรือเปล่านะ หรือลองกินยาแก้ปวดแล้วรอดูอาการก่อนดี? เมื่อไหร่ต้องรีบไปโรงพยาบาลโดยด่วน? เราจะรับมือกับอาการปวดหัวเฉียบพลันอย่างไร ติดตามอ่านได้เลยครับ

อาการปวดหัว เป็นอาการที่พบบ่อยมากทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดย 2 ใน 3 ของเด็กทั้งหมด และ 9 ใน 10 ของผู้ใหญ่ทั้งหมด ล้วนเคยมีอาการปวดหัว โดยที่ผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสเกิดอาการนี้ได้เท่าๆ กัน สาเหตุของอาการปวดหัวนั้นแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

  1. อาการปวดหัวที่เกิดขึ้นเองโดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ยกตัวอย่างอาการปวดหัวในกลุ่มนี้ เช่น โรคปวดหัวจากเครียด โรคปวดหัวไมเกรน ซึ่งอาการปวดหัวในกลุ่มนี้พบบ่อยที่สุดถึงประมาณ 90% ของการปวดหัวทั้งหมด
  2. อาการปวดหัวที่มีสาเหตุจากโรคต่างๆ โดยความรุนแรงของอาการขึ้นกับสาเหตุ เช่น ปวดหัวจากการติดเชื้อทั้งจากภายนอกหรือภายในสมอง ปวดหัวเมื่อมีไข้หรือการอักเสบในร่างกาย ปวดหัวจากการดื่มสุรา ปวดหัวจากความดันในสมองสูง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) โรคเนื้องอกในสมอง ปวดหัวจากสายตาผิดปกติ เช่น สายตาสั้น ปวดหัวจากโรคต้อหิน เป็นต้น
  3. อาการปวดหัวจากเส้นประสาทสมองและอื่นๆ เช่น อาการปวดหัวที่เกิดจากประสาทสมองเส้นที่ 5 เป็นต้น

เนื่องจากอาการปวดหัวมีสาเหตุและความรุนแรงแตกต่างกัน การรับมือกับอาการนี้ยามฉุกเฉินจึงต้องอาศัยความรอบคอบ แม้ว่าโดยส่วนใหญ่มักไม่ได้มีสาเหตุที่ร้ายแรงและอาจบรรเทาเองได้ก็ตาม โดยทั่วไปการดูแลตัวเองเบื้องต้นและการป้องกันอาการปวดหัวอาจทำได้หลายอย่าง เช่น กินยาแก้ปวด อย่างเช่นยากลุ่มพาราเซตามอล หรือยาแก้ปวดลดอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ซึ่งเป็นยาที่สามารถหาซื้อมาไว้ติดบ้านได้และมีใช้อย่างแพร่หลาย (ยากลุ่ม NSAIDs ควรระมัดระวังการใช้หน่อยนะครับ ควรอ่านฉลากและคำเตือนให้รอบคอบ) การประคบเย็นในบริเวณที่ปวด หรือประคบอุ่นในกรณีเป็นไซนัสอักเสบ การนวดหรือกดคลึงบริเวณที่มีกล้ามเนื้อตึงตัวมากเกินไป นอกจากนี้ควรหยุดดื่มสุรา เลิกสูบบุหรี่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียดกับปัญหารอบตัวจนเกินไป เหล่านี้จะช่วยป้องกันอาการปวดหัวไม่ให้กลับเป็นซ้ำได้ครับ

 

อาการปวดหัวที่ต้องมาพบแพทย์ทันที

  • ปวดจนสะดุ้งตื่น
  • ปวดต่อเนื่องและอาการไม่ดีขึ้นภายใน 3 วันแม้กินยาแก้ปวดแล้ว
  • ปวดถี่ขึ้น หรือปวดรุนแรงกว่าเดิม
  • ปวดผิดปกติไปจากเดิม เช่น ปวดมากขึ้น ต่อเนื่อง กินยาแล้วไม่หายทั้งที่เคยกินแล้วหาย
  • ปวดหลังจากเกิดอุบัติเหตุบริเวณหัว เพราะเป็นอาการของเลือดออกในสมอง
  • ปวดมากร่วมกับตาแดง ปวดตามาก เห็นไม่ชัด เพราะเป็นอาการของต้อหิน
  • ปวดมากและมีอาการร่วมอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ คลื่นไส้อาเจียน แขนขาอ่อนแรง พูดไม่ชัด หน้าหรือปากเบี้ยว ปวดเฉียบพลันร่วมกับคอแข็งและ/หรือมีไข้สูง

Resource : HealthToday Magazine, No. 178 February 2016