คุณแม่มือใหม่มักจะมีเรื่องให้กังวลมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาการแพ้ท้อง สุขภาพน้องในครรภ์ การปรับตัวกับร่างกายที่เปลี่ยนไป จนถึงเรื่องรูปร่างสัดส่วนหลังคลอด สิ่งหนึ่งที่สาว ๆ กังวลมากที่สุดก็คือเรื่องผิวพรรณนี่แหละค่ะ ความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน ระดับการเผาผลาญ (metabolism) รวมไปถึงระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงปกติระหว่างการตั้งครรภ์ และส่วนใหญ่มักจะดีขึ้นหลังคลอด
ผิวคุณแม่ต้องเจอกับความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง?
- รักแร้คล้ำ สีผิวเข้มขึ้น เป็นการเปลี่ยนแปลงที่พบได้บ่อยมาก เรียกว่าแทบจะทุกคนเลยก็ว่าได้ค่ะ มักเป็นบริเวณหน้าอก รักแร้ ลานนมกว้างและสีเข้มขึ้น มีรอยคล้ำเป็นเส้นเป็นแนวบริเวณกลางท้อง เพราะเซลล์สร้างเม็ดสีทำงานมากขึ้นและมีจำนวนมากขึ้น
- ฝ้า มักจะเริ่มเป็นช่วงที่เริ่มท้องแก่ขึ้น โดยเฉพาะคุณแม่ที่สีผิวเข้มอยู่เดิม หรือโดนแดดบ่อย จึงควรป้องกันผิวด้วยการทาครีมกันแดดอย่างสม่ำเสมอ เลือก SPF และสารกันแดดที่เหมาะสม (SPF อย่างน้อย 30 และทาอย่างเพียงพอ) ทั้งนี้การใช้ยารักษาฝ้าระหว่างตั้งครรภ์ควรต้องปรึกษาคุณหมอด้วยนะคะ เพราะยาบางชนิดต้องระวังในหญิงตั้งครรภ์ค่ะ
- รอยแตกลาย เจอได้บ่อยมากเช่นกัน มักเกิดในช่วงไตรมาสที่ 2 หรือช่วงกลาง ๆ ของอายุครรภ์ คนที่มีประวัติคนในครอบครัว เช่น คุณยายเคยมีปัญหานี้มาก่อน คุณแม่ก็มักจะเป็นด้วย สาเหตุที่แท้จริงนั้นเรายังไม่ทราบแน่ชัด แต่ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไป การขยายตัวของผิวอย่างรวดเร็ว น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันระหว่างตั้งครรภ์ ทำให้เกิดการฉีกขาดของเส้นใยในผิว มีผลต่อการเกิดรอยแตกลาย บริเวณที่เป็นบ่อย ได้แก่ หน้าท้อง หน้าอก ต้นขา สะโพก ก้น หรือบริเวณที่มีไขมันสะสมอยู่เยอะนั่นเอง อาการเริ่มของรอยแตกลาย ได้แก่ เริ่มเห็นเป็นเส้นจาง ๆ มีอาการคัน และหลังจากนั้นจะเริ่มเห็นเส้นชัดขึ้น เริ่มมีพื้นผิวไม่สม่ำเสมอ รอยมีขนาดใหญ่ขึ้นและยาวขึ้นตามอายุครรภ์ การป้องกันที่คุณแม่พอทำได้คือการทาครีมอย่างสม่ำเสมอให้ผิวชุ่มชื่น การรับประทานอาหารที่ได้สารอาหารครบ และการออกกำลังกายที่เหมาะกับการตั้งครรภ์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายและผิวมีสุขภาพที่ดี พร้อมจะปรับสภาพต่อการเปลี่ยนแปลงและการขยายตัวของผิวในระหว่างตั้งครรภ์ได้ดี ส่วนการรักษา เช่น การใช้ยาทา หรือเลเซอร์ ยังไม่มีการรักษาใดที่ได้ผลดีชัดเจนค่ะ
- ติ่งเนื้อหรือกระเนื้อ เป็นบริเวณลำคอ รักแร้ ใต้ราวนม และขาหนีบ มักเป็นในช่วงอายุครรภ์มากขึ้น ซึ่งหลังคลอดสามารถเลเซอร์หรือตัดออกได้โดยไม่มีอันตราย
- เล็บเปราะ เล็บจะยาวเร็วขึ้น แต่เปราะง่าย การทำเล็บในช่วงนี้ก็อาจจะต้องระวังมากขึ้น บางคนอาจจะมีเล็บไม่เรียบมีรอยขวาง ๆ ได้ ซึ่งหลังคลอดก็จะค่อย ๆ กลับเป็นปกติค่ะ
- ผมหนา ผมบาง เส้นผมเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คุณแม่หลายคนกังวล เนื่องจากระหว่างตั้งครรภ์ วงจรของเส้นผมมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้ผมอยู่นานขึ้น ทั้งผมและขนจะดูหนาและดกขึ้น แต่หลังคลอดผมจะเปลี่ยนแปลงเป็นร่วงมากขึ้นกว่าปกติ โดยเริ่มร่วงประมาณ 2-4 เดือนหลังคลอด คุณแม่มักจะตกใจและเป็นกังวล ส่วนใหญ่เส้นผมของเราจะค่อย ๆ ปรับเข้าสู่สภาวะปกติเอง แต่ในบางคนที่มีลักษณะผมบางแบบผู้ชายเกิดขึ้น เช่น แนวไรผมร่นขึ้นไป หรือผมร่วงมากกว่าปกติอยู่นาน อาจจะต้องปรึกษาคุณหมอผิวหนังเฉพาะทางเกี่ยวกับเส้นผมนะคะ
- เส้นเลือดฝอยและรอยแดง เส้นเลือดในบริเวณต่าง ๆ มักจะขยายขนาดและมีจำนวนมากขึ้น การไหลเวียนของเลือดที่เพิ่มขึ้น เช่น เส้นเลือดฝอยบริเวณใบหน้า แขน และลำคอ เป็นปื้นสีแดงเล็ก ๆ กดจาง ฝ่ามือแดงกว่าปกติ มักเริ่มเป็นที่ช่วงอายุครรภ์ 2-3 เดือน ส่วนใหญ่มักจะหายไปได้เองหลังคลอด
- เส้นเลือดขอด พบได้บ่อยถึง 50% เกิดได้ตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ของการตั้งครรภ์ เนื่องจากหลอดเลือดดำไหลเวียนได้ลดลง จากการที่มดลูกขยายขนาดขึ้นกดทับเส้นเลือดดำใหญ่ การดูแลเส้นเลือดขอด ได้แก่ การนอนยกขาสูง การใส่ถุงน่องที่ช่วยป้องกันเส้นเลือดขอดเป็นมากขึ้น (compression stocking) ลดการยืนนาน ๆ
- ขาบวม เป็นอาการหนึ่งที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเส้นเลือดเช่นกัน เนื่องจากมีปริมาณน้ำที่รั่วออกมาจากเส้นเลือดมากขึ้น การนอนยกขาสูงก็จะพอช่วยบรรเทาอาการได้ แต่ถ้าขาบวมมากผิดปกติต้องรีบไปพบแพทย์
- เหงื่อออกมากขึ้น เป็นผดร้อนง่ายขึ้น เพราะต่อมเหงื่อทำงานเยอะขึ้น
- โรคผิวหนังที่พบร่วมกับการตั้งครรภ์ เช่น ผื่นผิวหนังอักเสบ มีลักษณะคล้ายผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก ส่วนใหญ่ไม่มีผลกับสุขภาพทารกในครรภ์ แต่บางภาวะ เช่น โรคสะเก็ดเงินชนิดเป็นตุ่มหนอง อาจมีผลต่อลูกน้อยในครรภ์ได้ แนะนำให้ไปพบแพทย์เฉพาะทางผิวหนังทันทีที่เป็นผื่นมากกว่าปกติ หรือผื่นลุกลามเป็นบริเวณกว้าง
- สิว มีทั้งอาการดีขึ้นและแย่ลง การรักษาสิวสามารถทำได้ ไม่ต้องรอจนหลังคลอด แต่ควรปรึกษาคุณหมอว่ายาตัวใดเหมาะสม ยาที่ควรหลีกเลี่ยง เช่น กลุ่มวิตามินเอ หรือเตตราไซคลีน (tetracyclines)
ถ้าคุณแม่มีโรคผิวหนังอยู่เดิม บางโรคอาจดีขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ เช่น โรคสะเก็ดเงิน หรือโรค SLE แต่อาการอาจจะกำเริบขึ้นหลังคลอด จึงควรอยู่ในความดูแลของคุณหมอตลอดการตั้งครรภ์นะคะ สุดท้ายนี้การดูแลสุขภาพโดยรวมให้แข็งแรงทั้งคุณแม่และลูกน้อยสำคัญที่สุดค่ะ ส่วนการเปลี่ยนแปลงของผิวที่เป็นเรื่องปกติระหว่างตั้งครรภ์นั้น เราเพียงแค่ดูแลผิวตามปกติให้ชุ่มชื้นเพียงพอ หลังคลอดก็มักจะค่อย ๆ ดีขึ้น และกลับเป็นปกติได้เองค่ะ
Resource : HealthToday Magazine, No.199 November 2017