ผมร่วง

พญ.ปณิชา ตั้งตรงจิตร แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป

0
2673
ผมร่วง

ผมร่วง ผมบาง ศีรษะล้าน คือปัญหาที่สร้างความกลุ้มอกกลุ้มใจให้กับคุณผู้ชายมานานทุกยุคทุกสมัย เกริ่นมาขนาดนี้แล้วไม่ใช่จะมาโฆษณาผลิตภัณฑ์รักษาผมร่วงหรอกนะคะ แต่จะมาอธิบายว่าเหตุใดท่านชายหลายคนจึงต้องมานั่งปวดหัวปวดใจกับภาวะนี้ ในขณะที่อีกหลายคนผมดกดำไปจนแก่เฒ่า รวมไปถึงทำไมผู้หญิงบางคนถึงผมร่วงเวลาตั้งครรภ์ ทำไมได้ยาเคมีบำบัดแล้วผมจะต้องร่วง ว่าแล้วก็ไปค้นหาคำตอบกันเลยค่ะ

ร่างกายของคนเราถูกปกคลุมด้วยขนทั่วทั้งร่างกาย ถึงแม้ว่าจะเป็นขนเส้นเล็ก ๆ สั้น ๆ บาง ๆ ที่เราอาจจะไม่ได้สังเกตก็ตาม เว้นไว้แค่บริเวณฝ่ามือกับฝ่าเท้าเท่านั้นที่ไม่มีขน บางบริเวณจะมีขนมากกว่าปกติ เช่น บริเวณคิ้ว หนวด ผู้ชายบางคนอาจมีขนยาวขึ้นที่หน้าอกและหน้าท้อง แต่ที่ทุกคนมีเหมือนกันคือ เส้นผมบนศีรษะ

บนหนังศีรษะของคนปกติจะประกอบด้วยเส้นผมราว ๆ หนึ่งแสนถึงหนึ่งแสนห้าหมื่นเส้น แต่ละเส้นจะมีรากผมหรือ hair follicle หนึ่งรากต่อหนึ่งเส้น รากผมจะเป็นส่วนที่สร้างและผลิตเคราตินที่จะงอกยาวออกมาเป็นเส้นผม ซึ่งจะสร้างและงอกยาวออกมาประมาณวันละ 0.3 มิลลิเมตร

รากผมแต่ละรากจะมีอายุขัยประมาณ 2-6 ปีก่อนที่จะเสื่อมสภาพไปตามธรรมชาติ และจะสร้างรากผมใหม่ขึ้นมาทดแทนรากผมเดิม ในแต่ละวันจะมีเส้นผมหลุดร่วงออกมาประมาณ 10% ของเส้นผมทั้งหมด หรือประมาณ 100-150 เส้นต่อวัน หลังจากนั้นรากผมจะเข้าสู่ระยะพักช่วงหนึ่งก่อนที่จะมีเซลล์รากผมใหม่เกิดขึ้นมาแทนที่ เมื่อเราอายุมากขึ้น ระยะการพักของรากผมก็จะนานขึ้นตามไปด้วย เราจึงสังเกตได้ว่าในคนอายุมากนั้นจะมีเส้นผมที่ลดน้อยลงแม้ว่าจะไม่ได้มีผมร่วงเป็นปริมาณมากก็ตาม

ผมร่วงมากกว่าปกติ

การเกิดผมร่วงมากกว่าปกตินั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ น่าเสียดายที่สาเหตุส่วนใหญ่ยังไม่มีการรักษาที่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจเท่าที่ควร แต่ก็มีบางสาเหตุที่เราสามารถป้องกันหรือระมัดระวังหลีกเลี่ยงได้อยู่

  • ฮอร์โมน ฮอร์โมนเพศชายหรือที่เรียกกันว่าเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ได้รับการพิสูจน์มาสักระยะหนึ่งแล้วว่ามีผลกับอัตราการหลุดร่วงและงอกใหม่ของเส้นผม ด้วยเหตุนี้เราจึงมักจะเห็นผู้ชายหัวล้านมากกว่าผู้หญิง
  • ความเครียด ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกายหรือจิตใจ การเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงหรือการประสบอุบัติเหตุอาจส่งผลให้ผมร่วงได้ ความเครียดทางด้านจิตใจเองก็มีผลต่อการร่วงของผมได้เช่นกัน
  • การตั้งครรภ์ ในระหว่างการตั้งครรภ์และการคลอดบุตร ร่างกายของว่าที่คุณแม่จะมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคืออัตราการงอกใหม่และการหลุดร่วงของเส้นผม มักจะพบเห็นได้บ่อย ๆ ว่าหญิงตั้งครรภ์จะมีผมที่บางลง แต่ไม่ต้องกังวลไปค่ะ เพราะส่วนใหญ่หลังจากที่คลอดบุตรและร่างกายกลับคืนสู่สภาพปกติแล้ว อาการผมร่วงก็จะลดลง และผมก็จะกลับมางอกตามอัตราปกติได้เช่นเดิม
  • การอักเสบและติดเชื้อบริเวณหนังศีรษะ เช่น เป็นโรคผิวหนังอักเสบ มีการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราบริเวณหนังศีรษะ เหล่านี้ก็มีส่วนทำให้ผมร่วงได้เช่นกัน
  • ยาบางอย่าง โดยเฉพาะยาเคมีบำบัดที่ถูกพัฒนามาให้ออกฤทธิ์กับเซลล์ที่แบ่งตัวเร็ว ซึ่งรากผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น ทำให้ในขณะที่ได้รับยาเคมีจะทำให้เซลล์รากผมไม่แบ่งตัวและไม่มีการสร้างเส้นผมขึ้นมา นอกจากนั้นรากผมที่มีอยู่ก็จะตายลงทำให้เกิดผมร่วงได้
  • อาหารการกิน การบริโภคโปรตีนที่น้อยเกินไปทำให้รากผมเจริญเติบโตได้ไม่ดีเท่าที่ควร และการได้รับสารอาหารที่น้อยเกินไป เช่น การควบคุมอาหารอย่างมาก หรือการลดน้ำหนักโดยการอดอาหาร ก็อาจส่งผลให้ผมร่วงได้เช่นกัน
  • พันธุกรรม เชื่อกันว่าอาการหัวล้านนั้นสืบทอดทางพันธุกรรม จะสังเกตได้ว่าครอบครัวที่มีพ่อหัวล้าน ลูก ๆ ก็มักจะหัวล้านเช่นกัน

ถึงแม้ว่าสาเหตุหลักอย่างเรื่องของฮอร์โมนหรือพันธุกรรมจะเป็นเรื่องที่ไม่สามารถควบคุมหรือหลีกเลี่ยงได้ แต่สำหรับสาเหตุอื่น ๆ อย่างเช่น ผมร่วงจากยาหรือการตั้งครรภ์นั้นสามารถดีขึ้นได้เองเมื่อไม่ได้สัมผัสกับสาเหตุที่ทำให้เกิดผมร่วงแล้ว

การป้องกันผมร่วงก็มีหลากหลาย ตั้งแต่หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสิ่งที่ก่อให้เกิดผมร่วงดังที่กล่าวไปแล้ว นอกจากนี้ถ้าเริ่มมีอาการผมร่วง สิ่งที่ควรจะทำเพื่อป้องกันไม่ให้ผมร่วงเป็นหนักขึ้นก็คือ

  • หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีกับเส้นผม ไม่ว่าจะเป็นการดัด ย้อม หรือยืดเส้นผมซึ่งจะทำให้เส้นผมบอบบางและอ่อนแอ หลุดร่วงได้ง่ายขึ้น
  • การงดการใช้ความร้อนกับเส้นผมและหนังศีรษะ
  • การใช้ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเส้นผมให้เหมาะสมกับสภาพผม
  • การรับประทานอาหารให้เพียงพอและมีสารอาหารที่เหมาะสม โดยเฉพาะสารอาหารจำพวกโปรตีน ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญในการเจริญของรากผม

ถึงแม้ว่าผมบางศีรษะล้านจะไม่ใช่ภาวะที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่ก็ทำให้สูญเสียความมั่นใจ และสร้างความไม่สบายใจให้กับผู้ที่ประสบเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามการจะรักษาด้วยยาหรือวิธีใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนที่จะเริ่มไปซื้อยามารับประทานเองนะคะ เนื่องจากยาที่ใช้ป้องกันและรักษาภาวะผมร่วงนั้นมักจะมีอาการข้างเคียงต่าง ๆ แถมมาให้ด้วย จึงควรจะใช้ในความดูแลของแพทย์

 

Resource: HealthToday Magazine, No.205 May 2018