ตอนที่แล้ว ท่านได้ทราบถึงลักษณะโรคและลักษณะอาการที่พบได้ในผู้ป่วยพาร์กินสัน ซึ่งมักจะมีอาการสั่น เคลื่อนไหวช้า ขยับร่างกายลำบาก และทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ได้ยากมากขึ้นกว่าคนทั่วไป ดังนั้นการรักษา
ทางกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูปัญหาที่เกิดขึ้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นควบคู่กับการรักษาทางยา
โรคพาร์กินสันจะมีอาการและอาการแสดงที่หลากหลายแตกต่างกันในแต่ละบุคคล ดังนั้นแผนการรักษา
ทางกายภาพบำบัดจะขึ้นกับลักษณะและความรุนแรงของโรคในผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งนักกายภาพบำบัดจะมุ่งเน้นไปที่การฟื้นฟูการเคลื่อนไหวของร่างกาย การทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน และการให้ความรู้แก่ผู้ป่วยและญาติ ซึ่งมี
รายละเอียดดังต่อไปนี้
- ฟื้นฟูระดับความแข็งแรงและความทนทานของร่างกาย
- ปรับรูปแบบการเคลื่อนไหวในการทำกิจกรรมที่สำคัญ เช่น ขยับตัวลงเตียงนอน ลุกออกจากที่นอน ลุกขึ้นยืนจากเก้าอี้ และก้าวออกจากรถ
- สอนวิธีพลิกตัวหรือขยับตัวบนเตียงให้ง่ายมากขึ้น
- เพิ่มประสิทธิภาพในการยืนและหมุนตัวเพื่อเปลี่ยนทิศทาง
- พัฒนาความสามารถในการเดินให้ราบรื่นและประสานสัมพันธ์กันมากขึ้น
- พัฒนาความสามารถในการขยับและเคลื่อนไหวมือ
- ลดความเสี่ยงในการล้ม
- พัฒนาความสามารถในการเดินขึ้นและลงบันได
- สามารถทำกิจกรรมที่ทับซ้อนกันได้ดีมากขึ้น
- สามารถกลับไปเข้าร่วมกิจกรรมที่ผู้ป่วยต้องการได้
ดังนั้นการทำกายภาพบำบัดจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการดูแลรักษาผู้ป่วยพาร์กินสันในระยะยาว โดยจะเน้นไปที่
การฟื้นฟูการเคลื่อนไหว ความสมดุลในการเคลื่อนไหว และเพิ่มความสามารถในการพึ่งพาตัวเองและคุณภาพชีวิต
นักกายภาพบำบัดจะเน้นไปที่การดัดดึงข้อต่อที่ติดขัดเพื่อช่วยให้มุมการเคลื่อนไหวกลับมาปกติ โดยเฉพาะในส่วนของช่วงลำตัว การออกกำลังกายและการยืดกล้ามเนื้อเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อที่ตึงตัวเพื่อช่วยให้เคลื่อนไหวได้ดีขึ้น การฝึกเรียนรู้ท่าทางที่ถูกต้องเพื่อป้องกันการห่อตัวซึ่งพบได้บ่อยในผู้ป่วยพาร์กินสัน การฝึกการทรงท่าและฝึกสมดุลเพื่อฟื้นฟูสมดุลการทรงตัว
นอกจากการดูแลปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว ความยืดหยุ่น ท่าทาง และความสมดุล นักกายภาพบำบัดยังเน้นเฉพาะเจาะจงไปที่กิจวัตรประจำวันที่บ้านซึ่งผู้ป่วยมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นและลงจากเตียง การขึ้นลงบันได การลุกขึ้นจากเก้าอี้ หรือการจูงสุนัขเดินเล่น ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นและมีความหมายต่อผู้ป่วยในการใช้ชีวิต
สุดท้าย นักกายภาพบำบัดจะทำการประเมินและฟื้นฟูลักษณะการเดินของผู้ป่วยให้กลับมาเดินได้ด้วยตัวเองอย่างปลอดภัย โดยเฉพาะการหมุนตัวหรือจังหวะติดแข็ง ซึ่งมักพบในผู้ป่วยพาร์กินสัน นักกายภาพบำบัดจะทำการแนะนำและแก้ไขรูปแบบการเคลื่อนไหวตรงจุดนี้ให้ เช่น ใช้ตัวชี้นำทางภาพ เสียง หรือจังหวะมาช่วยกระตุ้นในจุดที่ติดแข็งนี้ให้ผู้ป่วยขยับเคลื่อนไหวต่อไปได้
ลักษณะการออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยพาร์กินสัน
การออกกำลังกายแบบแอโรบิกและการออกกำลังกายแบบเรียนรู้ท่าทางหรือกิจกรรมสามารถช่วยป้องกันการ
เสื่อมสภาพของระบบประสาทได้ การออกกำลังกายเพื่อกระตุ้นระบบหัวใจและระบบหายใจยังช่วยทำให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น มีท่าทางที่ถูกต้องเหมาะสม เคลื่อนไหวร่างกายได้ถูกจังหวะและสมดุล นอกจากนี้การเต้นรำตามจังหวะดนตรียังช่วยลดการยึดติดของข้อต่อได้อีกด้วย
นอกเหนือจากการออกกำลังกายแบบแอโรบิกที่เคลื่อนไหวด้วยท่าทางที่ถูกต้องแล้วนั้น การออกกำลังกายที่ออกแบบมาเพื่อท้าทายความสามารถของผู้ป่วยด้านการเคลื่อนไหว กิจกรรมที่เฉพาะเจาะจง หรือทิศทางที่
หลากหลาย จะช่วยฟื้นฟูปัญหาของผู้ป่วยได้ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่โปรแกรมการออกกำลังกายในผู้ป่วยพาร์กินสันควรจะมีการฝึกทำกิจกรรมที่หลากหลาย เนื่องจากผู้ป่วยมักมีปัญหาในการเปลี่ยนท่าทาง เปลี่ยนกิจกรรม หรือมีปัญหาในการทำกิจกรรมที่ทับซ้อนหรือทำสองกิจกรรมในเวลาเดียวกัน
การออกกำลังกายที่ท้าทายความสมดุลของร่างกาย และการกำหนดการวางตำแหน่งร่างกาย ก็เป็นสิ่งสำคัญควบคู่กับการฝึกกิจกรรมที่มีจังหวะ เช่น การเต้นรำ การปั่นจักรยาน สามารถช่วยรักษาความสามารถในการทำงานประสานสัมพันธ์ของร่างกายได้ และสุดท้ายการบริหารหรือออกกำลังกายที่ช่วยกระตุ้นสมาธิและการเรียนรู้ก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นเดียวกัน
การออกกำลังกายในผู้ป่วยพาร์กินสันสามารถช่วยลดการติดขัดและติดแข็งของร่างกายได้ ช่วยพัฒนาการเคลื่อนไหว ท่าทาง สมดุลการทรงตัว และการเดิน ดังนั้นการออกกำลังกายจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผู้ป่วยพาร์กินสันในการช่วยรักษาฟื้นฟูปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติ
Resource: HealthToday Magazine, No.212 December 2018