กายภาพบำบัด ผู้ป่วยพาร์กินสัน (ตอนที่ 1)

อ.กภ.สุธาสินี ทองอ่อน นักกายภาพบำบัด

0
2866
พาร์กินสัน

พาร์กินสันเป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของระบบประสาทที่พบได้บ่อยเป็นอันดับสอง รองจากโรคอัลไซเมอร์ ในประเทศไทยมีอุบัติการณ์ในการเกิดโรคพาร์กินสันอยู่ที่ประมาณ 425 คนต่อประชากร 100,000 คน และมักพบได้บ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป แต่ก็สามารถพบได้บ้างในกลุ่มคนช่วงอายุ 20 ปี อาการของโรคที่สังเกตได้ชัดคือ พบการเคลื่อนไหวช้า มีภาวะสั่น และมีปัญหาในการเดินและการทรงตัว

สาเหตุของโรคพาร์กินสัน

โรคพาร์กินสันมีสาเหตุมาจากการตายของเซลล์สมองในก้านสมองส่วนกลาง (Midbrain) ที่เรียกว่า “ซับสแตนเชียไนกรา” (Substantia nigra) ซึ่งมีหน้าที่ผลิตสารสื่อประสาทที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารกับศูนย์การควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายในสมอง ดังนั้นเมื่อเซลล์สมองส่วนนี้เสื่อมหรือตายลงจะส่งผลทำให้สมองขาดสารสื่อประสาทดังกล่าว คือ “โดพามีน” ที่ช่วยสื่อสารในการควบคุมการเคลื่อนไหวที่ต่อเนื่องของร่างกาย ทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของร่างกาย ได้แก่ เคลื่อนไหวช้า มีภาวะสั่นหรือเกร็ง และมีปัญหาในการเดินและการทรงตัว

โดยปกติการเสื่อมของเซลล์สมองนี้จะไม่เกิดกะทันหันหรือเฉียบพลัน แต่จะอาศัยเวลาถึง 4-10 ปีในการที่เซลล์ค่อยๆ เสื่อมสภาพและตายลง และค่อย ๆ แสดงอาการของโรคออกมา สาเหตุที่ทำให้เกิดการตายของเซลล์สมองส่วนซับสแตนเชียไนกรานั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่มีสมมติฐานว่าอาจจะเกิดจากการได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกาย เช่น คาร์บอนมอนออกไซด์ แมงกานีส สารเคมีหรือสารพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม และสารกำจัดศัตรูพืชหรือวัตถุอันตรายทางการเกษตร นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากการผิดปกติของยีนทางพันธุกรรมได้อีกด้วย

พาร์กินสัน

อาการของโรคพาร์กินสัน

อาการเริ่มแรกของโรคพาร์กินสันค่อนข้างจะหลากหลาย
ไม่เหมือนกันในแต่ละราย แต่โดยส่วนใหญ่มักจะสังเกต
ได้จากการเกิดอาการสั่นก่อน อาการสั่นหรือการเคลื่อนไหวช้ามักจะเกิดที่แขนหรือขาเพียงข้างเดียวก่อน เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 5 ปีหรือนานกว่านั้น แขนหรือขาข้างเดิมที่มีอาการจะเริ่มแสดงอาการตามมา จากนั้นแขนและขาอีกข้างก็จะเริ่มแสดงอาการตามมา และเมื่อมีอาการสั่นเกร็งเพิ่มมากขึ้นก็จะเริ่มกระทบต่อการเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น การลุกขึ้นจากเก้าอี้ หรือการเดิน เป็นต้น นอกจากนี้อาจพบอาการอื่น ๆ ได้อีก เช่น พูดช้าและเสียงเบา มือและเท้าหดเกร็ง การได้รับกลิ่นลดลง มีนํ้าลายเยอะกว่าปกติ มีความผิดปกติทางด้านอารมณ์ เช่น อาการซึมเศร้า วิตกกังวล หรือยํ้าคิดยํ้าทำ นอนหลับยากกว่าปกติ ท้องผูก และมีปัญหาในการกลั้นปัสสาวะ เป็นต้น ในระยะยาว 40 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วย
พาร์กินสันอาจจะพบปัญหาทางด้านความจำและสติปัญญาร่วมด้วยได้

การรักษาโรคพาร์กินสัน

ในปัจจุบันโรคพาร์กินสันไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถรักษาหรือบรรเทาอาการแสดงของโรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ และการรักษาต่าง ๆ นั้นสามารถช่วยชะลอการพัฒนาของโรคพาร์กินสันได้ โดยทั่วไปแพทย์จะใช้การรักษาทางยาเป็นหลัก โดยยาที่ใช้รักษาผู้ป่วยพาร์กินสันจะเน้นไปที่ตัวยาที่กระตุ้นการสร้างโดพามีนในสมองหรือทำหน้าที่เสมือนสารโดพามีน เพื่อช่วยให้การเคลื่อนไหวร่างกายดีขึ้น แต่หากอาการของโรคแย่ลงมากและพบสาเหตุภายในสมอง เช่น เนื้องอก แพทย์อาจจะพิจารณารักษาโดยการผ่าตัด นอกจากนี้ยังมีการรักษาฟื้นฟูตามอาการแสดงของ
ผู้ป่วยแต่ละราย เช่น การทำกายภาพบำบัด การออกกำลังกายหรือบริหารเฉพาะเจาะจง หรือการฝึกพูด เป็นต้น

การรักษาทางกายภาพบำบัดในผู้ป่วยพาร์กินสัน

การรักษาทางกายภาพบำบัดไม่สามารถรักษาภาวะของโรคพาร์กินสันที่เกิดในสมองได้ แต่สามารถช่วยรักษาอาการแสดงต่าง ๆ ที่เกิดจากพาร์กินสันได้ โดยการรักษาจะเน้นไปที่การออกกำลังกายเพื่อช่วยเพิ่มความแข็งแรงหรือลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อ ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ดีขึ้น ลดอาการปวดตามร่างกาย ช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวันได้มากขึ้น และช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้ โดยจะเน้นการรักษาไปที่เรื่องของสมดุล
การทรงตัว การทำงานแบบประสานสัมพันธ์ อาการปวดตามร่างกาย ปัญหาในการเดินและการเคลื่อนไหว และการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ

ผู้ป่วยพาร์กินสันมีอาการและอาการแสดงที่หลากหลายแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคที่เกิดขึ้น ดังนั้น
นักกายภาพบำบัดจะทำการประเมินปัญหาของผู้ป่วยแต่ละราย และวางแผนการรักษาทางกายภาพบำบัดให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย โดยมีจุดมุ่งหมายของการรักษาเพื่อการพัฒนาการทำกิจกรรมต่าง ๆ และการให้ความรู้ต่อผู้ป่วยและญาติ โดยจะกล่าวอย่างละเอียดในตอนต่อไป

พาร์กินสัน

** หากคุณตอบ “ใช่” หลายข้อ ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจประเมินโรคพาร์กินสันต่อไป

*** อาการในบางข้ออาจเกิดจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการตัดสินใจหรือวินิจฉัยว่าคุณเป็นโรคพาร์กินสันจะต้อง
มาจากแพทย์เท่านั้น

Resource: HealthToday Magazine, No.211 November 2018