ภาวะบกพร่องด้านการอ่าน

ผศ.ดร.นพ.ธรรมนาถ เจริญบุญ จิตแพทย์

0
5004
ภาวะบกพร่องด้านการอ่าน

ย้อนกลับไปร้อยกว่าปีก่อน ในปี ค.ศ. 1896 ภาวะบกพร่องด้านการอ่านได้ถูกเขียนถึงเป็นครั้งแรกโดยแพทย์ชาวอังกฤษชื่อ W.P. Morgan ซึ่งได้บรรยายถึงเด็กชายคนหนึ่งชื่อ Percy F ที่มีความสามารถและความฉลาดในทุก ๆ ด้าน แต่กลับมีปัญหาในการอ่านหนังสือไม่ออก

ภาวะบกพร่องด้านการอ่าน (dyslexia) เป็นหนึ่งในความผิดปกติของความบกพร่องในการเรียนรู้ (learning disorder: LD) เป็นภาวะที่พบบ่อยในเด็กวัยเรียน ซึ่งในปัจจุบันมีคนที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก เช่น ออร์แลนโด บลูม, ทอม ครูซ หรือริชาร์ด แบรนสัน (เจ้าของบริษัท Virgin Records) ได้ระบุว่าตัวเองเป็นคนที่มีปัญหาด้านการอ่าน
มาก่อน

คำว่า dyslexia มาจากคำว่า ‘dys’ ซึ่งแปลว่าผิดปกติหรือไม่สามารถ และ ‘lexis’ แปลว่าภาษาและการอ่าน โดยเด็กที่มีภาวะนี้จะมีปัญหาในการอ่านหนังสือ ทั้ง ๆ ที่ความสามารถด้านอื่นหรือไอคิวเป็นปกติ อาการที่ผู้ปกครองสามารถสังเกตเห็น ได้แก่ เด็กมีปัญหาสับสนในการประสมคำ อ่านผิดบ่อย ๆ อ่านแบบเดาคำ อ่านได้ช้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน อ่านข้ามคำ และมักหลีกเลี่ยงการทำงานที่ต้องอ่าน แต่หากวัดระดับสติปัญญาหรือไอคิว (IQ) จะพบว่าเด็กกลุ่มนี้มีระดับสติปัญญาในเกณฑ์ปกติ จึงทำให้ในสถาการณ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับตัวหนังสือ เด็กจะเรียนรู้และดำเนินชีวิตได้ตามปกติ

สาเหตุของภาวะบกพร่องด้านการอ่าน ในปัจจุบันพบว่าเกิดจากสมองส่วนที่ทำหน้าเกี่ยวกับภาษาและการอ่านมีการทำงานบกพร่อง ทำให้เกิดความผิดพลาดในการรับรู้ด้านภาษา ตัวอย่างเช่น “น้ำมะนาว” สมองอาจแปลงเป็น “น้ำนาวมะ” หรือ “ผลไม้” อาจแปลงเป็น “ผลได้” หรือ การเชื่อมโยงตัวหนังสือที่เห็นกับความหมายทำได้ช้า ทำให้อ่าน
ไม่ออกหรืออ่านผิด

ภาวะบกพร่องด้านการอ่านนั้นส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้และสุขภาพจิตของเด็กเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะทำให้เรียนไม่ทันเพื่อนแล้ว หลายครั้งหากผู้ปกครองหรือครูไม่เข้าใจมักมองว่าเป็น “เด็กโง่” “สอนทำเท่าไหร่ก็ไม่จำ” หรือถูกด่าว่า “อะไร แค่นี้ก็อ่านไม่ได้” ทำให้ตัวเด็กเองก็รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนโง่ไปด้วย กลายเป็นเด็กที่ไม่มั่นใจในตนเอง ไม่กล้าแสดงออกหรือตอบคำถาม หลายคนรู้สึกว่าตนเองไม่มีอะไรดี แตกต่างจากเพื่อน ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าตามมาได้ นอกจากนี้เด็กที่มีภาวะบกพร่องด้านการอ่านมักถูกกดดันหรือลงโทษเมื่ออ่านไม่ได้ ทำให้เด็กยิ่งหลีกเลี่ยงที่จะอ่านหนังสือ ส่งผลให้เด็กที่มีภาวะนี้ส่วนหนึ่งไม่อยากไปโรงเรียน และออกจากโรงเรียนก่อนวัยอันควร

แนวทางการช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาการอ่าน

การช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาการอ่านในโรงเรียน ประกอบด้วยการช่วยเหลือ 3 ด้านซึ่งต้องทำควบคู่กันไป ดังนี้

  1. การแก้ไขทักษะความบกพร่องพื้นฐาน (remediation)

คือ การสอนโดยเน้นฝึกทักษะด้านที่เด็กบกพร่อง โดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

  • ฝึกการแยกแยะเสียงของคำในภาษาพูด (phonemic awareness) โดยฝึกเด็กให้สามารถแยกเสียงขึ้นต้น เสียงสระ เสียงลงท้ายในคำได้ เช่น คำว่า “มาก” จะประกอบด้วยเสียง “เมอะ-อา-เกอะ”  ในเด็กที่บกพร่องด้านการแยกเสียง แม้คำว่า ตาก ยาก มาก จะมีเสียงขึ้นต้นต่างกันแต่เด็กอาจฟังไม่ออก อาจฝึกโดยใช้วิธีเล่นเกมชี้รูปที่เสียงขึ้นต้นเหมือนกัน เช่น ชี้รูปกุ้งที่เสียงขึ้นต้นเหมือนกับรูปไก่
  • การเชื่อมโยงระหว่างเสียงในภาษาพูดและรูปตัวอักษร (phonics) โดยฝึกให้เด็กจำตัวพยัญชนะและสระได้ทุกตัวและสามารถเชื่อมโยงหน้าตาของตัวหนังสือกับเสียงของตัวหนังสือได้อย่างถูกต้อง ไม่สับสนตัวที่หน้าตาหรือเสียงใกล้เคียงกัน เช่น ม-น หรือ ค-ด โดยอาจเล่นเป็นเกม เช่น แข่งกันหยิบบัตรตัวพยัญชนะและสระ
  • การประสมเสียงและแยกเสียง เมื่อเด็กแยกแยะเสียงและเชื่อมโยงเสียงกับตัวอักษรได้คล่องแล้ว ให้ฝึกการประสมคำ โดยเริ่มสอนจากคำที่ประสมที่มีแค่ พยัญชนะ + สระ (2 ตัว) ก่อน เช่น ปา ปู ก่อน แล้วค่อยเพิ่มลำดับความยากเป็นคำที่มี 3 เสียง (พยัญชนะ + สระ + ตัวสะกด) เช่น ดาว จาน ต่อไป
  • ความคล่องแคล่วในการอ่าน (fluency) เด็กที่มีปัญหาการอ่านนั้น เมื่อเริ่มอ่านได้แล้วจะพบว่ายังมีปัญหาเรื่องอ่านช้ากว่าเด็กทั่วไป จึงจำเป็นต้องฝึกฝนความเร็วในการอ่าน ซึ่งอาจทำได้โดยให้เด็กอ่านเรื่องสั้น ๆ และ
    จับเวลา และกำหนดเป้าหมายว่าจะใช้เวลาน้อยลงเรื่อย ๆ ในรอบที่ 2 และ 3 รวมถึงใช้วิธีอ่านไปด้วยกัน (guided oral reading) โดยให้เด็กอ่านออกเสียง แล้วผู้ปกครอง ครู หรือเพื่อน อ่านซ้ำทีละประโยคต่อจากที่เด็กอ่าน เพื่อเป็นการตอบสนอง (feedback) ให้เด็กทราบทันทีว่าที่อ่านไปผิดตรงไหนและการอ่านที่ถูกต้องนั้นอ่านอย่างไร
  • จดจำเข้าใจความหมายของคำ (vocabulary) การจดจำความหมายของคำส่งผลถึงความเข้าใจในการอ่าน ถึงแม้เด็กจะอ่านหรือสะกดได้ แต่หากไม่เข้าใจความหมายของคำก็ไม่สามารถเรียนรู้ด้วยการอ่านได้ดี การส่งเสริมการจดจำความหมายของคำทำได้โดยให้เด็กเรียนคำศัพท์ผ่านการอ่านนิทาน ทั้งการฟังคนอื่นเล่า และการอ่านให้คนอื่นฟัง และการเรียนรู้ศัพท์ใหม่นอกห้องเรียนจากการใช้ชีวิตประจำวัน การใช้หลาย ๆ วิธีในการสอนคำศัพท์ จะช่วยให้เด็กเรียนรู้ได้ดีขึ้น
  • การจับใจความเรื่องที่อ่าน (comprehension) เด็กที่มีปัญหาการอ่านจับใจความนั้นแม้จะสามารถอ่าน
    ออกเสียงได้ถูกต้อง แต่จะมีปัญหาเรื่องการทำความเข้าใจความหมายของสิ่งที่อ่าน ควรเน้นการอ่านร่วมไปกับสอนความหมายของคำที่เด็กไม่รู้จัก ฝึกให้เด็กฟังเรื่องราวและตอบคำถามจากเรื่องที่อ่าน ฝึกการแต่งเรื่องและเล่าเรื่องราวจากภาพ
  1. การช่วยเหลือให้เด็กสามารถเรียนรู้เนื้อหาวิชา (accommodation)

คือเน้นการสนับสนุนปัจจัยอื่นที่จะช่วยให้เด็กสามารถเรียนได้ โดยที่การเรียนรู้ไม่ถูกรบกวนจากความบกพร่อง ซึ่งต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจของครูและความร่วมมือของโรงเรียนด้วย ยกตัวอย่างเช่น

  • การอนุญาตให้เด็กใช้อุปกรณ์ช่วยในการเรียน เช่น ให้ใช้เครื่องอัดเสียงในห้องเรียนเพื่อนำไปทบทวนซ้ำ
  • ให้มีการสอนเสริม โดยผู้สอนช่วยอธิบายเนื้อหาที่เป็นตัวหนังสือผ่านการพูดแทนการให้เด็กอ่านเอง
  • ให้เพื่อน ผู้ปกครอง และชุมชนมีส่วนช่วย เช่น การอ่านหนังสืออัดเทปให้เด็กฟัง การใช้บริการเทปตำราเรียน (ซึ่งปัจจุบันจะมีผู้อัดเอาไว้ให้สำหรับเด็กที่มีปัญหาทางสายตา) เป็นต้น
  • ให้เวลาในการสอบมากกว่าปกติ
  • ปรับงานและการสอบให้เหมาะสมกับเด็ก แต่ยังคงได้วัตถุประสงค์ในการเรียน เช่น ใช้สอบปากเปล่า (โดยคำถามเหมือนกับคำถามในกระดาษ) เป็นต้น
  1. ส่งเสริมให้เด็กมีความภูมิใจในตนเอง (self-esteem)

พบว่าเด็กที่มีภาวะบกพร่องด้านการอ่านมักมีความภูมิใจในตัวเอง (self-esteem) ต่ำกว่าเด็กทั่วไป และส่งผลในระยะยาว ดังนั้นนอกเหนือจากการมุ่งเน้นช่วยเหลือด้านการเรียนแล้ว ผู้ปกครองและครูจึงควรส่งเสริมให้เด็กพัฒนาทักษะด้านอื่นที่เด็กถนัดควบคู่กันไป เช่น ศิลปะ กีฬา หรือดนตรี เพื่อให้เด็กมีความรู้สึกภาคภูมิในในตนเอง รับรู้ถึง
จุดเด่นของตน อีกทั้งทักษะดังกล่าวอาจนำไปสู่แนวทางในการประกอบอาชีพในอนาคตต่อไปได้อีกด้วย

 

Resource: HealthToday Magazine, No.208 August 2018