ยาเสริมความเชื่อ

นพ.ภุชงค์ เหล่ารุจิสวัสดิ์ จิตแพทย์

0
1420

การใช้ชีวิตบนโลกเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ถ้าเรายอมรับความจริงในแบบคนที่เติบโตแล้วในระดับหนึ่ง ก็คงทราบดีว่า ชีวิตนี้ไม่แน่ไม่นอน เราอาจจะประสบอุบัตติเหตุเมื่อใดก็ได้ เราอาจจะป่วยเป็นอะไรขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ได้ ความไม่แน่นอนเป็นช่วงกว้าง แกว่งไปมาระหว่าง ดีแน่นอน ปลอดภัยไม่เป็นอะไรเลยแน่นอน ลากยาวไปอีกสุดโต่งหนึ่งคือ แย่สุด ๆ ไม่รอดชัวร์ ๆ ระหว่างสองขั้วนี้ก็มีหนักมีเบาต่าง ๆ กันไป ชีวิตมีความเป็นไปได้มากมาย ต่อให้ยอมรับได้หมดทุกความเป็นไปได้ ตั้งแต่ดีสุดไปจนแย่สุด หากถามว่า อนาคตจะดีไหม เราก็คงอยากจะคิดให้ได้ว่า น่าจะดี สิ่งที่ปรารถนาก็คงพอจะได้กระมัง การคิดว่า อะไร ๆ จะดีสำหรับเรา ก็ทำให้เรามีความรู้สึกบวกต่อการใช้ชีวิตต่อไป ความคิดแบบนี้เรียกว่า “ความหวัง”

คนเราต้องการความหวัง อยากจะมีอะไรให้หวังสักหน่อย ยิ่งเมื่อความไม่แน่นอนในชีวิตประจักษ์ชัดขึ้นเรื่อย ๆ ความเสี่ยงต่อปัญหาในแง่ลบดูจะรุกเข้ามาจนเลี่ยงที่จะไม่คิดไม่ได้ เรายิ่งต้องการอะไรมาให้ความหวัง กับเรื่องสุขภาพก็เช่นกัน ตอนยังไม่ค่อยเป็นอะไรก็ยังไม่คำนึงถึงสุขภาพ พอเริ่มรู้ว่าสุขภาพไม่ดี ตับไตจะพัง กลับพยายามหายาบำรุงตับ บำรุงไต เหมือนคนไข้ที่ผมได้คุยด้วยวันนี้

คนไข้รายที่จะเล่าให้ฟังอยู่ในวัยกลางคน อายุห้าสิบกลาง ๆ หน้าตาดูทรุดโทรมแฝงแววเหนื่อยล้า คุณลุงทำงานเป็นลูกจ้างประจำของหน่วยงานราชการแห่งหนึ่ง คุณหมอทางอายุรกรรมส่งมาให้พบจิตแพทย์เรื่องเลิกบุหรี่ ผมให้คุณลุงประเมินความอยากเลิกบุหรี่เป็นเปอร์เซ็นต์ คุณลุงประเมินไว้ที่ 80%

“ที่ไม่เป็นเต็มร้อย หักไปยี่สิบเปอร์เซ็นต์นี่คิดยังไงครับ”

“ก็เวลาไปนั่งกินเหล้ากับพรรคพวก เขาควักมาสูบกัน มันก็ยากนะ นั่งอยู่ตรงนั้นแล้ว หมอคงไม่เข้าใจ”

“อ่อ…ครับ แสดงว่าคุณลุงก็มีการใช้แอลกอฮอล์ด้วย” ผมพลิกไปดูบันทึกของหมออายุรกรรม เขาเขียนว่า social drinking ซึ่งหมายถึง ไม่ได้ติดเหล้า แค่ดื่มสังสรรค์ตามงานสังคม ผมเลยถามคุณลุงต่อเรื่องการกินเหล้า “แล้วคุณลุงตั้งวงเหล้ากันบ่อยไหมครับ”

“ผมไม่ได้ตั้งเอง พรรคพวกเขากินกันประจำทุกวันอยู่แล้ว ผมผ่านไป วันไหนไม่รีบก็แวะหน่อยเท่านั้น ไม่ได้กินทุกวัน แค่บางวัน บางสัปดาห์ก็ไม่ได้กินเลย”

“บางสัปดาห์ก็กินทุกวัน อย่างนี้หรือเปล่าครับ” ผมแซวคนไข้กลับ แกก็ไม่ได้แย้งอะไร หัวเราะกันทั้งคู่

คุณลุงไม่ถึงกับต้องถอนเหล้าตอนเช้า ไม่ถึงกับจิบ ๆ กิน ๆ ทั้งวี่ทั้งวัน แสดงว่าไม่ถึงกับติดเหล้า แต่จากการคุยดูเหมือนบุหรี่จะติดแน่นอน เช้ามาปุ๊บอัดไปก่อนสองสามตัว ทั้งวันสูบไปสองซองเป็นอย่างต่ำ ผมชี้แจงเรื่องยาเลิกบุหรี่ที่จะให้คนไข้ลองใช้รวมถึงยาลดความเครียดและยาช่วยนอนในตอนกลางคืนเผื่อจะกินเหล้าน้อยลง พร้อมทั้งกึ่ง ๆ ขู่ โดยพูดถึงสถานการณ์สุขภาพของตัวแกเองว่าปอดลำบากแล้ว ตับก็ไม่ดี มีค่าการทำงานของตับที่สูงกว่าคนปกติแล้ว จำเป็นต้องหยุด

“ผมไม่อยากกินยาหลายตัว มันอาจจะเป็นพิษไปสะสมที่ตับที่ไต” เจอประโยคนี้เข้าไปผมก็อารมณ์ขึ้นเหมือนกัน อยากตวาดไปว่า แล้วที่ลุงกินเหล้าสูบบุหรี่อะไรอยู่นี่มันดีต่อตับไตมากเลยเหรอครับ กลัวผลเสียจากยามากกว่าผลเสียจากสารเสพติดเนี่ยนะ แต่ก็เข้าใจว่าโกรธแกไปคงไม่ได้อะไร มาคุยเรื่องความเข้าใจผิดนี้ดีกว่า

“ตรงนี้คุณลุงเข้าใจว่ายังไงนะครับ ยาเป็นพิษต่อตับต่อไตเนี่ย คุณลุงได้ข้อมูลมายังไงบ้างครับ”

“ใคร ๆ เขาก็รู้น่ะหมอ กินยาเยอะ ๆ มันจะไปดีได้ยังไง ตับก็ต้องทำงานหนักขึ้น ข้างบ้านนี่กินยาวันละเป็นถุง ๆ กินไปกินมา ไตวายเลย ต้องฟอกเลือดฟอกไตเกือบทุกวัน”

“งั้นหมอขอชี้แจงคุณลุงทีละเรื่องนะครับ เอาเรื่องตับก่อน ปัจจุบันตับคุณลุงทำงานได้ไม่ดีแล้วนะครับ สาเหตุก็คือการดื่มสุรา ถ้าคุณลุงห่วงตับ เลิกเหล้าครับ ไม่ใช่มาจับผิดกับยา เพราะยาที่ให้นี่ไม่ได้ทำให้ตับแย่ลงครับ แต่ถ้าคุณลุงไม่อยากกินยาที่ผมจะสั่ง คุณลุงเลิกบุหรี่เองโดยไม่พึ่งยาเลยจะเอาไหมละครับ แต่ผมห่วงว่าจะหงุดหงิด และอยากบุหรี่มากเพราะคุณลุงสูบจัด ยังไงในตอนนี้ใช้ยาไปก่อน อีกหน่อยเลิกบุหรี่ได้ขาด พวกนี้ก็ไม่ต้องกิน” แกอึ้งไป เถียงอะไรไม่ออก ผมเลยอธิบายเพิ่ม

“ส่วนเรื่องไต ที่เล่าเรื่องคนข้างบ้านนี่หมอคิดว่าต่างกรรมต่างวาระนะครับ เขาอาจจะป่วยคนละโรคกับคุณลุง แต่ฟังดูน่าจะป่วยหนัก โรคเยอะมั้งครับ เลยกินยาเป็นถุง ๆ และต่อมาที่ต้องฟอกไตก็ถูกต้องครับ แปลว่าไตเขาวาย แต่คุณลุงจะมั่นใจได้ยังไงว่าเขาไตวายเพราะยาพวกนั้น เขาอาจจะไตวายเพราะตัวโรคที่เป็นหลายอย่างก็ได้ อย่างโรคเบาหวานถ้าคุมไม่ดีก็ทำให้ไตวายอยู่ในตัวมันเองครับคุณลุง ไม่ได้แปลว่ากินยาแล้วจะไตวาย”

คุณลุงหยุดไปพักหนึ่ง สักพักก็เปลี่ยนเรื่องคุย “เออ…หมอครับ ที่เขาว่ารังนกบำรุงปอดเพราะทำจากน้ำลายนกนี่จริงไหมครับ”

“ถ้าคุณลุงคิดตามแพทย์แผนจีน แบบคนจีนเขาคิด หมอก็วิจารณ์ไม่ได้ครับเพราะไม่ได้เรียนแนวนั้นมาครับ แต่ถ้าแพทย์แผนปัจจุบัน คุณลุงต้องเข้าใจก่อนครับว่าไม่มีวิธีคิดแบบเรื่องการบำรุง คือไม่ได้คิดว่ากิน ๆ ไปเถอะเดี๋ยวจะดี ที่ไม่ดีจะช่วยกลายเป็นดี ที่ดีแล้วก็ช่วยให้ดียิ่งขึ้น คือแนวฝรั่งเขาไม่ได้คิดอย่างนั้น เขาคิดว่าอะไรทำงานไม่ดี มันเกิดจากกลไกอะไร แล้วมียาอะไรแก้กลไกนี้ได้บ้าง ไม่ได้คิดเรื่องบำรุง ดังนั้นตามแพทย์แผนปัจจุบันไม่มียาบำรุงตับ บำรุงไต เพราะแนวคิดประเภทบำรุงนี่เป็นวิธีคิดแบบแผนจีนครับ ที่ถามนี่…คุณลุงชอบกินรังนกเหรอครับ”

“ก็ไม่ได้ชอบ มันแพง ตอนที่ป่วยเป็นโรคปอดพรรคพวกเขาให้มา เห็นเขาโฆษณาทางทีวีกันเยอะ กินแล้วดีอย่างนั้นอย่างนี้ เลยถามหมอดูว่าหมอว่าไง”

“โดยสรุปคือหมอไม่มีหลักฐานว่ามันช่วยอะไรได้ครับ ถ้าคุณลุงอยากกินกินแล้วอร่อยก็ตามศรัทธา แต่จะหวังว่าช่วยเรื่องปอด คงยังหวังไม่ได้ ที่หวังได้ชัวร์ ๆ คือเรื่องเลิกบุหรี่มากกว่าครับ”

“เออ…มีอีกตัวที่จะถาม คือลูกสาวเขาไปทัวร์เกาหลี แล้วทัวร์เขาพาไปร้านขายโสม ทีนี้เขาซื้อยามาฝากตัวหนึ่งบอกว่าเป็นสมุนไพรบำรุงตับ เป็นสูตรพิเศษสำหรับคนที่กินเหล้าบ่อย กินตัวนี้ไปด้วยแล้วตับจะไม่พัง ทำจากสารธรรมชาติ หมอรู้จักไหม”

“ถ้าถามว่ารู้จักไหมก็ต้องบอกว่ารู้จักครับ เพราะหมอก็เคยไปทัวร์แบบนั้น และก็เคยฟังเขาขายของมา คุณลุงครับเวลาเขาจะขายของเขาก็ต้องโฆษณาชวนให้ซื้อจริงไหม ถ้ากินแล้วมันไม่ช่วย คุณลุงจะตีตั๋วไปเกาหลีเพื่อกลับไปต่อว่าเขาไหมละครับ ราคาก็ไม่ใช่ถูก ๆ ทั้งโสมทั้งยานี่เป็นพัน ๆ นะครับ เท่าที่หมอทราบก็ไม่ได้มีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยัน ถ้ามันได้เรื่องจริง ๆ เขาน่าจะขายเป็นยานะครับ หมอเกาหลีก็คงโด่งดังในเรื่องการรักษาโรคตับ สรุปว่าไม่มีหลักฐานอะไรยืนยันได้ อาจจะดีกับคุณลุงก็ได้ หรืออาจจะไม่มีผลอะไรก็ได้ หรืออาจจะแย่แพ้ยาตัวนี้ก็ได้ ถ้าคุณลุงได้มาแล้วอยากลองก็ตามศรัทธา”

“ไอ้เรื่องผลเสียคงไม่มีอะไรมั้งเพราะเป็นยาสมุนไพรธรรมชาติ” ผมฟังแล้วก็เอะใจ อ้าว…เมื่อกี้บอกว่ากินยาแล้วกลัวเป็นโรคตับโรคไต นี่สารอะไรก็ไม่รู้กินเข้าไปกลับไม่กลัวเลย

“คุณลุงเข้าใจว่าสารจากธรรมชาติจะแปลว่าปลอดภัยเหรอครับ”

คุณลุงหัวเราะแก้เก้อ “อ้าว ไม่รู้สิ ก็ไม่ใช่เหรอ”

“เอาอย่างนี้ งูเห่างูจงอางนี่ถือว่าธรรมชาติใช่ไหมครับ แต่ถ้าคุณลุงโดนกัดก็ตายได้นะครับ ของในธรรมชาติก็เป็นพิษได้ ไม่ใช่ว่าพออ้างธรรมชาติแล้วต้องปลอดภัยเสมอไปนี่ครับ”

“ลูกสาวเขาซื้อมาหลายกล่องก็คงจะลองกินดู เขาจะได้ไม่เสียกำลังใจ”

“ทีนี้ผมขอลองถามดูนิดหนึ่งเถอะ ถ้าคุณลุงกินยาทั้งของผมทั้งยาเกาหลีแล้วเกิดไม่สบายเป็นอะไรบางอย่างขึ้นมา คุณลุงว่าจะเกิดยาไหนมากกว่ากัน”

“ก็…งั้นผมไม่กินยาเกาหลีก็ได้”

“เปล่า ๆ ผมไม่ได้ห้ามคุณลุงกินนะครับ ผมเพียงแต่จะบอกว่ามันไม่แน่นอน อาจจะเกิดผลดีหรือผลเสียก็ได้ ถ้าคุณลุงอยากลองก็ต้องเข้าใจความเสี่ยงก่อน ผมไม่ได้ห้าม ถ้าเป็นอะไรก็มาหาผมอีกทีได้ มาค่อย ๆ ดูกันครับ อาจจะเป็นจากยาแผนปัจจุบันก็ได้ เป็นจากสมุนไพรก็ได้ หรืออาจจะอาการไหมของโรคใหม่ก็ได้ แต่มีอย่างหนึ่งที่ผมมั่นใจมาก ว่าถ้าคุณลุงทำแล้วสุขภาพดีขึ้นแน่ ๆ แน่กว่าการกินยาบำรุงใด ๆ อีก นั่นคือ…”

“เลิกเหล้าเลิกบุหรี่” คุณลุงมองหน้าผมแล้วชิงตอบเสียเอง

“ใช่แล้วครับ คุณลุงก็รู้นี่ จะไปหวังกับสารโน่นสารนี่อะไรได้มากมายละครับ เอาของชัวร์ ๆ ก่อน ถ้าดีใจที่ลูกสาวซื้อยาบำรุงมาให้ก็ดูแลตัวเองตอบแทนลูกสาวเขาหน่อยนะครับ เขาเสียเงินไปหลายพันแล้ว คุณลุงก็เอาให้มันเห็นผลหน่อย อยากกินก็ลองดูครับ เป็นไรค่อยมาดูกัน ส่วนยาที่สั่งนี่ก็ลองดู เดี๋ยวจะอยากบุหรี่ลดลง สัปดาห์หน้ามาหาผมอีกที”

“เดือนหนึ่งได้ไหมหมอ”

“พวกเลิกเหล้าเลิกบุหรี่เนี่ยต้องนัดใกล้ ๆ ครับ นาน ๆ มาเจอกันทีไม่ค่อยสำเร็จ มาบ่อย ๆ มาช่วยกันเตือนสตินะคุณลุง ใช้สิทธิลาป่วยได้เดี๋ยวผมออกใบรับรองว่ามาตรวจให้ คุณลุงกลัวเจ้านายว่าเหรอ”

“จริง ๆ นายเขาก็อยากให้เลิกมานานแล้ว เขาบอกว่าผมเหม็นบุหรี่ เลิกสูบเถอะ”

“นั่นสิ ถ้าบอกหมอนัดบ่อยเพราะอยากให้เลิกชัวร์นี่ นายลุงไม่ว่าหรอก ขอลามาเลยนะ”

…………………

ยังครับ…กับเรื่องยาบำรุงก็ยังไม่จบ มีอีกรายที่มาถามไถ่เกี่ยวกับเรื่องยาบำรุง เป็นลูกสาวของคนไข้ผู้หญิงสูงอายุรายหนึ่งที่เป็นโรคซึมเศร้ามานาน และช่วงหลังเริ่มมีอาการคล้ายสมองเสื่อมหน่อย ๆ คือจำอะไรไม่ค่อยได้นาน สักพักมาถามอีก และเริ่มเข้าใจสิ่งต่าง ๆ รอบตัวผิด พอให้ยารักษาไปก็สงบขึ้นมาบ้างในระดับหนึ่ง คุณลูกสาวไปสั่งซื้อสมุนไพรมาจากเพจแห่งหนึ่งในเฟสบุ๊คที่บอกว่า เป็นสารสกัดจากธรรมชาติช่วยรักษาโรคซึมเศร้า

“เห็นในนั้นเขาเขียนถึงคนไข้อยู่รายหนึ่ง หนูอ่านแล้วเคสนั้นอาการเหมือนแม่เปี๊ยบเลย เห็นบอกว่าเขากินแล้วดีขึ้นมาก ก็เลยสั่งมาให้คุณแม่กินบ้าง คุณแม่เขาไม่ค่อยสบายใจ อยากให้หนูมาถามหมอก่อนว่ากินได้ไหม” ว่าแล้วลูกสาวคนไข้ก็เปิดเว็บไซต์ให้ดูว่าเขาเขียนอะไรบ้าง

“หมอเข้าใจแล้วครับ ที่คุณว่าเขาเขียนแล้วอาการเหมือนคุณแม่เนี่ย ไม่แปลกครับ เพราะเขาเขียนถึงอาการของโรคซึมเศร้า ดังนั้นก็ย่อมตรงเป็นธรรมดา แต่คุณต้องเข้าใจก่อนว่า เขาขายในฐานะผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ไม่ใช่ยา ถ้าอะไรที่ผลการรักษามันดีได้ชัดเจน มันก็จะจำหน่ายเป็นยาได้ แต่ถ้าไม่ได้พูดถึงความชัวร์ของผล แต่กิน ๆ เข้าไป ก็บอกว่าเป็นอาหารเสริม ไม่ใช่ยาครับ พอไม่ใช่สิ่งที่เป็นยา คุณจะหวังอะไรจากมันได้สักแค่ไหน แล้วสมมติว่าคุณให้คุณแม่คุณกินตัวนี้เพิ่ม ต่อมาคุณแม่สงบขึ้น อารมณ์ดี ความจำดี คุณว่าเป็นเพราะยาผมหรือยาที่คุณซื้อ เพราะเผอิญกินอยู่สองอย่างในเวลาเดียวกัน”

“ก็อาจจะทั้งคู่” เธอพยายามตอบอย่างอะลุ้มอล่วย

“และก็อาจจะจากตัวใดตัวหนึ่ง”

“แต่ดิฉันไม่ได้จะอยากหยุดยาหมอนะคะ”

“ครับ แต่ถ้าคุณให้กินร่วมกันไป ดังนั้นเราก็ไม่สามารถบอกอะไรได้ชัดเจนสิครับว่าการกินตัวนี้ให้อะไรกับคุณแม่ของคุณ หมดกระปุกแล้วจะซื้อกระปุกต่อไปดีไหม ก็กลายเป็นเหตุผลทางใจ กินรวมกันคงดี ไม่ใช้แล้วไม่สบายใจ อย่างนั้นหรือเปล่า”

“แต่มันก็คงไม่เป็นอันตราย เนี่ยค่ะ…เขาบอกว่าเป็นสมุนไพรธรรมชาติ 100% ไม่มีสารตกค้างเป็นพิษกับตับไต”

“เอ่อ…ผงชูรสนี่จัดว่าธรรมชาติไหมครับ ทำจากมันสำปะหลัง จากอ้อย”

“ก็..ก็ไม่ค่อย คุณหมอกำลังจะบอกว่ามันไม่ธรรมชาติ”

“เปล่าครับ ผมแค่อยากบอกว่าคำโฆษณานี่มันไม่รู้หมายถึงอะไร ธรรมชาติกี่เปอร์เซ็น คิดยังไง กรวดหินดินทรายก็ธรรมชาติ ยาที่หมอใช้ก็สกัดจากอะไรบางอย่างจากธรรมชาติแหละ ไม่ได้มีสารมาจากนอกโลก ดังนั้นคำนี้ไม่บอกอะไรครับ นอกจากจะเจาะจงว่า บดมาจากต้นพืชเลยไม่ผ่านกระบวนการอุตสาหกรรมใด ๆ แต่บรรทัดต่อมาบอกว่า ผลิตด้วยนวัตกรรมทันสมัย โรงงานได้รับการรับรอง บลาๆๆ ก็เลยธรมชาติร้อยเปอร์เซ็นต์ คืออะไร งง”

“เขาหมายถึงมันไม่ใช่สารเคมีหรือเปล่าคะ”

“อันนี้ต้องขอแย้งนะครับ สิ่งต่าง ๆ เป็นเคมีทั้งนั้นครับ” ผมชี้ไปที่แก้วน้ำ “น้ำนี่ก็สารเคมีนะครับ H2O อากาศก็เคมี เรากินข้าวก็มีแป้งมีน้ำตาล คาร์โบไฮเดรต เกลือก็สารเคมี เราจะหนีสารเคมีไปไหนพ้นครับสมุนไพรจะออกฤทธิ์ก็ออกฤทธิ์เพราะในพืชสมุนไพรนั้นมีสารเคมีอะไรบางอย่างอยู่ แล้วสารนั้นเข้าไปส่งผลต่อระบบอะไรบางอย่างในร่างกายครับ ไม่ได้ออกฤทธิ์ผ่านระบบคลื่นแสงคลื่นเสียงแน่ ๆ จริงไหมครับ ผมว่ามันเป็นภาษาโฆษณา ตั้งมาโจมตียาให้เข้าทางคนกลัวยา อี๋…สารเคมี งั้นมากินของฉันนี่ ไม่ใช่สารเคมี อ้าวแล้วที่ถือคืออะไรล่ะ ผมงงมากเลย”

“แล้วสารตกค้างเป็นพิษกับตับไตละคะ”

“ที่ผ่านมาเราทราบกันไหมครับ สารอะไรตกค้างครับ เราก็กลัวกันไป ถ้ายาที่หมอให้ตกค้างจริง ก็ไม่ต้องกินทุกวันสิครับ มันค้างอยู่ได้ ที่ต้องกินทุกวันเพราะมันขับออกจนหมดครับเลยต้องใส่ไปใหม่ ไม่ได้ตกค้างครับ ตามนิยาม ถ้าอ้างว่าสารนี้ช่วยรักษาโรคอะไรได้ ก็ต้องถือว่ากำลังขายในฐานะยาแล้ว ที่นี้ถ้าขายเป็นยาผู้ขายมีอะไรมารับรองประสิทธิภาพของยาตัวนี้ละครับ”

“ก็นี่ไงคะ เขาเขียนว่าผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าในอเมริกาและยุโรปกว่า 100,000 คนอาการดีขึ้นใน 2 อาทิตย์”

“ผมอ่านแล้วผมขอฟันธงว่าไม่จริงครับ การวิจัยหลักแสนคนนี่ หมอยังไม่เคยเจอนะครับ และคิดว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ ถ้าจะให้ดีเขาก็น่าจะเขียนเลยว่า งานวิจัยที่อ้างอิงนี้มาจากวารสารอะไร เล่มที่เท่าไหร่ เพราะวงการแพทย์มันห้ามมั่วครับ เช่น ยาที่ผมสั่งให้คุณแม่คุณ ถ้าคุณเอาชื่อไปหาในอินเตอร์เน็ตก็จะเจองานวิจัยที่ใช้ยาตัวนี้จริง ว่าแต่ยาตัวนี้มันคือสารอะไร เขียนสรรพคุณมายืดยาว เป็นสารอะไรยังไงไม่ยอมบอกแฮะ พอผมไม่ทราบว่ามันสารอะไร ถ้าผมเอายาที่มีสารอะไรก็ไม่รู้ให้คุณไป คุณกล้าเอาไปให้แม่ของคุณกินไหม”

“ไม่ค่ะ แต่อันนี้เขามีโฆษณา มี อย. ด้วย คงปลอดภัยอยู่”

“คิดดูดี ๆ นะครับว่าการมีโฆษณาแปลว่าปลอดภัยไหม การมีใครเขียนอะไรลงเว็บไซต์นี่แปลว่าจริงไหม คุณเห็นคนเขียนไหม ทั้งหมดที่เล่ามาว่าคนนั้นคนนี้หายเนี่ย จริง ๆ นั่งพิมพ์โดยคนคนเดียวหรือเปล่า คุณจะรู้ได้ยังไงละครับ”

“หมอกำลังจะบอกว่าอย่ากิน”

“เปล่าครับ คุณอยากให้คุณแม่ใช้หมอก็แล้วแต่คุณครับ ถ้าเกิดมันดีจริงหมอก็กลายเป็นตัดโอกาส แต่หมอตามไปรับผิดชอบในสารที่หมอไม่ได้สั่งไม่ได้นะครับ ไม่ทราบจริง ๆ ว่าจะดีหรือไม่ดีอย่างไร แต่วิธีเขียนโฆษณานี่น่าสงสัยมาก แต่คงเข้าทางคนที่กลัวยาแผนปัจจุบันหรือสิ้นหวังกับแผนปัจจุบัน น่าจะหายดีไม่เบานะครับ เขียนได้ถูกจุดขนาดนี้ ที่น่าสงสารคือคนซื้อไปครับ เสียดายเงิน เอาไปกินอะไรอร่อย ๆ ที่อยากกินดีกว่า”

…..จบ…...

 

ภาพประกอบโดย วาดสุข

Resource: HealthToday Magazine, No.191 March 2017