รศ. นพ.สถาพร มานัสสถิตย์ อดีตประธานชมรมลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ สมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย, อาจารย์ที่ปรึกษา ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ผศ. นพ.พิเศษ พิเศษพงษา อายุรแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
ผศ. พญ.สติมัย อนิวรรณน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาโรคทางเดินอาหาร
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
ผศ. นพ.จุลจักร ลิ่มศรีวิไล อาจารย์ประจำสาขาวิชาโรคระบบทางเดินอาหาร
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
คุณเป็นคนหนึ่งหรือเปล่าที่มีอาการท้องเสียเป็นประจำและเป็นเรื้อรังมานานกว่า 2 สัปดาห์ ปวดท้อง ถ่ายเป็นมูกเลือดหรือมีเลือดปน อ่อนเพลีย น้ำหนักลด โดยรักษาลำไส้อักเสบธรรมดาแล้วไม่หาย นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณอยู่ในภาวะเสี่ยงเป็น โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ไอบีดี (Inflammatory Bowel Disease, IBD)
ทำไมเราควรทำความรู้จักกับโรค IBD?
เพราะ…โรคนี้บั่นทอนคุณภาพชีวิต ที่สำคัญหายขาดได้ยาก แม้ในประเทศไทยจะพบไม่มากเท่าประเทศทางตะวันตก แต่เนื่องจากเป็นโรคเรื้อรังจึงทำให้มีจำนวนผู้ป่วยสะสมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง การที่ทำความรู้จักโรคนี้จะช่วยให้สังเกตอาการได้แต่แรกเพื่อเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ซึ่งจะสามารถควบคุมการดำเนินโรคได้ดีกว่าปล่อยไว้นาน
กลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบทางเดินอาหารได้ตระหนักถึงความสำคัญของโรคนี้ จึงได้รวมตัวกันจัดทำโครงการ “IBD มีเพื่อน Happy Life ถ้าลำไส้ไม่อักเสบเรื้อรัง” เพื่อประชาสัมพันธ์ให้คนไทยรู้จักกับโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ไอบีดีมากขึ้น โดยผู้ริเริ่มโครงการคือ รศ. นพ.สถาพร มานัสสถิตย์ อดีตประธานชมรมลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ สมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย โดยมีกลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้อีกจำนวนมากที่ช่วยกันผลักดันโครงการนี้ให้สำเร็จขึ้นมา ได้แก่ ผศ. นพ.พิเศษ พิเศษพงษา อายุรแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ผศ. พญ.สติมัย อนิวรรณน์ สาขาโรคทางเดินอาหาร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ ผศ. นพ.จุลจักร ลิ่มศรีวิไล อาจารย์ประจำสาขาวิชาโรคระบบทางเดินอาหาร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โดยจัดทำเว็บไซต์ www.ibdthai.com เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วย และเป็นความรู้สำหรับประชาชนทั่วไป ทุกคนสามารถเข้าไปหาความรู้เกี่ยวกับโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง IBD ได้อย่างละเอียดที่เว็บไซต์นี้ นอกจากนี้ยังมีการประชาสัมพันธ์ข่าวสารจัดสัมมนาให้ความรู้เรื่องโรคลำไส้อักเสบ IBD เป็นระยะ ๆ อีกด้วย โดยการสัมมนาครั้งล่าสุดจัดขึ้นที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา
โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง IBD คืออะไร?
คือกลุ่มโรคที่มีการอักเสบของทางเดินอาหาร พบในกลุ่มคนผิวขาวหรือชาวตะวันตกมากกว่าคนเอเชีย พบได้ทุกช่วงอายุ แต่มักจะพบมากในช่วงอายุระหว่าง 15- 40 ปี ซึ่งจำแนกได้เป็น 2 โรค คือ
- โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง (Ulcerative Colitis, UC) เกิดการอักเสบเรื้อรังบริเวณลำไส้ใหญ่เป็นหลัก การอักเสบอาจทำให้ลำไส้เป็นแผล แต่จะลุกลามเฉพาะเนื้อเยื่อชั้นตื้น ๆ เช่น ชั้นเยื่อบุลำไส้ (Mucosa) โดยการอักเสบเริ่มจากทวารหนักย้อนขึ้นไป อาจจะลุกลามสูงขึ้นไปเท่าใดก็ได้แล้วแต่ความรุนแรงของโรค พบได้เท่า ๆ กันทั้งในผู้ชายและผู้หญิง
- โรคโครห์น (Crohn’s disease, CD) เป็นโรคที่พบการอักเสบเรื้อรังได้ในทุกส่วนของระบบทางเดินอาหาร ตั้งแต่ช่องปาก หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ และทวารหนัก แต่มักพบมากที่ส่วนปลายของลำไส้เล็กและส่วนต้นของลำไส้ใหญ่ การอักเสบอาจลึกลงถึงชั้นกล้ามเนื้อหรือทะลุออกนอกลำไส้ได้ จึงทำให้โรคโครห์นมีภาวะแทรกซ้อนที่ต่างกับ UC และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
ในปัจจุบันถึงแม้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดกลุ่มโรคลำไส้อักเสบ IBD ทั้งโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรังและโรคโครห์น แต่เชื่อว่าอาจเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น เชื้อชาติหรือพันธุกรรม เพราะพบโรคไอบีดีในคนผิวขาวมากกว่าคนเอเชีย ปัจจัยทางระบบภูมิคุ้มกัน เมื่อเกิดการติดเชื้อแล้วไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันมาทำลายสิ่งแปลกปลอม แต่มีการตอบสนองมากผิดปกติจนทำลายเนื้อเยื่อของทางเดินอาหารอย่างต่อเนื่องและเรื้อรัง ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมและสังคม เช่น การติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียในลำไส้ เชื้อเหล่านี้สามารถไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันที่มากผิดปกติและสร้างสารก่อการอักเสบหลายชนิด จึงนำไปสู่การอักเสบของทางเดินอาหาร นอกจากนี้ยังพบว่าคนไทยเป็นโรคนี้มากขึ้นตามสังคมที่เจริญขึ้น ด้วยพฤติกรรมการใช้ชีวิตตามแบบตะวันตกของคนเมือง โดยเฉพาะการกินอาหาร Junk food ความเร่งรีบ สุขภาพจิตที่เคร่งเครียดมากขึ้น
“โรค IBD เป็นความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน ที่จำผิดคิดว่าลำไส้ของตัวเองเป็นสิ่งแปลกปลอม ทำให้เกิดการอักเสบขึ้น แต่ไม่ใช่ภูมิคุ้มกันบกพร่องนะครับ เป็นภูมิคุ้มกันทำงานเยอะเกินไป คล้ายกับโรคพุ่มพวง หรือ SLE ซึ่งโรค IBD ต่างจากโรคพุ่มพวงคือจะจำกัดอยู่ที่ทางเดินอาหารเป็นหลัก ดังนั้นโรคนี้จึงไม่เหมือนโรคติดเชื้อที่เราให้ยาปฏิชีวนะก็หาย แต่จะถูกกระตุ้นโดยภูมิคุ้มกัน ซึ่งเกิดขึ้นได้ตลอด เป็นโรคเรื้อรังที่มีทั้งช่วงที่โรคสงบและช่วงกำเริบ จึงยังรักษาไม่หายขาด การรักษาปัจจุบันคือ ควบคุมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันให้ทำงานในเกณฑ์ที่ไม่ก่อให้เกิดการอักเสบ คือไม่ให้กำเริบ แต่พอเลิกรักษาก็จะกลับเป็นซ้ำ ดังนั้นโรคนี้พอเป็นแล้วจะอยู่นาน แม้ไม่รุนแรงจนทำให้เสียชีวิต แต่คนที่เป็นแล้วก็ต้องทุกข์ทรมานอยู่กับโรคนี้ไปตลอด
ทั้ง UC และโรคโครห์นจะมีการอักเสบได้ตั้งแต่น้อย ๆ จนถึงเป็นมาก ๆ ทั้งคู่ ซึ่งโรคโครห์นเป็นได้ตลอดทางเดินอาหารและเป็นแผลอักเสบลึกลงถึงชั้นกล้ามเนื้อของลำไส้มากกว่า UC โรคโครห์นจึงรักษายากกว่า หากเป็นนานอาจทำให้ลำไส้ตีบ อุดตัน และทะลุรั่วซึมได้ แต่ในโรค UC หากการอักเสบเป็นมากก็อาจมีลำไส้โป่งพองและแตกทะลุรั่วซึมออกมาได้เช่นเดียวกัน” นพ.จุลจักร เล่าถึงสาเหตุและการดำเนินของโรค
พญ.สติมัย ช่วยเสริมว่า “การอักเสบเรื้อรังทำให้มีแผล เมื่อหายอักเสบจะทำให้เป็นแผลเป็นหรือเป็นพังผืด จึงมีโอกาสที่ทำให้ลำไส้ตีบ อุดตัน เมื่ออุดตันมากก็เกิดการโป่งพองจนทะลุได้ ถ้าเป็นมากจำเป็นต้องผ่าตัด นอกจากนี้บริเวณที่เป็นแผลซ้ำซาก อักเสบนาน ๆ ก็มีโอกาสที่จะกลายเป็นมะเร็งได้เช่นกัน”
ดังนั้นหากใครมีอาการของโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง IBD ดังต่อไปนี้ จึงควรไปพบแพทย์ระบบทางเดินอาหารเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ได้แก่ ท้องร่วงหรือท้องเสียเรื้อรัง ถ่ายเป็นมูกเลือด ปวดท้อง บีบเกร็งในช่องท้องหลังรับประทานอาหาร ปวดเบ่งที่ทวารหนัก เป็นฝีรอบทวารหนัก เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย มีไข้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ซีด กดเจ็บที่ท้อง ฯลฯ
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรค IBD ?
นพ.สถาพร อธิบายถึงการวินิจฉัยว่า “โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง IBD วินิจฉัยค่อนข้างยาก เนื่องจากโรคนี้มีอาการคล้ายคลึงกับโรคระบบทางเดินอาหารอื่น ๆ จึงมักทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาไม่ตรงโรค การวินิจฉัยคือ ต้องเห็นว่าลำไส้มีแผลจริง ๆ ไม่สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้ด้วยการซักประวัติสอบถามอาการเพียงอย่างเดียว ลักษณะเรื้อรังจะเป็นตัวบอกว่าผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาลำไส้อักเสบอย่างอื่น ๆ แล้วเป็นเรื้อรังมาเรื่อย ๆ ดังนั้นจึงควรได้รับการตรวจส่องกล้องดูลำไส้เล็กและสำไส้ใหญ่เป็นหลัก หากพบรอยโรคก็จะเป็นการวินิจฉัยที่แม่นยำขึ้น การวินิจฉัยอย่างอื่น เช่น ตรวจเลือด ตรวจอุจจาระ เป็นการตรวจเพื่อสนับสนุนเท่านั้น ที่สำคัญต้องส่องกล้องและตัดชิ้นเนื้อออกมาเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยาว่ามีการติดเชื้อหรือมีเซลล์ผิดปกติหรือไม่ เพื่อแยกโรคจากโรคอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน”
ดังนั้นหากได้รับการวินิจฉัยแน่ชัดแล้วว่าเป็นโรค IBD นพ.พิเศษ ย้ำว่า “จำเป็นต้องรับการรักษาโดยมีเป้าหมายด้วยกัน 4 ประการ คือ เพื่อรักษาอาการของผู้ป่วยให้โรคสงบได้นานที่สุด เพื่อรักษาให้รอยโรคหาย เพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อนในระยะยาว และทั้งหมดทั้งมวลก็เพื่อคืนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ใกล้เคียงคนปกติมากที่สุด”
การรักษาโรคลำไส้อักเสบ IBD ในปัจจุบัน ใช้ยารักษาเป็นหลัก ส่วนการผ่าตัดนั้นใช้เมื่อจำเป็น เช่น เกิดลำไส้อุดตันรุนแรง ลำไส้เป็นแผลมากหรือสำไล้ทะลุ ส่วนชนิดของยาที่ใช้จะขึ้นกับระดับความรุนแรงและตำแหน่งของลำไส้ใหญ่ที่เกิดโรค โดยทั่วไปเมื่อได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาการมักจะดีขึ้นภายใน 2-4 สัปดาห์
“ยาจะต้องเลือกใช้ให้เหมาะกับคนไข้แต่ละราย โดยส่วนใหญ่ต้องกินหรือฉีดต่อเนื่องเป็นเวลานานเป็นปี เพราะเป็นโรคเรื้อรัง เมื่อหายไปแล้วก็กลับมาเป็นใหม่ ต้องติดตามดูอาการไปเรื่อย ๆ มีเพียงส่วนน้อยที่หายขาดได้ ดังนั้นคนไข้ที่เป็นโรคนี้ต้องกินยาสม่ำเสมอ ดูแลตัวเองให้ดีตลอดเวลา” นพ.สถาพรเน้นว่าการรักษาต้องทำอย่างต่อเนื่องเพื่อให้โรคสงบ
กลุ่มยาที่มีการใช้ในผู้ป่วยโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง ได้แก่ ยากลุ่มที่ช่วยลดการอักเสบของลำไส้ ยาปฏิชีวนะในผู้ที่ติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย สเตียรอยด์ช่วยต้านการอักเสบโดยการกดภูมิคุ้มกันที่มากผิดปกติ ยาปรับภูมิคุ้มกันใช้ทดแทนในรายที่ต้องรับประทานสเตียรอยด์เป็นเวลานาน และยาชีววัตถุ (biologics) ออกฤทธิ์ยับยั้งกลไกการเกิดการอักเสบในระบบภูมิคุ้มกัน เหมาะกับผู้ที่มีอาการรุนแรงและไม่สามารถรับประทานสเตียรอยด์และยาปรับภูมิคุ้มกันนาน ๆ แต่ยามีราคาค่อนข้างแพง นอกเหนือจากยาที่ใช้รักษาโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรังโดยตรงแล้ว ยังอาจใช้ยาอื่น ๆ ร่วมด้วยเพื่อบรรเทาอาการ เช่น ยาแก้อุจจาระร่วง และยาบรรเทาปวด
การรักษาจะช่วยให้โรคสงบได้ อย่างไรก็ตามการดูแลตัวเองให้ดีจะช่วยควบคุมการอักเสบและป้องกันไม่ให้การอักเสบกลับมาเป็นซ้ำ ซึ่งทำได้โดย
- กินยาตามแพทย์สั่ง พยายามอย่าขาดยา เพราะโรคนี้เป็นระยะยาวจึงต้องรักษาต่อเนื่องสม่ำเสมอ
- ดูแลสภาพจิตใจ อย่าเครียด เพราะความเครียดจะกระตุ้นการอักเสบ มีผลให้โรคกำเริบ จึงควรทำกิจกรรมที่ช่วยคลายเครียด เช่น สมาธิ โยคะ
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- หากมีอาการให้รีบมาพบแพทย์ อย่าปล่อยทิ้งไว้นาน
นอกจากนี้ควรระมัดระวังเรื่องอาหารการกินที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น อาหารดิบ อาหารไม่สะอาด อาหารหมักดอง เป็นต้น เพราะเมื่อติดเชื้อ เม็ดเลือดขาวจะถูกกระตุ้น ทำให้การอักเสบกลับมาอีก จึงควรกินอาหารที่สะอาดและสุกใหม่ ๆ
โครงการ “IBD มีเพื่อน Happy Life ถ้าลำไส้ไม่อักเสบเรื้อรัง”
โครงการนี้เริ่มต้นขึ้นจากแนวคิดของ นพ.สถาพรและเพื่อนแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยโรคนี้ เพื่อประโยชน์ต่อคนไข้ ทั้งด้านความรู้ และการดูแลตัวเอง อีกทั้งยังต้องการให้คนไข้รวมตัวกันเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ช่วยเหลือและทำกิจกรรมร่วมกัน
“ต้องเข้าใจว่าโรคนี้ไม่เหมือนโรคอื่น เป็นโรคเรื้อรังที่ไม่หายง่าย ๆ ต้องกินยานาน ต้องการความเข้าอกเข้าใจ คนที่เป็นโรคนี้มักจะท้อแท้ เบื่ออาการที่เป็นซ้ำ ๆ เบื่อการกินยา เบื่อการรักษา จนอาจมีภาวะซึมเศร้าได้ จึงต้องให้การสนับสนุนด้วยความเข้าใจ ซึ่งโครงการ IBD มีเพื่อน Happy Life นี้จะทำให้ผู้ป่วยได้พบกับคนที่เป็นโรคเดียวกัน ได้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ส่วนหมอก็ให้ความรู้ทางการแพทย์ อยากให้คนไข้รวมตัวกันให้มากขึ้นเพื่อช่วยกันเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังนี้ในวงกว้าง สร้างการตระหนักรู้ถึงโรคนี้ให้มากขึ้น ทางกลุ่มจึงได้จัดทำเว็บไซต์ www.ibdthai.com ให้เป็นช่องทางในการเข้าถึงและรู้จักกับโรคได้อย่างรวดเร็วเข้าใจง่าย ด้วยข้อมูลที่ถูกต้องน่าเชื่อถือจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ป่วยและครอบครัวสามารถเข้ามาค้นหาวิธีการดูแลรักษาโรคที่ถูกต้อง ประชาชนทั่วไปก็เข้ามาทำความรู้จักกับโรคและประเมินตัวเองในเบื้องต้นได้ หากพบความผิดปกติก็จะได้รีบตรวจและรักษาความผิดปกติก่อนที่จะกลายเป็นโรคเรื้อรัง หรือหากเป็นแล้วก็ยังมีโอกาสจะกลับมาเป็นปกติได้มากขึ้นและเร็วยิ่งขึ้น ถ้ารักษาได้ทันท่วงที”
ส่วนแพทย์ที่เข้าร่วมในโครงการ ‘IBD มีเพื่อน Happy Life ถ้าลำไส้ไม่อักเสบเรื้อรัง’ ท่านอื่น ๆ ต่างก็มีเป้าหมายที่ต้องการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคนี้ด้วยกันทั้งสิ้น
“โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้กลุ่มคนที่เป็นโรคเหมือนกันได้มารู้จักกัน ให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าเขามีเพื่อน ไม่ได้โชคร้ายอยู่คนเดียว เพราะหลายรายเครียด เบื่อการรักษา ทำให้คุมโรคไม่ได้ ก็ยิ่งทำให้รู้สึกท้อแท้ มีคนที่เป็นแบบนี้เยอะ ดังนั้นโครงการนี้จะช่วยให้เขารู้สึกดีขึ้น ได้มีกลุ่มแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ให้กำลังใจกัน เขาจะรู้สึกว่าเขาไม่ได้อยู่คนเดียวครับ” นพ.จุลจักร
“โครงการนี้เป็นศูนย์กลางให้ผู้ป่วยได้มาแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นกัน นอกจากนี้จากการลงทะเบียนของผู้ที่ร่วมโครงการนี้ ยังจะเป็นแหล่งข้อมูลให้เราสามารถนำมาทำแนวทางในการปรับปรุงคุณภาพเพื่อดูแลรักษาคนไข้ได้ครบถ้วนมากขึ้น อีกทั้งยังทำให้ทราบข้อมูลว่าผู้ป่วยโรค IBD ในประเทศไทยมีความแตกต่างกับประเทศอื่นอย่างไร มีอะไรที่เป็นปัญหาเฉพาะของเรา เช่น การเข้าถึงของยาต่าง ๆ ซึ่งประเทศเราอาจยังมีการเข้าถึงที่ไม่ดีนัก” นพ.พิเศษ
“ในเมืองไทย เราถือว่าโรคนี้เป็นโรคเกิดใหม่ และเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ เพราะคนเริ่มเป็นตั้งแต่อายุน้อย 20-30 ปี ในคนวัยกำลังทำงาน และเป็นสะสมไปเรื่อย ๆ เพราะเป็นโรคเรื้อรัง ดังนั้นโครงการนี้ถือเป็นก้าวแรกที่จะเผยแพร่ให้คนรู้จักโรคนี้มากขึ้น การที่หมอมารวมกลุ่มกันก็เพื่อมองไปข้างหน้าในการรักษาคนไข้กลุ่มนี้ ข้อมูลที่ได้จะมีส่วนช่วยในงานวิจัย และนำความรู้องค์รวมจากต่างประเทศมาประยุกต์ใช้กับคนไข้ สุดท้ายคนไข้เองจะได้รับประโยชน์ เช่น ความรู้ในการรักษา การปฏิบัติตัว ดูแลตัวเอง ความเข้าใจในตัวโรค รู้ว่ามีคนอื่นก็เป็น ไม่ได้เป็นคนเดียว ได้แชร์ ได้ส่งต่อประสบการณ์ให้กันและกัน เป็นประโยชน์มากกว่าการได้รับฟังจากหมอฝ่ายเดียว
ข้อมูลที่ได้จากการลงทะเบียนของคนไข้ในโครงการนี้จะทำให้เราสามารถเก็บสถิติ อุบัติการณ์ ภาวะแทรกซ้อนหลังการดำเนินโรค การตอบสนองต่อการรักษา เพื่อนำไปพัฒนาการรักษา ซึ่งคนไข้อาจมองไม่เห็นประโยชน์ในระยะสั้น แต่ข้อมูลที่ได้จะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณสุขของไทยในระยะยาว รวมถึงใช้ในการเสนอพิจารณายาเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้มากขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ในภาพรวมของประเทศ” พญ.สติมัย
Resource: HealthToday Magazine, No.218 June 2019