ลิ่มเลือดอุดตันปอด

นพ.นริศ เจนวิริยะ ศัลยแพทย์

0
3324
ลิ่มเลือดอุดตันปอด

ลิ่มเลือดอุดตันปอดเป็นโรคที่มีความสำคัญ เพราะทำให้ตายได้ เมื่อก่อนคิดว่าเป็นโรคที่พบในฝรั่งเท่านั้น แต่ปัจจุบันนี้พบบ่อยขึ้นในคนไทย

ลิ่มเลือดอุดตันปอด ภาษาแพทย์เรียกว่า pulmonary embolism (พุล-โม-นารี-เอ็ม-โบ-ลิ-ซึ่ม) ภาษาอังกฤษชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า blood clot in the lung คำว่า pulmonary แปลว่า ปอด ส่วนคำว่า embolism หมายความถึงลิ่มเลือดที่เกิดจากที่อื่นไหลลอยมาอุดตันหลอดเลือดแดงปอด (pulmonary artery)

ระบบไหลเวียนเลือด

ปกติระบบไหลเวียนเลือดของเราประกอบด้วยหัวใจห้องซ้ายสูบฉีดเลือดที่มีออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายทางหลอดเลือดแดง แล้วไหลกลับมาเป็นเลือดดำซึ่งมีออกซิเจนต่ำแต่มีคาร์บอนไดออกไซด์สูงทางหลอดเลือดดำ ซึ่งมีสาขารวมกันไหลไปเข้าสู่หัวใจห้องขวาที่ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดเข้าไปผ่านปอดทางหลอดเลือดแดงปอด (pulmonary artery) เพื่อการฟอกเลือดแลกเปลี่ยนเอาคาร์บอนไดออกไซด์จากหลอดเลือดไปแลกกับออกซิเจนจากถุงลมของปอด ทำให้เลือดมีออกซิเจนสูงขึ้นแล้วไหลไปเข้าหัวใจห้องซ้ายซึ่งจะฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายต่อไป เป็นอันครบวงจร

ภาวะลิ่มเลือดอุดตันปอด

ภาวะลิ่มเลือดอุดตันปอดเกิดจากลิ่มเลือด (thrombus) ที่เกิดขึ้นจากที่อื่น ซึ่งส่วนมากเกิดในหลอดเลือดดำลึกของขา (deep vein thrombosis, DVT) หรือในช่องเชิงกราน (pelvic vein) ลิ่มเลือดนี้หลุดไหลลอยไปอุด
หลอดเลือดแดงปอด (pulmonary artery) ทำให้เลือดไหลเข้าปอดไม่สะดวกหรือไม่ได้ มีผลให้หัวใจห้องขวาทำงานหนัก และเลือดดำไม่ได้รับการฟอกโดยปอด ทำให้เลือดขาดออกซิเจน ถ้าเป็นการอุดตันไม่มากก็พอทนอยู่ได้ แต่ถ้าเป็นมาก (ลิ่มเลือดก้อนใหญ่) หัวใจจะวายฉับพลัน ทำให้คนไข้ถึงตายได้

กลุ่มเสี่ยงภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำลึกที่ขา ได้แก่

  • ผู้ที่เคยมีภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำลึกที่ขาหรือมีลิ่มเลือดอุดตันปอดมาก่อน
  • คนไข้ที่ต้องเข้าเฝือกหรือจำกัดการเคลื่อนไหว เช่น กระดูคอหักต้องนอนดึงคออยู่นาน
  • ผู้หญิงที่ใช้ฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจนทดแทน (วัยหมดระดู)
  • ผู้ที่มีประวัติลิ่มเลือดอุดตันในครอบครัว
  • ผู้สูงอายุ มีลิ้นหลอดเลือดดำเสื่อมสภาพ
  • คนไข้มะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งตับอ่อน สมอง ต่อมน้ำเหลือง และปอด รวมทั้งคนไข้ที่ได้รับเคมีบำบัด

นอกจากนี้ยังมีภาวการณ์ที่เอื้ออำนวยต่อการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำลึกที่ขา คือ

  • การนั่งนอนนิ่ง ๆ เป็นเวลานาน ๆ เช่น คนมีนิสัยไม่ขยัน หรือคนที่โดยสารเครื่องบินเป็นเวลานาน
  • คนที่ต้องนอนโรงพยาบาลนาน ๆ หรือคนที่เข้ารับการผ่าตัดใหญ่ ซึ่งต้องนอนนาน ๆ นอกจากนี้คนไข้ที่มีการบาดเจ็บที่ขาหรือเชิงกราน เช่น การแตกหักของกระดูก การผ่าตัดกระดูกขา ข้อสะโพก ข้อเข่า ฯลฯ มีความเสี่ยงที่จะเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำลึกของขาได้

การเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำลึกที่ขาจะค่อย ๆ เกิดขึ้นแล้วพัฒนาจากเล็กไปใหญ่ ตอนแรกมักจะไม่มีอาการใด ๆ แต่เมื่อเป็นมากขึ้นจึงมีอาการ เช่น บวม แดง ปวดบวมที่ข้อเท้า ที่ขา ที่น่อง บางคนมีไข้บาง คนบ่นว่าเป็นตะคริวที่น่อง ตามสถิติพบว่าครึ่งหนึ่งของคนไข้ที่มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำลึกที่ขามีภาวะลิ่มเลือดอุดตันปอดโดยไม่มีอาการทางปอดให้เห็น เช่น เจ็บหน้าอก หายใจหอบ

อาการภาวะลิ่มเลือดอุดตันปอด

อาการลิ่มเลือดอุดตันปอดขึ้นอยู่กับว่าปอดถูกอุดตันส่วนไหนและมากน้อยเพียงไร มีคนไข้หลายรายที่ไม่มีอาการหรืออาการไม่ชัด แต่ในทางตรงข้าม บางรายก็มีอาการเกิดขึ้นอย่างรุนแรงและเฉียบพลันที่ต้องรักษารีบด่วน อาการของโรคลิ่มเลือดอุดตันปอดมักจะมีดังนี้

  • อยู่ ๆ ก็มีอาการหอบเหนื่อย ซึ่งอาจจะเกิดแบบค่อยเป็นค่อยไปหรือแบบฉับพลันก็ได้ ไม่ว่าในขณะนั้นคุณกำลัง
    พักผ่อนหรือออกกำลังกาย
  • เจ็บหน้าอกแบบแหลมคมรุนแรงเวลาหายใจลึกหรือไอ
  • รู้สึกเวียนหัวหรือจะเป็นลม
  • หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นไม่เป็นจังหวะ เหงือแตก ฝ่ามือเปียก สีผิวคล้ำลง

การวินิจฉัยและการรักษา

การวินิจฉัยโรคลิ่มเลือดอุดตันปอดอาจจะทำได้ยากเนื่องจากในตอนแรกมีอาการน้อย ไม่ชัด ในกรณีที่มีอาการมากอาจจะไปคล้ายกับอาการหัวใจขาดเลือด หัวใจวาย หรือปอดอักเสบ การวินิจฉัยต้องค่อย ๆ แยกโรคอื่นออกไปโดยใช้การตรวจเพิ่มและใช้เช็คลิสต์

การตรวจเลือดช่วยทำให้การแยกโรคแคบลง  ร่วมกับเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ของทรวงอกจะช่วยให้วินิจฉัยแยกโรคได้ชัดเจนขึ้น หลังจากวินิจฉัยได้แล้วแพทย์จะรีบรักษาจนภาวะวิกฤตทุเลาลง แล้วทำการหาสาเหตุหรือต้นตอของ
ลิ่มเลือด

การรักษาในเบื้องต้น แพทย์จะให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดเพื่อทำให้ลิ่มเลือดไม่เพิ่มจำนวนมากขึ้นและไม่หลุดออกง่าย เริ่มแรกจะให้ยาทางหลอดเลือด (เช่น heparin) ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นยากิน (เช่น warfarin) ปัจจุบันนี้มียาต้านการแข็งตัวของเลือดชนิดใหม่ ๆ ในตลาดมากมาย เช่น apixaban, dabigatran, edoxaban และ rivaroxaban ยาจำพวกนี้เวลาให้ต้องมีการตรวจติดตามเฝ้าระวังโดยแพทย์ เพราะเป็นยาอันตราย ส่วนมากต้องให้ยานาน 3 – 6 เดือน หรือบางรายต้องให้ตลอดไป

ในบางกรณีที่ลิ่มเลือดในปอดต้องได้รับการละลาย เช่น มีอาการมาก เขาอาจจะใช้เอ็นไซม์ละลายลิ่มเลือด หรือ
ในรายที่กินยาต้านการแข็งตัวของเลือดไม่ได้จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ก็จำเป็นต้องทำหัตถการใส่สายสวนเข้าไปในหลอดเลือดดำใหญ่ที่ไหลเข้าหัวใจ (inferior venacava) เพื่อป้องกันไม่ให้ลิ่มเลือดจากด้านล่างไหลลอยเข้าปอด บางกรณีที่วิกฤตมากอาจจะใช้วิธีสุดท้ายคือ การผ่าตัดเอาลิ่มเลือดออก

การรักษาโรคลิ่มเลือดอุดตันปอดที่ดีคือ การป้องกันไม่ให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำลึก ดังนี้

  • ออกกำลังเคลื่อนไหวขาไม่ให้อยู่นิ่งนาน ๆ, การใส่ถุงน่อง (ถุงน่องที่ดีต้องวัดตัดมาเป็นพิเศษซึ่งราคาแพง), การใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (เช่น ในการผ่าตัดใหญ่)
  • การนั่งเครื่องบินระยะทางไกล ควรป้องกันภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำลึกโดยการลุกเดินบ่อย ๆ หรือนั่งออกกำลังขา เช่น เคลื่อนไหวข้อเท้าไปมา จิกปลายเท้าเคลื่อนขึ้นลง (การหดเกร็งกล้ามเนื้อน่อง กล้ามเนื้อขา ช่วยให้เลือดดำที่ขาไหลเวียนดีขึ้น ไม่อยู่นิ่งจนกลายเป็นลิ่มเลือด)

นอกจากนี้ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่าปล่อยตัวเองให้ขาดน้ำ งดเว้นการดื่มแอลกอฮอล์ สวมถุงน่อง กินแอสไพรินขนาดต่ำ บางกรณีที่มีความเสี่ยงสูงจริง ๆ หมอจะให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดเพื่อป้องกัน

Resource: HealthToday Magazine, No.213 January 2019