เมื่อย่างเข้าสู่ฤดูฝน เหล่าผู้ที่ชื่นชอบกีฬาเอกซ์ตรีม (Extreme) ทั้งหลาย คงไม่พลาดกับกีฬา “ล่องแก่ง” ที่นอกจากจะสนุก ตื่นเต้น และเร้าใจแล้ว ยังเป็นกีฬาที่ทำให้ชุ่มชื่นทั้งกายและใจอีกด้วย รับรองว่าคุณจะได้เปียกตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้าแน่นอน
ในเมืองไทยเองก็มีสถานที่สำหรับการล่องแก่งอยู่ด้วยกันหลายที่ เช่น สะพานท่าด่าน จ.นครนายก, แก่งหินเพิง จ.ปราจีนบุรี, แก่งลำน้ำเข็ก อำเภอวังทอง จ.พิษณุโลก, แก่งภูเกาะ อำเภอมวกเหล็ก จ.สระบุรี หรือหากไปทางใต้ก็มีที่แก่งวังสายธาร จ.สตูล, แก่งหนานมดแดง จ.พัทลุง แม้แต่ที่อำเภอปาย จ.แม่ฮ่องสอน ก็มีสถานที่สำหรับล่องแก่งเช่นเดียวกัน สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยล่องแก่งมาก่อนเลยคงสงสัยว่าต้องเตรียมตัวอย่างไรกันบ้าง
เตรียมความพร้อมก่อนล่องแก่ง
ก่อนอื่นเริ่มจาก เตรียมร่างกายของตนเองให้พร้อม เนื่องจากการล่องแก่งจะต้องใช้แรงในการพายเพื่อกำหนดทิศทางของแพยางหรือเรือแคนนู หากใครที่ไม่ค่อยได้ฝึกกล้ามเนื้อหรือไม่ได้ออกกำลังกายเป็นประจำจะเกิดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ ทำให้มีอาการปวดเมื่อยได้ ดังนั้นจึงควรฝึก Endurance และ Strengthening exercise ของกล้ามเนื้อแขน หน้าอกช่วงบน และหลัง เริ่มจากท่าง่าย ๆ คือ การฝึกยกดัมเบลล์ (dumbbell) หรือฝึกดันพื้น (push up) หากไปฝึกที่ยิม ก็อาจใช้ Pull down machine หรือ Barbell เพื่อฝึกกล้ามเนื้อได้เช่นกัน หรืออาจจะปรึกษาเทรนเนอร์เพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสมเป็นรายบุคคล
ต่อมา คือ การเตรียมอุปกรณ์ โดยอุปกรณ์ที่สำคัญสำหรับการล่องแก่ง คือ เสื้อชูชีพและหมวกกันน็อค ซึ่งปกติทางร้านที่เราใช้บริการมักจะเตรียมให้อยู่แล้ว แต่เราควรตรวจสอบว่าเสื้อชูชีพอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์หรือไม่ เสื้อชูชีพที่ดีควรมีนกหวีดติดกับตัวเสื้อด้วย เผื่อเวลาที่เกิดอุบัติเหตุจะได้ใช้ในการส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือได้ ส่วนหมวกกันน็อคควรมีคุณภาพดีสำหรับลดความรุนแรงเวลาที่ศีรษะกระแทกกับโขดหิน จะช่วยลดการเกิดเลือดออกในสมองซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตามก่อนลงน้ำก็อย่าลืมตรวจสอบแพยาง เรือแคนนู และไม้พาย ว่าอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์และพร้อมใช้งานหรือไม่
เสื้อผ้าที่ใส่ควรเป็นแบบแขนขายาว เพื่อป้องกันแดดและการขีดข่วนจากกิ่งไม้หรือโขดหินต่าง ๆ ควรเป็นผ้าที่เบาและแห้งเร็ว หรือถ้าหากเป็นเสื้อแขนสั้น ควรใส่ปลอกแขนด้วย รองเท้าควรเลือกเป็นรองเท้าหุ้มส้นที่สามารถเปียกน้ำและสามารถเดินป่าได้ ก่อนลงน้ำ ควรทาครีมกันแดดชนิดที่กันน้ำได้ (Water Resistance) ทั้งที่ใบหน้าและตามลำตัว โดยเลือกที่ป้องกันได้ทั้ง UVA และ UVB โดยทาซ้ำ 2 ครั้ง ห่างกันประมาณ 2-3 นาที
นอกจากนี้ อุปกรณ์ที่ติดตัวไปควรเป็นอุปกรณ์ที่กันน้ำเข้าได้ เช่น กล้องถ่ายรูป ควรเป็นชนิดที่กันน้ำได้ หรืออาจเลือกใช้กล้องที่มีอุปกรณ์กันน้ำ (Housing) แยกต่างหาก แต่ถ้าอุปกรณ์ใดก็ตามที่ไม่สามารถกันน้ำได้ ควรใส่ในกระเป๋ากันน้ำ ซึ่งมีให้เลือกหลากหลายแบบ สิ่งของมีค่าทั้งหลาย เช่น ต่างหู แหวน โทรศัพท์มือถือ ไม่ควรนำติดตัวไปเนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะหล่นหายได้ง่าย
อีกสิ่งหนึ่งที่ควรติดไว้ในกระเป๋าคือ อุปกรณ์ปฐมพยาบาล เช่น แอลกอฮอล์ เบตาดีน น้ำเกลือ ผ้าพันแผล พลาสเตอร์กันน้ำ ผ้ายืดพันข้อศอกหรือข้อเท้า ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น หากเกิดอุบัติเหตุแขนหัก ให้ล้างแผลให้สะอาด นำไม้มาดาม แล้วนำผ้ายืดมาพันเพื่อดามกระดูกให้อยู่นิ่ง เพราะถ้าบริเวณที่หักมีการเคลื่อนไหวจะทำให้มีอาการปวด และเนื้อเยื่อจะถูกทำลายมากยิ่งขึ้น
งดการดื่มสุราหรือของมึนเมาทุกชนิดก่อนลงน้ำ เพราะการล่องแก่งต้องใช้ “สติ” ในการตัดสินใจตลอดเวลา หากอยู่ในอาการมึนเมาอาจเป็นอันตรายทั้งต่อตนเองและเพื่อนร่วมทีมได้ ขณะที่ทำการล่องแก่งให้เชื่อฟังคำสั่งของเจ้าหน้าที่ และปฏิบัติตามคำสั่งของผู้นำและผู้ที่คัดท้ายเรืออย่างเคร่งครัด และออกแรงในการพายให้เต็มที่ นอกจากนี้เพื่อความปลอดภัยควรมีผู้ที่ชำนาญเส้นทางและพื้นที่อยู่ในทีมอย่างน้อย 1 คน
นอกจากกีฬา “ล่องแก่ง” จะเป็นกีฬาที่ตื่นเต้นและท้าทายแล้ว ยังทำให้เราได้ออกกำลังกายไปในตัวอีกด้วย ดังนั้นก่อนที่หน้าฝนนี้จะผ่านพ้นไป เพื่อน ๆ อย่าลืมเตรียมร่างกายให้พร้อม แล้วไปเปลี่ยนบรรยากาศด้วยการล่องแก่งกันนะคะ
Q & AQ: หากล่องแก่งแล้วตกลงไปในน้ำควรทำอย่างไรให้ตัวเองปลอดภัยมากที่สุด A: หากตกไปในน้ำ ให้ตั้ง “สติ” เป็นอันดับแรก หากใส่เสื้อชูชีพอยู่ เสื้อจะช่วยให้เราลอยตัว ให้เราว่ายเข้าหาฝั่งที่ใกล้ที่สุด และขณะที่ลอยตัวอยู่ในน้ำ ให้นอนหงาย ลำตัวขนานกับผิวน้ำ ยกขาลอยขึ้นชี้ไปด้านหน้า หรืออาจใช้เท้าเตะน้ำเพื่อชะลอความเร็ว และรออยู่บริเวณจุดเกิดเหตุจนกว่าเจ้าหน้าที่จะมาช่วยเหลือ ไม่ควรว่ายทวนน้ำเนื่องจากจะใช้พลังงานมาก ทำให้เหนื่อยและหมดแรงได้ |
Resource : HealthToday Magazine, No.198 October 2017